การทูตฮันรยู : เมื่อประธานาธิบดีเกาหลีใต้เยือนต่างประเทศ

ประเทศไทยให้การต้อนรับประธานาธิบดีมุนแจอินและภริยาสำหรับการเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน พ.ศ. 2562 นับเป็นการเยือนประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 7 ปี ของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีรายชื่ออยู่ในโปรแกรมออนทัวร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ไทย ลาว และเมียนมาร์ มีการคาดการณ์ว่า จุดประสงค์หลักของการเยือนประเทศไทยของมุนแจอินก็คือ การส่งเสริมรวมถึงการยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีใต้ในหลากหลายมิติ

และเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมุนแจอินเดินทางไปเปิดงาน Brand K Launching Show with K-pop ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ด้วยตนเอง หลายฝ่ายเห็นเป็นอีกหนึ่งกรณีที่รัฐบาลมุนพยายามใช้การทูตฮันรยูเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับต่างประเทศ การทูตฮันรยูไม่ใช่สิ่งใหม่ และรัฐบาลมุนก็ใช้โอกาสที่วัฒนธรรมป๊อปเกาหลีกำลังรุ่งเรืองนี้เพื่อผลักดันประเด็นความร่วมมือต่างๆให้ลุล่วง แม้กระทั่งกับเกาหลีเหนือ รัฐบาลมุนแจอินก็ใช้การทูตฮันรยูในการเยือนเปียงยางครั้งประวัติศาสตร์เช่นกัน

ผศ. ดร. ฮันนา จ็อน (Hannah Jun) อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ewha Womans University) ผู้กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับเคป็อปและคลื่นฮันรยู (Hallyu Wave) ให้สัมภาษณ์ว่า “จริงๆมันไม่ใช่สิ่งที่แปลกอะไรเลยถ้าเขา (มุนแจอิน) จะเดินทางออนทัวร์ในเอเชียอาคเนย์แล้วพาดาราหรือนักร้องร่วมคณะ และหลายๆครั้งการพาเหล่าเซเลบริตี้ส์ไปด้วยก็จะทำให้คนตื่นเต้นและดึงความสนใจของสาธารณะได้มากกว่า และในทางหนึ่ง จะทำให้ทีมเจรจาของเกาหลีดูเป็นที่น่าพอใจมากกว่าเดิม ฉันคิดว่านั่นเป็นเอกลักษณ์ของเกาหลีใต้ และการทูตฮันรยูก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ากระแสฮันรยูไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง”

แน่นอนว่ากระแสวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีที่โด่งดังข้ามโลกจะมาถึงจุดนี้ไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับการส่งเสริมและการอุดหนุนจากภาครัฐ อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่1990 ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเพลงป๊อป ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ที่ส่งไปชิงรางวัลใหญ่ระดับโลกกันเป็นว่าเล่น รวมถึงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลกอีกด้วย ถ้ารัฐบาลเกาหลีที่คิดริเริ่มส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรมป๊อปคาดคะเนไว้ล่วงหน้าตั้งแต่การออกนโยบาย ก็ถือว่าเป็นการคิดคำนวนที่แม่นยำมากทีเดียว เพราะรัฐบาลต่อๆมาสามารถใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมป๊อปได้อย่างหลากหลายและบ่อยครั้งที่ทำให้การเจรจาความร่วมมือราบรื่นมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถดึงความสนใจจากแฟนวัฒนธรรมป๊อปให้สนใจการเยือนประเทศนั้นๆของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้อีกด้วย

“การทูตฮันรยูเป็นอะไรที่การเมืองมากๆ รัฐบาลมุนรู้ดีว่าตัวเองกำลังทำอะไรและพยายามผลักดันอะไร จากมุมมองของฉัน มุนแจอินและรัฐบาลกำลังส่งสัญญานว่า พวกเขา (เกาหลีใต้) มีข้อเสนอมากมายให้ประเทศคู่เจรจา พวกเขาส่งออกไม่ใช่แค่เคป๊อป แต่รวมถึงการร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ” ดร. จ็อนกล่าว “การพานักธุรกิจหรือบอร์ดบริหารของกลุ่มแชบ็อล (Chaebol หรือ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่) ร่วมออนทัวร์ไปด้วยทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมเยอะมาก หลักๆก็เป็นเพราะจุดยืนทางการเมืองของท่านประธานาธิบดี แต่ฉันก็เข้าใจคำวิจารณ์เหล่านั้นนะ เพราะกลุ่มแชบ็อลมักมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่น และภาพลักษณ์ของแชบ็อลในความคิดของคนเกาหลีก็ไม่ได้ดีนัก และในขณะที่รัฐบาลมุนพยายามชูนโยบายกำจัดการทุจริตทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ การหนีบกลุ่มแชบ็อลไปออกทัวร์ตามประเทศต่างๆก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์และการโจมตีต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาลไปได้ แน่นอนว่านั่นทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลกลายเป็นคนตีสองหน้า รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลแรกที่ใช้วิธีการแบบนี้ รัฐบาลพัคกึนฮเยหรือแม้แต่สองรัฐบาลก่อนหน้าก็ล้วนแต่ใช้วิธีนี้กันหมด แต่เหตุผลที่พวกเขาไม่โดนวิจารณ์หรือเป็นประเด็นหนักหนักเท่ามุนแจอินก็เพราะจุดยืนทางการเมือง”

