คุยกับทูต ‘อาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด’ หยุดการปิดกั้น ขอให้ชาวแคชเมียร์เป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง (3)

นาย อิมราน ข่าน (Imran Khan) นายกรัฐมนตรีของปากีสถาน กล่าวว่าสิ่งที่ผู้คนในแคชเมียร์ได้เผชิญในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้พวกเขาปราศจากความกลัวตาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ของอินเดีย อาจไม่เคยรับรู้ และชาวแคชเมียร์อีกหลายพันคนจะ “ไม่ยอมรับ” การตัดสินใจของนิวเดลีในการเพิกถอนมาตรา 370 ทั้งจะออกมาต่อต้านเมื่อมีการยกเลิกเคอร์ฟิว

นายอิมราน ข่าน วิจารณ์ว่า สื่อต่างประเทศระดับโลกเพิกเฉยแคชเมียร์ และขาดการรายงานข่าวการ

จับกุมในแคชเมียร์เท่าที่ควร ในขณะที่พาดหัวข่าวการประท้วงในฮ่องกงอย่างครึกโครม โดยไม่สนใจต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมอันเลวร้ายของผู้คนในพื้นที่แคชเมียร์

นายอาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด (H.E. Mr. Asim Iftikhar Ahmad) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐ

อิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการเจรจากับอินเดียเกี่ยวกับแคชเมียร์ดินแดนพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งผู้คนที่นี่ต่อสู้เพื่อการตัดสินใจด้วยตัวเองเป็นเวลา 70 ปีแล้ว

“นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน แห่งปากีสถานได้พบปะหารือกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาว

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในโอกาสเดียวกันนี้ ผู้นำสหรัฐแสดงความยินดีและพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกโดยเป็นผู้ไกล่เกลี่ย แต่กลายเป็นอินเดียที่ปฏิเสธการเจรจา”

ผู้นำสหรัฐกล่าวในตอนหนึ่งว่า เขาพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี นอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 ที่เมืองโอซาก้าของญี่ปุ่น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดย ทรัมป์ระบุว่า เขาตอบตกลงเมื่อโมดี ขอให้ทรัมป์ เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในพื้นที่แคชเมียร์ ขณะที่ผู้นำปากีสถานกล่าวว่า เป็นเรื่องดีและน่าสนใจ หากมีประเทศใดสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้

ต่อมารัฐบาลอินเดียกล่าวว่าเรื่องนี้ยืดเยื้อมานาน แต่ข้อพิพาทระหว่างปากีสถานกับอินเดียนั้นเป็น

 

ปัญหาระดับทวิภาคีที่ทั้งสองประเทศเจรจากันเองได้ และรัฐบาลอินเดียไม่เคยขอความช่วยเหลือจากผู้นำสหรัฐหรือเจ้าหน้าที่ ระดับสูงในรัฐบาลวอชิงตันชุดปัจจุบัน ให้ทำหน้าที่ “ผู้ไกล่เกลี่ย” ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน อีกทั้งอินเดียประกาศจุดยืนชัดเจนเรื่อยมาว่า ข้อพิพาทหลักๆ กับปากีสถานจะต้องได้รับการคลี่คลายในแบบทวิภาคี และการมีปฏิสัมพันธ์กับปากีสถานจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อการก่อการร้ายข้ามแดนยุติลง

“สาเหตุที่อินเดียไม่ยอมตกลง ก็เพราะพวกเขามีสิ่งที่ต้องซ่อนเร้นปิดบัง หากมีบุคคลที่สามเข้ามา ก็

จะเห็นได้ว่าใครถูกใครผิด พวกเขาจึงไม่ยอมเปิดรับบุคคลที่สาม หลายครั้งที่สหประชาชาติเสนอว่า พร้อมที่จะอำนวยความสะดวก รวมถึงจัดสถานที่ที่เหมาะสมในการพบปะเจรจา แต่อินเดียเป็นฝ่ายปฏิเสธและมีข้อแย้งตลอดมาเพราะไม่ต้องการให้มีการเจรจาใด ๆเกิดขึ้น สิ่งที่รัฐบาลอินเดียกำลังทำอยู่ตอนนี้คือ ไม่ยอมให้ผู้คนได้ออกมาพูดเพื่อแสดงความคิดเห็น เพราะรู้ว่าดินแดนพิพาทนี้อยู่นอกการควบคุม การมีกองทหารของอินเดียเท่านั้นที่ทำให้ผู้คนในแคชเมียร์ได้อยู่ภายใต้การควบคุม ทั้งด้วยการฆ่า การลักพาตัว การข่มขืน และเมื่อใดก็ตามที่ยกเลิกการควบคุมปิดกั้น คนก็จะออกมาประท้วง” ท่านทูตอาซิมชี้แจง

“ดินแดนแคชเมียร์ถูกปิดล้อมเข้าเดือนที่สามแล้ว แต่อินเดียไม่เคยเบื่อที่จะพูดว่าอินเดียเป็นประเทศ

ประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยากจะถามว่า อินเดียกำลังทำอะไรในแคชเมียร์ ทำไมจึงขังผู้คนเกือบ 10 ล้านคนไม่ให้ออกมาพูด และเหตุใดองค์การนิรโทษกรรมสากลจึงต้องจัดแคมเปญ #LetKashmirSpeak”

อินเดียมีความภาคภูมิใจในความเป็นประเทศประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1.23 พันล้านคน โดยมีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ค.ศ. 2014 ถึง 814.5 ล้านคน มีผู้ออกมาลงคะแนนจำนวน 541 ล้านคน ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการเมืองการปกครองของอินเดียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชมาจนถึงปัจจุบัน

“ประชาธิปไตยเป็นความต้องการของประชาชน ถ้าไม่ฟังเสียงของประชาชนและเข่นฆ่าผู้คน แล้ว

จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไหนกัน พรรคการเมืองของนายโมดี มาจากกลุ่ม RSS พวกเขารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในการต่อต้านปากีสถานและมีการใช้ถ้อยคำต่อต้านมุสลิมมากขึ้นเรื่อย ๆ”

การขึ้นสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และพรรคภารติยะชนตะ หรือที่คนอินเดียเรียก

กันติดปากว่า ‘บีเจพี’ (Bharatiya Janata Party: BJP) ความสำเร็จของพรรค BJP ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2014 ยังเป็นผลมาจากการเติบโตของกลุ่มรัชตรียา สวายัมเสวัค สังข์ หรืออาร์เอสเอส (Rashtriya Swayamsevak Sangh: RSS)  องค์การจิตอาสาระดับชาติ ซึ่งเป็นฐานอำนาจสำคัญของพรรค BJP

RSS เป็นองค์การขวาจัดทำหน้าที่เผยแพร่แนวคิดฮินดูนิยมในหมู่ชาวอินเดีย โดยก่อตั้งนับแต่ปีค.ศ.

1925 และมีสมาชิกมากกว่า 7 ล้านคนทั่วประเทศ สายสัมพันธ์ระหว่างพรรค BJP กับ RSS ถือได้ว่ามีความใกล้ชิดกันอย่างมาก นายกรัฐมนตรีโมดีเองก็เป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าวมาก่อน

“ดูจากแผนที่ตามแนวควบคุม (Line of Control) ซึ่งเป็นแนวรั้วที่ไม่มีใครสามารถข้ามได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์มักอ้างว่าเกิดจากการก่อการร้าย ไม่มีอะไรอื่นมากกว่านั้น หลังเหตุการณ์ 9/11 ตั้งแต่นั้นมา ประเทศใดที่ต้องการตำหนิอะไร ก็จะอ้างว่าเป็นการก่อการร้าย หากมีบางอย่างผิดปกติ ก็จะอ้างว่าเป็นฝีมือผู้ก่อการร้าย”

“อินเดียกำลังทำอย่างเดียวกัน หากมีอะไรเกิดขึ้นในแคชเมียร์ พวกเขาจะตำหนิปากีสถานและผู้ก่อการร้าย อินเดียเรียกคนแคชเมียร์ที่ออกมาเดินบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเขาที่ถูกละเมิดว่า เป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งในความจริงแล้วพวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เฉกเช่นเดียวกับผู้ควบคุมและผู้สนับสนุนพวกเขาต่างเรียกชาวปาเลสไตน์ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งโลกต่างรู้กันว่าพวกเขาไม่ใช่ พวกเขาเพียงแต่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์และอิสรภาพของพวกเขาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศต่อการต่อต้านการยึดครองของต่างชาติถือเป็นกฎหมายและเป็นธรรม”

“จากแผนที่ของสหประชาชาติแสดงให้เห็นชัมมูและแคชเมียร์ ปากีสถาน อินเดีย จีน ภูเขาหิมาลัย

และแนวควบคุม (Line of Control) ที่ประกาศใช้ในปีค.ศ. 1972 ตามข้อตกลงซิมลา (SIMLA Agreement) ซึ่งแผนที่แสดงตำแหน่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สถานะสุดท้ายของจัมมูและแคชเมียร์ยังไม่ได้รับการเห็นชอบจากฝ่ายต่าง ๆ และเป็นดินแดนที่ยังคงมีข้อพิพาท”

“แผนที่นี้ ยังบอกด้วยว่าเส้นเขตแดนเป็นแนวควบคุมในรัฐชัมมู – แคชเมียร์ซึ่งเป็นที่ตกลงกันทั้ง

อินเดียและปากีสถาน แต่สถานะสุดท้ายของชัมมู – แคชเมียร์ ยังไม่สิ้นสุดเพราะยังไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย และยังไม่ได้เป็นดินแดนของอินเดียและปากีสถาน”

“คำตอบที่เป็นข้อสรุปของแคชเมียร์อาจจะไม่เกิดขึ้นในเดือนนี้หรือปีหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า

คนเหล่านี้จะถูกย่ำยีเข่นฆ่าต่อไป อย่างน้อยก็ต้องปล่อยให้ผู้คนในแคชเมียร์ได้ใช้ชีวิตตามปกติ หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน หยุดการฆ่าฟัน หยุดการทรมาน ให้อิสระและสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งทุกคนควรมีแก่พวกเขาเหล่านี้ เป็นขั้นตอนแรกที่รัฐต้องทำ”

