ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2565 - 5 มกราคม 2566 |
---|---|
ผู้เขียน | จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
หาก Elvis Presley คือ “เจ้าพ่อ Soft Power ผู้มาก่อนกาล” ดังที่ผมเคยเขียนเอาไว้ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้
Marilyn Monroe ก็ต้องเป็น “เจ้าแม่ Soft Power” ผู้มี “ชีวิตเหนือจินตนาการ”
สำหรับคน Generation ใหม่ การสัมผัสกับ Marilyn Monroe คงเป็นเรื่องห่างไกลความเป็นจริง เนื่องจากเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960
คงทำได้แค่ค้นคว้าหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ หรือรับฟังเรื่องราวของ Marilyn Monroe จากคำบอกเล่าของ Generation เก่าที่มีชีวิตร่วมสมัยกับเธอ
อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้ มีภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตของ Marilyn Monroe ออกฉายทาง Netflix เรื่องหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า Blonde
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหนังชีวประวัติของเธอมากมาย แต่ผมคิดว่า Blonde เป็นภาพยนตร์ที่ตีแผ่ชีวิตของ Marilyn Monroe ได้อย่างรอบด้าน
และมีความเป็นศิลปะมากที่สุดเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
Marilyn Monroe นั้นคือชื่อที่ใช้ในวงการบันเทิง ชื่อจริงของเธอคือ Norma Jeane เกิดและเติบโตมากับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้มีอาการทางประสาท
ต่อมาเกิดอุบัติเหตุบางอย่าง ทำให้แม่ถูกไฟคลอกตาย Norma Jeane จึงถูกส่งไปอยู่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ Los Angeles
ท่ามกลางสภาพบรรยากาศของเมืองแห่งความบันเทิง Hollywood ขนานแท้ที่โอบล้อมเธออยู่ทุกเวลา
ปมสำคัญในชีวิตที่ Norma Jeane โหยหามาตลอด คือการได้พบกับคุณพ่อที่เธอไม่มีวันได้พบ
นี่คือรอยแผลใหญ่ทำให้ชีวิตของ Norma Jeane พลิกผันในเวลาต่อมา
ภาพยนตร์เรื่อง Blonde ฉายภาพ “ชีวิตเหนือจินตนาการ” ของ Norma Jeane ที่ต่อมากลายเป็น Marilyn Monroe “เจ้าแม่ Soft Power” ตั้งแต่วัยเด็ก จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
ความที่เธอโหยหาพ่อ ทำให้ Marilyn Monroe มักเรียกผู้ชายที่เข้ามาในชีวิตของเธอว่า Daddy
ที่นอกจากจะมาเติมเต็มช่วงชีวิตต่างๆ ของเธอแล้ว ชายหนุ่มเหล่านั้นยังบันดาลอาชีพในวงการบันเทิงให้กับ Marilyn Monroe
แต่มันก็แลกมาด้วยความเจ็บปวด ผ่านจินตนาการแฟนตาซีทางเพศ ที่ความสุขสมหวังในชีวิตของเธอ หาได้ยากกว่าความทุกข์ทรมานที่ได้รับ
ภาพเงาที่หนังตัดสลับให้เห็นเสมอ คือรอยอดีตของ Norma Jeane ที่ขาดทั้งพ่อและแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความโหยหาที่เธอมีต่อบิดาที่ไม่มีแม้แต่ภาพถ่ายที่แท้จริง
เป็นภาพเงาที่หลอกหลอนชีวิตของ Marilyn Monroe ตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่กลายเป็นดาวจรัสฟากฟ้า Hollywood และวงการบันเทิงโลกยุคทศวรรษ 1950-1960
ภาพเงาขาวดำถูกนำมาแทนที่ห้วงคำนึงแสนหม่นของ Marilyn Monroe ขณะที่ภาพสีสดใสใช้แทนความรุ่งเรืองของชีวิต Norma Jeane ที่โลดแล่นอยู่ในวงการมายา
โดยมีเศษกระจกที่แตกร้าว เสมือนภาพแสดงแทนเศษเสี้ยวชีวิตขาดวิ่น ที่ Marilyn Monroe พยายามปะติดปะต่อเรื่องราววัยเด็กที่ขาดพร่อง กับเส้นทางอันรุ่งโรจน์ในปัจจุบัน และอนาคต เสมอมา
อาการป่วยไข้จากการติดเหล้า และยาหลอนประสาทมีส่วนทำให้ชีวิตเธอย่ำแย่ลงเรื่อยๆ
ทำให้ฉากหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นที่น่าจดจำในหนังมากที่สุดก็คือ ฉากที่ Ana de Armas ผู้แสดงเป็น Marilyn Monroe ได้ถ่ายทอดความน่าเย้ายวนใจของ Marilyn Monroe อย่างสมจริงหน้าโต๊ะเครื่องแป้งที่เต็มไปด้วยกระจก
แน่นอนว่า ในยุคที่ Marilyn Monroe รุ่งเรืองถึงขีดสุด ซึ่งนอกจากสถานะนักแสดงแล้ว Marilyn Monroe ยังเป็นที่รู้จักอย่างดีในวงการภาพถ่าย Pin-Up หรือนางแบบหน้าปกนิตยสารแนว Sexy
