ช๊อก! สถิติฆ่าตัวตาย เกาหลีใต้วัยสาว ไม่ขออยู่ในโลกต่อไปในปี 2020 พุ่ง40%

วันที่ 17 ธันวาคม 2563 เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ รายงานจับกระแสทางสังคมของเกาหลีใต้ที่น่าวิตก เมื่อสถิติหญิงสาวชาวเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มหญิงสาวช่วงวัย 20 ปีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 สวนทางกับสถิติของผู้ชายที่ลดลง

คาดว่าสถานการณ์โควิดทำให้ปัญหาที่สาวเกาหลีเผชิญอยู่หนักหนายิ่งขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายจากงานร่วมด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้ ระบุว่า อัตราการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้มากเป็นสองเท่าของตัวเลขเฉลี่ยในกลุ่มประเทศโออีซีดีหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของชาวเกาหลีใต้ในช่วงอายุวัยรุ่น ช่วงวัย 20 ปีและ 30 ปี

ตามสถิติในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 หญิงชาวเกาหลีใต้ปลิดชีวิตตนเองจำนวน 1,924 คน เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

และยิ่งในกลุ่มหญิงสาวในช่วงวัย 20 ปีมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 ในจำนวนนี้มี 296 คนฆ่าตัวตายในช่วงเวลาเดียวกัน ผิดกับผู้ชายที่สถิติลดลงในทุกเดือนตั้งแต่เดือนมิ.ย.ไปจนถึงเดือนก.ย.ปี 2563

คดีฆ่าตัวตายในกรุงโซลที่โด่งดังปรากฏในสื่อในเดือนพ.ย.หญิงสาววัย 27 ปี ถูกเลิกจ้างเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดและหญิงสาวอีก 3 คนที่อยู่ในวัย 20 ปีถูกพบหมดสติอยู่ที่เนินเขา สภาพการณ์ชัดว่านัดกันทางแชตออนไลน์เพื่อฆ่าตัวตายหมู่

ปัญหาการฆ่าตัวตายในหมู่หญิงสาวช่วงวัย 20 ปีรุนแรงจนทำให้ขณะนี้รัฐบาลเกาหลีใต้จัดให้หญิงสาวในช่วงวัย 20 และ 30 ปีเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายอย่างเป็นทางการ

อีกทั้งเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งคณะกรรมาธิการด้านนโยบายป้องกันการฆ่าตัวตายโดยมีนายชุง เซกยุน นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้เป็นหัวหน้าและมีผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศ และครอบครัว กระทรวงสุขภาพและศึกษาร่วมด้วย

แม้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากระบุว่าโควิดเป็นสาเหตุรวมถึงการตกงานที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดนั้นสร้างความกดดันถาโถมต่อคนหนุ่มสาว แต่ที่ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มระบุว่าปัญหาที่หนุ่มสาวเกาหลีใต้เผชิญ และโดยเฉพาะหญิงสาวนั้นซับซ้อนมากกว่า

นายชุง นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ระบุว่า ยากที่จะบอกว่าโควิดส่งผลเสียอะไรบ้างต่อประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอยู่ก่อนแล้ว และตั้งข้อสังเกตว่าอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในรอบหลายสิบปี ซึ่งอยู่ในอัตราสูงเหมือนกับหลังวิกฤตการเงินเอเชียระหว่างปี 2540-2541 และวิกฤตการเงินภายในประเทศในปี 2556

จากผลการสำรวจในสัปดาห์นี้พบว่าวัยหนุ่มสาว 1 ใน 4 คนคิดฆ่าตัวตายอย่างน้อยหนึ่งครั้งนับตั้งแต่โรคโควิดระบาด ซึ่งคิดเป็นจำนวนมากกว่า 10 เท่าของเมื่อสองปีที่แล้ว นายนัม แจอุก นักวิจัยจากสถาบันเกาหลีเพื่อการศึกษาและผึกอบรมช่วงฤดูร้อน ระบุว่าอยู่ในระดับอันตราย และว่าปัญหาสุขภาพจิตในหมู่คนหนุ่มสาวเป็นปัญหาที่ต้องการความเอาใจใส่จากสาธารณะท่ามกลางโรคระบาดของโควิด-19

ผู้เชี่ยวชาญอีกรายระบุว่าคนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มเปราะบางมากกว่าต่อการหั่นตำแหน่งงานในหลายอุตสาหกรรมที่เน้นการบริการและจ้างงานพาร์ตไทม์ รวมถึงวิถีชีวิตหรือการเข้าสังคมของผู้หญิงได้รับผลกระทบจากมาตรการเว้นระยะห่างและล็อกดาวน์