ดร. จ็อนเสริมอีกว่า “ฉันไม่อยากจะเรียกว่าการพาเซเลบริตี้ส์ร่วมเดินทางไปกับคณะรัฐบาลหรือให้พวกเขาทำการแสดงเล็กๆน้อยๆเป็นเพียงฉากหน้า เพราะการกระทำทุกอย่างของรัฐบาลล้วนมีความหมาย อย่างที่บอก รัฐบาลมุนไม่ได้ใช้การทูตฮันรยูแค่เฉพาะการเยือนเอเชียอาคเนย์หรือเกาหลีเหนือ แต่ใช้กับประเทศใหญ่ๆอย่างอินเดียและจีนที่ประธานาธิบดีมุนแจอินเดินทางเยือนเมื่อ 1-2 ปีก่อนด้วย”

“ตอนที่มุนแจอินเดินทางไปเกาหลีเหนือซึ่งเป็นการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์นั้นเราจะเห็นกระแสมากมายในทวิตเตอร์ เห็นได้ชัดว่าแฟนๆเคป๊อปให้ความสนใจกับเหตุการณ์ครั้งนั้นมาก เราเห็นเรื่องล้อเลียนขำขันอย่าง คิมจองอึนเป็นแฟนคลับไอรีนวงเรดเวลเว็ท (Red Velvet) บ้างล่ะ หรือคิมจองอึนเลื่อนตารางประจำวันตัวเองเพื่อมาดูเรดเวลเว็ทแสดงบ้างล่ะ มันเป็นการล้อกันขำๆก็จริง แต่หากถามว่ามันมีความเป็นไปได้ไหม ฉันก็เห็นความเป็นไปได้นะ นักการเมืองก็เป็นมนุษย์ จริงไหม? (หัวเราะ) ในบางครั้งการล้อเลียนเหล่านั้นก็ถูกนำไปวิเคราะห์หรือสร้างนโยบายจริงจังก็มี แน่นอนว่าฝ่ายนโยบายจะมองหาความเป็นไปได้ทุกอย่างเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง และถึงแม้ว่าบริษัทต้นสังกัดจะไม่ค่อยเต็มใจที่จะส่งศิลปินไปทำงานการเมือง แต่พวกเขาก็จะได้สัญญาบางอย่างเป็นการตอบแทน เช่น การได้พื้นที่สื่อมากขึ้น (เพราะรัฐบาลเกาหลีมีอิทธิพลควบคุมสื่อค่อนข้างมาก) หรือรัฐบาลสัญญาว่าจะเอื้อประโยชน์ให้บริษัทต้นสังกัด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นไปได้ทั้งหมด สิ่งที่ฉันจะพูดคือ เราต้องเข้าใจการเมืองเบื้องหลังสื่อบันเทิงที่เกิดขึ้นในเวทีการเมือง ทุกสิ่งล้วนมีเหตุมีผลและไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ มีจุดประสงค์ทางการเมืองและผลประโยชน์ จากเหตุผลทั้งหมดนี้ อาจจะพูดได้ว่า การที่วงRed Velvetและศิลปินที่ร่วมเดินทางไปเกาหลีเหนือได้แสดงที่เปียงยางนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญอะไรทั้งสิ้น รัฐบาลมีเหตุผลและจุดมุ่งหมายบางอย่างที่เลือกพวกเขา การแสดงดนตรีเพื่อกระชับความสัมพันธ์ตอนโอลิมปิคฤดูหนาวพย็องชาง (Pyongchang) ก็เช่นกัน ทุกอย่างและทุกองค์ประกอบถูกจัดวางไว้อย่างดีโดยรัฐบาล มันมีเหตุผลและประเด็นหรือแม้กระทั่งการให้สัญญาอะไรบางอย่างเบื้องหลังการแสดงเหล่านั้น และฉันเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในการออนทัวร์เอเชียอาคเนย์ครั้งนี้ของประธานาธิบดีมุนก็มีเหตุผลในทำนองเดียวกัน นักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำรวมถึงกลุ่มแชบ็อลก็ร่วมเดินทางไปด้วย ไม่ได้แตกต่างจากทริปก่อนหน้านี้มากนัก”

“สิ่งสำคัญคือเราต้องตื่นตัวและระมัดระวังต่อสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง(ของการทูตฮันรยู)เหล่านี้เสมอ” ดร. จ็อนกล่าวทิ้งท้าย.