ขอบคุณข้อมูลจาก | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเวลา 10.20 น. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 7 องค์การคนพิการ นำโดย นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทยนราษฎร ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ ขอให้ตรวจสอบและลงโทษทางจริยธรรม น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จากปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ
นายชูศักดิ์กล่าวว่า การใช้ถ้อยคำที่กระทบสภาพบุคคล และสภาพความพิการ เป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเราได้รับการร้องขอจากคนพิการว่าองค์กรฯควรต้องออกมาดูแลเรื่องนี้ จึงได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าการใช้ถ้อยคำลักษณะเปรียบเทียบเปรียบเปรย อาจเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ
นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราไม่อยากเห็นการใช้คำเปรียบเทียบความพิการให้เป็นการต่อว่ากันทางสังคม ซึ่งสภาเป็นสภาอันทรงเกียรติ มาตรฐานการปฏิบัติตนน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะส่วนใหญ่ ส.ส.ก็ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในสังคม
“เราอยากเห็นวัฒนธรรมองค์กรนี้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องยื่นให้ประธานสภาตรวจสอบเพื่อที่จะได้เป็นบรรทัดฐาน เพื่อที่เยาวชนจะได้เข้าใจว่าการสื่อสารพูดจาต้องเคารพความเป็นมนุษย์” นายชูศักดิ์กล่าว
ด้าน นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความและผู้ปกครองที่มีลูกเป็นผู้พิการ กล่าวว่า องค์การคนพิการได้รับการกระทำที่ไม่เป็นธรม เช่น กรณี น.ส.ปารีณา ถือว่าเราเป็นผู้มีส่วนได้เสีย สามารถไปยื่นร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ และแจ้งความคดีอาญาได้ เราป้องกันสิทธิของเรา แต่ น.ส.ปารีณากลับไปแจ้งความดำเนินคดีกับพวกเรา กล่าวหาว่าตนเอาความเป็นเลิศด้านความประพฤติของลูกตนไปเปรียบเทียบกับตัวเองทำให้ด้อยค่า
“อยู่ๆ มีผู้ทรงเกียรติมาบูลลี่ เราก็ต้องปกป้องสิทธิ ต้องขอขอบคุณประชาชน ชาวบ้าน และคนพิการ ที่ร่วมกันลงชื่อ ตอนนี้มีจำนวน 2,927 คน และยังมีผู้ร่วมลงชื่ออยู่เรื่อยๆ ซึ่งรายชื่อนี้เป็นเหมือนเสบียงของ 7 องค์กรที่นำมาซึ่งการร้องเรียนและต่อสู้ในศาล และสุดท้ายคือสหประชาชาติ
“ผมอยากฝากบอก ส.ส.คนดังกล่าวว่าต้องมีเสบียงเหมือนกัน เพราะผมมีเสบียง 3 ล้าน คือคนพิการทั้งประเทศ ผมสู้คุณได้สบายมาก พอร้องเรียนเสร็จผมจะไปแจ้งความที่ จ.ราชบุรี พยานผมมี 2 หมื่นคน
“วันนี้เป็นโอกาสดีของคนพิการ และผมปลื้มใจมากที่เป็นตัวแทนของพ่อ การบูลลี่คนของ น.ส.ปารีณา ต้องเป็นบรรทัดฐาน และตัวอย่าง ซึ่งหวังว่าสภาแห่งนี้มีเกียรติ คนที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้ควรมีเกียรติเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน คุณต้องให้เกียรติเราเมื่อเราตักเตือนก็ต้องขอโทษ แต่คุณกลับไม่ทำเช่นนั้น ยังไปไล่ว่าคนอื่น” นายอนันต์ชัยกล่าว
นายอนันต์ชัยกล่าวว่า กฎหมายปี 2560 ไม่ได้ให้อำนาจเราถอดถอนไว้ แต่เราจะใช้มาตรการทางสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่ร้องเรียนที่สภา ยังมีอีก 4 หน่วยงานที่เราต้องทำ เรื่องนี้ไม่จบแค่นี้ นี่เป็นการขึ้นชกยกแรกเท่านั้น ผมมั่นใจว่าสไตล์ท่านชวนไม่เหมือนคนอื่น เชื่อว่าท่านเร็วแน่นอน น.ส.ปารีณาไม่เคยขอโทษใครขอโทษก็เสียฟอร์มก็ไปจบกันที่ศาล จบกับผม ผมจะฟ้องเขา
ขณะที่ นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา กล่าวว่า ตนจะสนับสนุนและพยายามแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ที่ขณะนี้บทลงโทษเบาเกินไป จะต้องมีการเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ตนมีลูกเป็นคนพิการเมื่อไปไหนก็ถูกบูลลี่ดูถูก และมองเห็นคนพิการไม่มีคุณค่า จึงอยากให้มีการลงโทษทางกฎหมาย รวมถึงอยากให้สนับสนุนคนพิการให้มีงานทำ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ด้าน นายสมบูรณ์ กล่าวว่า สภายินดีต้อนรับทุกคน เพราะเป็นสถานที่ทำงานแทนประชาชน เรื่องนี้นายชวนรับทราบแล้ว และอยากลงมารับเรื่องนี้ด้วยตนเอง แต่ติดภารกิจทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมสภา ซึ่งทางคณะทำงานจะรับเรื่องนี้ จากนั้นจะเสนอให้ประธานสภาในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภา ที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภา ทำหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะใหญ่ อย่างไรก็ตาม ขอให้มั่นใจว่าสภา จะเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนทุกคนได้ และจะทำงานให้ตามที่ประชาชนต้องการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก 7 องค์กรคนพิการยื่นหนังสือร้องเรียนเสร็จ ตัวแทนผู้ปกครองและผู้พิการที่มาร่วมยื่นหนังสือในครั้งนี้ได้แสดงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยหนึ่งในผู้พิการออทิสติกกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า คนพิการอยากอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ขอให้เห็นใจกันด้วย โดยเฉพาะผู้พิการออทิสติกที่พวกเราก็มีศักยภาพ การพูดเปรียบเปรยทำให้คนออทิสติกรู้สึกด้อยค่าก็ต้องขอความกรุณาด้วย