ผู้หญิงอาจได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชายเพราะผู้หญิงมีแนวโน้มมากกว่าที่จะทำงานพาร์ตไทม์ในโรงแรม ค้าปลีก อาหารและการบริการอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างหนักหน่วง อีกทั้งผู้หญิงจำนวนมากยังแบกภาระเดิมในบ้าน

ขณะเดียวกันคำสั่งให้อยู่ที่บ้านกลายเป็นว่าแม่บ้านจำนวนหนึ่งตกอยู่ในสภาพเหมือนอยู่ในคุกกับสามีที่ชอบใช้กำลัง

สาเหตุการฆ่าตัวตายที่เหนือกว่าไวรัส เมื่อสถิติเผยว่าก่อนโควิด-19 ระบาด ชาวเกาหลีใต้ฆ่าตัวตาย 13,799 ราย ในปี 2563 เฉลี่ย 26.9 คนจากทุกๆ 1 แสนคน คิดเป็นสองเท่าของอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยของประเทศโออีซีดี

เป็นสถิติที่สูงขึ้นจาก 26.6 คนในปี 2561 และ 24.3 คนในปี 2560 และทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้อยู่ในสภาวะเสี่ยงพลาดเป้าที่ในปี 2561 ให้คำมั่นว่าจะทำให้อัตราการฆ่าตัวตายลดลงสู่ 17 คนต่อ 100,000 คน ภายในปี 2565 ดังนั้นโควิดไม่ได้ให้คำอธิบายว่าทำไมผู้หญิงวัยช่วงวัย 20 ปีที่คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของการพยายามฆ่าตัวตายทั้งหมดในประเทศระหว่างเดือนม.ค.ถึงส.ค.ในปี 2563

ทำไมผู้หญิงถึงเปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่น

นายคิม ยองแต็ก ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันผู้หญิงเกาหลีใต้ที่ศึกษาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของผู้หญิง ระบุว่าเศรษฐกิจเป็นปัจจัยใหญ่ที่สุดปัจจัยเดียวที่ทำให้ผู้หญิงฆ่าตัวตาย จากงานวิจัยของตนพบว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มมากกว่าผู้ชายที่จะเจอปัญหาสุขภาพเนื่องจากวิกฤตการเงินโลกปี 2551

ผู้หญิงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนเงินและทรัพยากรทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการมีสุขภาพที่ดีจึงทำให้ผู้หญิงเปราะบางต่อปัญหามากกว่าที่ไม่เพียงมีสาเหตุมาจากโควิดเท่านั้นแต่ยังมีสาเหตุมาจากทุกครั้งที่เศรษฐกิจถดถอย

ไม่เพียงเพราะเกาหลีใต้ให้ค่าจ้างระหว่างเพศหญิงและชายแตกต่างกันมากที่สุดในบรรดาประเทศกลุ่มโออีซีดี ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังรวมปัจจัยที่งานพาร์ตไทม์ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ในประเทศและงานคุณภาพต่ำถูกผลักไปให้ผู้หญิงทำ ให้ชั่วโมงทำงานของผู้หญิงน้อยกว่าที่ผู้หญิงต้องการ นอกจากนี้ยังต้องระวังพฤติกรรมเลียนแบบดาราศิลปินเคป๊อปที่ฆ่าตัวตายอีกด้วย

ยกตัวอย่าง มุน ฮาอึน ช่างแต่งหน้าอายุ 24 ปีในกรุงโซลรู้สึกแปลกแยกจากที่ทำงานที่ผู้ชายเป็นใหญ่ “ทันทีที่ฉันเริ่มงาน ฉันอยากเกิดเป็นชาย” ทั้งถูกนายจ้างบอกให้ไปลดน้ำหนักและบอกให้แต่งตัวสวยงามอยู่เสมอ

ขณะเดียวกันนายจ้างแสดงความเห็นว่าการไม่แต่งหน้ามาทำงานเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้หญิง หญิงสาวเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้ว และยังต้องไปหาจิตแพทย์เพื่อรักษาโรคการกินผิดปกติและโรคนอนไม่หลับ

จากผลการประชุมคณะกรรมาธิการนโยบายป้องกันการฆ่าตัวตาย รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้บริการให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงเข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังให้สวัสดิการแก่ผู้หญิงที่ลาโดยไม่ได้ค่าจ้างหรืออยู่ระหว่างหางานฟรีแลนซ์ทำหรือโอกาสในการฝึกงานหวังบรรเทาปัญหาการฆ่าตัวตาย