ที่เธอมักเฉิดฉายในวงสังคม และถูกตามติดเพื่อแอบถ่ายภาพโดยเหล่า Paparazzi ในยุคนั้น ทว่า ทันทีที่กลับถึงที่พัก ความโหยหาอดีตที่เว้าแหว่งได้ดึงเธอกลับสู่จินตนาการวัยเด็กอันแสนหดหู่
เปรียบได้กับกระจกที่สวยงามและสมบูรณ์ในวัยสาว กับกระจกในอดีตที่แตกร้าวไม่อาจประสาน และไม่มีวันหวนกลับคืนสภาพเดิม
อย่างไรก็ดี สีสันอันฉูดฉาดช่วงรุ่งเรืองในวงการบันเทิงของ Marilyn Monroe ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญอันหนึ่งของสังคมอเมริกัน
หาก Elvis Presley คือ “เจ้าพ่อ Soft Power ผู้มาก่อนกาล” Marilyn Monroe ก็ต้องเป็น “เจ้าแม่ Soft Power” ผู้มี “ชีวิตเหนือจินตนาการ” และ “มาก่อนกาล” เช่นกัน
สถานะ “เจ้าแม่ Soft Power” ของ Marilyn Monroe แสดงผ่าน “ภาพจำ” มากมาย ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น Marilyn Monroe ในชุดเดรสสีขาว
อันเป็นสุดยอดสัญลักษณ์ของเธอจากภาพยนตร์เรื่อง The Seven Year Itch ในปี ค.ศ.1955
หนังเรื่องนี้ดังไปทั่วโลกจากฉากที่ Marilyn Monroe ยืนอยู่เหนือตะแกรงระบายอากาศรถไฟใต้ดิน New York ที่ลมด้านล่างเป่ากระโปรงของเธอฟรุ้งฟริ้ง
กลายเป็น “ภาพจำ” สุดคลาสสิคตลอดกาลของ Marilyn Monroe ส่งให้เธอเป็น “เจ้าแม่ Soft Power ผู้มาก่อนกาล” อย่างที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ
ฉากคลาสสิคอีกฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง Blonde ก็คือ ฉากชุดเกาะอกสีชมพู อันเป็นสัญลักษณ์ของ Marilyn Monroe จากภาพยนตร์ Gentlemen Prefer Blondes ในปี ค.ศ.1953
Costume ชิ้นนี้ ขึ้นชั้นคลาสสิคระดับ Super Soft Power โดยเสื้อผ้าชุดดังกล่าว ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Pop Culture ที่สำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาซุป’ตาร์ชั้นนำของโลก ได้นำแบบชุดดังกล่าว มาตัดใหม่เพื่อสวมใส่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็น Blake Lively ในซีรีส์ Gossip Girl โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Madonna ในผลงานเพลง และมิวสิกวิดีโอ Material Girl อันโด่งดัง
“ชีวิตเหนือจินตนาการ” อีกประการหนึ่ง ของ “เจ้าแม่ Soft Power” ตัวจริง “ผู้มาก่อนกาล” อย่าง Marilyn Monroe ก็คือสถานะ “นักอ่าน”
เธอมักพูดถึงนิยายของนักเขียนรัสเซียอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ 2 ท่าน นั่นคือ Fyodor Dostoevsky และ Anton Chekhov จึงไม่แปลกใจ ที่ในเวลาต่อมา Marilyn Monroe พบรัก แต่งงานกับ Arthur Miller ปัญญาชนฝ่ายซ้าย
ซึ่ง Arthur Miller รัก Marilyn Monroe มาก แต่สภาวะทางจิตที่เธอโลดแล่นไปกับจินตนาการภายใต้ความมึนเมาจากแอลกอฮอล์และยาหลอนประสาท ทำให้ภายหลังเธอปฏิเสธความรักของ Arthur Miller และหย่าร้างกันไปในที่สุด
อาจเป็นเพราะว่า เธอปรารถนาความรักแบบแฟนตาซี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับบุรุษสูงวัยโดยนัยของการโหยหาพ่อแท้ๆ ของ Marilyn Monroe ปรากฏให้เห็นตลอดชีวิตของเธอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เธอคบหาและผูกสัมพันธ์แบบสามคนผัวเมียระหว่าง Charlie “Cass” Chaplin Jr. และ Eddy G. Robinson Jr. สองทายาทนักแสดง Hollywood ชื่อก้องโลก ที่น้อยคนจะรับได้
ท้ายที่สุด อิทธิพลความเป็น “เจ้าแม่ Soft Power” ของ Marilyn Monroe ส่งผลสะเทือนในหลากหลายวงการ ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี โทรทัศน์ ละครเวที โดยในเรื่อง Blonde มีการนำเสอภาพสี และขาวดำ ขนาดต่างๆ มากมาย
การใช้ภาพสีขนาด 4:3 แสดงถึงภาพยนตร์สีช่วงยุค 60’s ซึ่งเป็นช่วงที่ Marilyn Monroe รุ่งเรืองถึงขีดสุด
ขณะที่ภาพขาวดำขนาด 4:3 เป็นขนาดภาพของโทรทัศน์ยุค 50’s ที่เธอเริ่มต้นความเป็นซุป’ตาร์
ภาพสีขนาด 16:9 เปรียบได้กับมุมมองชีวิตที่แท้จริงของ Norma Jeane ที่สดใสในจินตนาการ
และภาพขาวดำขนาด 16:9 สื่อถึงความรุ่งโรจน์ของ Marilyn Monroe ในสายตาประชาชน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022