ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
ผู้เขียน | ชนัดดา ชินะโยธิน [email protected] |
เผยแพร่ |
“การดำรงชีวิตของผู้คนในอ่าวอาหรับผูกติดกับทะเลมาตั้งแต่สมัยโบราณ คูเวตคุ้นเคยกับทะเลตั้งแต่แรกเกิด รู้จักการต่อเรือด้วยไม้ที่มีรูปทรงและแบบแตกต่างกัน โดยสืบทอดความรู้มาจากบรรพบุรุษ เรือไม้หลายร้อยลำเหล่านี้ มีเพียงเสากระโดงสองเสา สำหรับขึงผ้าใบเพื่อรับลม ใช้กรรเชียงหรือพายช่วยในการล่องเรือออกไปเผชิญกับคลื่นทะเลและลมมรสุมในอ่าวอาหรับและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อขนส่งสินค้าและงมหาไข่มุก อันเป็นเศรษฐกิจสำคัญและเป็นแหล่งรายได้ขั้นพื้นฐาน”
ท่านทูตคูเวตประจำประเทศไทย มร.อับดุลลาห์ อัล-ชาร์ฮาน เล่าถึงพัฒนาการของคูเวต
การก่อสร้างประเทศของคูเวตเริ่มขึ้นหลังการค้นพบน้ำมัน และนำไปสู่ประเทศที่ทันสมัย เป็นรัฐสวัสดิการที่มีระดับการพัฒนาสูงมาก มีความร่ำรวย มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรี
เป็นประเทศมุสลิมที่เป็นเสรีนิยมมากที่สุดประเทศหนึ่ง และมีความพร้อมในด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาเป็นจำนวนมาก
“ในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 คูเวตจัดตั้งกองทุน เพื่อให้ความช่วยเหลือในหลายประเทศทั่วโลก และให้เงินกู้ระยะยาวโดยได้ผลกำไรเพียงเล็กน้อย”
กองทุนคูเวตเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจอาหรับ (KFAED) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1961 เริ่มต้นด้วยเงินกองทุนจำนวน 50 ล้านดีนาร์คูเวต เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ในการพัฒนาแก่ประเทศอาหรับ
ต่อมาได้เพิ่มจำนวนเงินทุนและขยายการให้ความช่วยเหลือในวงกว้างไปยังประเทศกำลังพัฒนาและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปี ค.ศ.1974
คูเวตได้เคยให้เงินกู้กองทุน KFAED แก่ประเทศไทยในการดำเนินโครงการ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเชี่ยวหลาน (ค.ศ.1982) โครงการโรงงานพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำปัตตานี (ค.ศ.1977) โครงการสร้างโรงงานพลังงานบางปะกง 2 ระยะ (ค.ศ.1981 และ 1979) และโครงการไฟฟ้าสำหรับหมู่บ้านใน 3 จังหวัดภาคใต้ (ค.ศ.1976) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,074,584 ดีนาร์คูเวต หรือประมาณ 2,409 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาครัฐคือ สำนักงานการลงทุนของคูเวต (KIA) มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดต่างประเทศทั่วโลก
เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากทรัพยากรล้ำค่าของประเทศอย่างน้ำมัน หากมีจำนวนลดลงหรือหมดไปจากประเทศวันใดวันหนึ่งในอนาคต
“เมื่อปี ค.ศ.2003 คูเวตได้เข้าเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue : ACD) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของไทย มี นายบัณฑิต หลิมสกุล ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ ACD ตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 สำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่คูเวต”
แรกเริ่ม ACD มีประเทศสมาชิกก่อตั้งเพียง 18 ประเทศ ต่อมาได้ขยายจำนวนประเทศสมาชิกจนครอบคลุมทุกอนุภูมิภาคเอเชียถึง 34 ประเทศในปัจจุบัน
โดยเนปาลได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาคือ ค.ศ.2016
ACD เป็นเวทีแรกและเวทีเดียวที่รวมประเทศจากทุกอนุภูมิภาคของทวีปเอเชียไว้ด้วยกัน คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และยูเรเชีย เป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชีย เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นเอเชีย ตลอดจนความร่วมมือในวงกว้าง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิกเป็นหลัก