มิเชล บาเชเล็ต (Michelle Bachelet) ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC)

กล่าวในพิธีเปิดการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมาว่า

“ข้าพเจ้ามีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบจากปฏิบัติการล่าสุดของรัฐบาลอินเดียต่อ

สิทธิมนุษยชนของชาวแคชเมียร์ รวมถึงข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต การชุมนุมอย่างสงบ การกักตัวผู้นำทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวท้องถิ่น”

“ข้าพเจ้าได้ขอร้องไปยังอินเดียโดยเฉพาะ ให้ลดความยุ่งยากในการปิดกั้นหรือเคอร์ฟิวในขณะนี้

ให้แน่ใจว่าประชาชนเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน และเคารพในสิทธิของผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามกระบวนการ”

“เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนในแคชเมียร์จะต้องมีส่วนร่วมและพิจารณาในกระบวนการตัดสินใจใด ๆ

ที่มีผลกระทบต่ออนาคตของพวกเขา”

ท้ายสุด ท่านทูตอาซิม ฝากข้อความถึงมิตรสหายชาวไทยและมิตรประเทศทั่วโลก

“นี่เป็นสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต เต็มไปด้วยความเศร้าโศก ในขณะเดียวกันก็เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ขณะนี้ ชาวแคชเมียร์กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างสูงเพราะมีภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งผมคิดว่า เป็นความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศ และในฐานะสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศ จึงแจ้งเพื่อให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจ และแสดงบทบาทในการบรรเทาวิกฤตการณ์นี้ โดยการขอให้อินเดียหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำที่ผิดกฎหมายในแคชเมียร์ นี่คือข้อความ ให้คนในแคชเมียร์ได้พูด และฟังสิ่งที่พวกเขาต้องการ”

“นอกจากนี้ยังเป็นความรับผิดชอบของมิตรสหายและชุมชนระหว่างประเทศของเราในการช่วย

ผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นให้อินเดียหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติต่อสถานการณ์นี้ ตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้ให้แนวทางที่สามารถแก้ไขได้ในเรื่องนี้ไว้แล้ว”

“ซึ่งข้อมติ เมื่อ 70 ปีก่อนก็ได้มีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ประชาชนชาวชัมมู – แคชเมียร์จะเป็นผู้ตัดสินใจ จึงต้องให้ประชาชนได้ตัดสินใจและพูดด้วยตนเอง”

“ประเทศไทยเป็นเพื่อนที่ดีของปากีสถานมาอย่างยาวนานและเป็นเพื่อนของอินเดียด้วย ดังนั้น

ประเทศไทยจึงเป็นเพื่อนกับทั้งสองประเทศ เราเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่สำคัญในภูมิภาค เป็นประเทศที่มีอิทธิพลและมีบทบาทสูงในภูมิภาค และขณะนี้ ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน (ASEAN) เราจึงคาดหวังและยินดีมาก หากประเทศไทยให้ความสำคัญ เข้ามาให้ความช่วยเหลือ มีบทบาทในการจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างจริงจัง และเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาอย่างสันติต่อวิกฤตครั้งนี้”

ประวัติ เอกอัครราชทูตปากีสถาน

นายอาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด

ปี 1966 – เกิด วันที่ 27 พฤศจิกายน ที่เมืองละฮอร์

ปี 1988 – สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปัญจาบ (University of the Punjab) เมืองลาฮอร์ (เหรียญทอง)

ปี 1991 – สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (University of Engineering and

Technology) เมืองลาฮอร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (เหรียญทอง)

ปี 1993 – เข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน และในต่างประเทศ โดยมีตำแหน่งเป็น

ผู้อำนวยการ (สหประชาชาติ) กระทรวงการต่างประเทศ, ผู้ประสานงานทางการเมืองของ

ปากีสถานในคณะมนตรีความมั่นคง แห่งสหประชาชาติ และผู้ช่วยเลขานุการของประธานการ

ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 64, เป็นผู้แทนของปากีสถานในคณะมนตรีความมั่นคงแห่ง

สหประชาชาติ, สมัชชาใหญ่, คณะกรรมการสร้างสันติภาพและสภาสิทธิมนุษยชน นอกเหนือจาก

องค์กรระหว่างประเทศและภูมิภาคหลายแห่ง รวมถึงองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC), องค์การ

ระหว่างประเทศที่ไม่เป็นพันธมิตรหรือต่อต้านกับขั้วอำนาจฝ่ายใด (NAM), สหภาพแอฟริกา

(African Union), ความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) และการประชุม

อาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF)

ปี 2017 – เป็นเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำราชอาณาจักรไทย และผู้แทนถาวรประจำคณะกรรมาธิการ

เศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP)

สมรส – กับนางแอสมา (Mrs. Asma) และมีธิดาสามคน

กีฬา – กอล์ฟ เทนนิส สนุ๊กเกอร์ และคริกเก็ต