ท่านทูตกล่าวว่า “เอเชียเป็นทวีปใหญ่ เราจึงต้องให้ความสำคัญกับประเทศในเอเชียเป็นอันดับแรก มาพบปะพูดคุยกัน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความยากจน การขาดการศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยกันสร้างสังคมที่แข็งแรงในเอเชีย จากนั้น เราจึงร่วมมือกันอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ยกระดับเอเชียสู่กรอบแห่งความร่วมมือใหม่ๆ เกิดประโยชน์ต่อเอเชียและต่อโลก ซึ่งคูเวตได้มอบเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐเข้ากองทุนสำหรับเอเชียในปี ค.ศ.2012”
“เมื่อประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 2 (2nd ACD Summit) ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2016 เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต ชีกห์ ซาบาห์ อัล-อาเหม็ด อัล-ซาบาห์ (His Highness the Amir Sheikh Sabah Al-Ahmad Al-Jaber Al-Sabah) ได้เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ด้วย”
“ผมจึงมั่นใจว่า การร่วมมือกันครั้งสำคัญนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น”
ถามถึงด้านความสัมพันธ์ระหว่างคูเวตกับอิรักในปัจจุบัน ท่านทูตไม่รอช้า ตอบทันทีว่า
“อิรักเป็นเพื่อนบ้านเก่าแก่ของเรา มีภาษาและศาสนาเดียวกัน มีความเกี่ยวพันกันทางครอบครัวและการแต่งงานระหว่างกัน เรามีรากเหง้าความเป็นมาจากอิรัก ดังนั้น ความสัมพันธ์ของเราจึงเป็นเรื่องที่แน่นแฟ้นมาก เราพยายามมองข้ามช่วงเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต หลังการปลดปล่อยคูเวต และระบบการปกครองโดยซัดดัม (Saddam Hussein) สิ้นสุดลง เราพยายามอย่างหนักเพื่อกลับไปมีความสัมพันธ์กับอิรัก เพราะชาวอิรักได้ตกเป็นเหยื่อของระบบการปกครองซัดดัม ปัจจุบันเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อิรักมีสถานทูตที่คูเวตซิตี้ เมืองหลวงของคูเวต เรามีสถานทูตคูเวตที่กรุงแบกแดด และสถานกงสุลสองแห่งในอิรัก รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้แทนระดับสูงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง”
คูเวตและอิรักได้มีการจัดทำข้อตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อปี ค.ศ.2013 เพื่อจัดสรรทรัพยากรน้ำมันดิบตามบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศร่วมกัน ซึ่งทำให้ภูมิภาคนี้กลับคืนสู่ความปรกติสุขได้อย่างถาวร
ส่งผลดีทางเศรษฐกิจและความมั่นคงสำหรับทุกฝ่าย
การจัดกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า ท่านทูตชี้แจงว่า
“เรากำลังทำงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนประเทศซึ่งกันและกัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีคณะผู้แทนจากคูเวตเดินทางมายังประเทศไทยและคณะผู้แทนจากประเทศไทยเดินทางไปคูเวต เพื่อเข้าร่วมในงานแสดงนิทรรศการต่างๆ เช่น Kuwait Petroleum International เกี่ยวกับน้ำมัน มีคณะผู้แทนจากคูเวตมาร่วมในงานนิทรรศการที่นี่เมื่อปีที่แล้วด้วย เราต้องผลักดันและให้การสนับสนุนการค้าในทุกๆ ด้าน ส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับภาครัฐและเอกชน (Public – Private Partnership) ของทั้งสองประเทศ เพราะการเห็นด้วยตาดีกว่าการได้ฟังเพียงอย่างเดียว”
คูเวตมีเป้าหมายให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านการเงินการธนาคารของภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งหนึ่งของโลกตามยุทธศาสตร์ “คูเวตใหม่” (New Kuwait)
มีการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) เพิ่มขึ้น 300%
มีเงินเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร บริการ และพลังงานทดแทนจำนวน 400 ล้านดีนาร์คูเวต (ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท) ก็เริ่มเข้าสู่เป้าหมาย
นอกเหนือจากการพัฒนารอบด้านเพื่อให้เกิดความหลากหลายและยั่งยืน คูเวตให้ความสำคัญโดยทุ่มเทในเรื่องการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการเน้นบทบาทของเยาวชนในการเป็นผู้นำกระบวนการสรรค์สร้างรัฐคูเวตที่ทันสมัย ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของคูเวตในวันข้างหน้า
และแน่นอนที่สุด เพื่อสร้างสถานะของคูเวตให้โดดเด่นในเวทีโลกยิ่งขึ้นต่อไป