วิช่วลคัลเจอร์ : โจน ดิเดียน นักเขียนสารคดีที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐ

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ดิเดียน : นักเขียน/เรื่องจริง (1)

 

หนังสารคดีเรื่อง Joan Didion : The Center Will Not Hold พาเราไปรู้จักกับโจน ดิเดียน นักเขียนสารคดีที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐ

งานของเธอ ทั้งที่เป็นเรื่องจริงและนิยายมีหลายสิบเล่ม ที่สำคัญ สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของอเมริกาในช่วงหกศูนย์ ซึ่งบางคนว่าดีพอๆ กับเพลงของบ๊อบ ดีแลน, โจน เบซ หรือจิม มอริสัน

เกิดในปี พ.ศ.2487 ที่ซาคราเมนโต้ พ่อของเธอเป็นทหารในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวจึงต้องย้ายไปที่ต่างๆ หลังจากเรียนปริญญาตรีที่ ยู.ซี.เบิร์กลีย์ เธอไปทำงานที่นิตยสารโว้กในนิวยอร์กเกือบสิบปี ระหว่างนั้นแต่งงานกับจอห์น เกรเกอรี่ ดันน์ แล้วย้ายกลับไปแคลิฟอร์เนีย

แคลิฟอร์เนีย บ้านเก่าของของดิเดียน ไม่ใช่ที่ซึ่งทุกคนมีแว่นกันแดดและบ้านทุกหลังมีสระว่ายน้ำ แต่เป็นตะวันตกที่อเมริกาเคยฝันถึง และในขณะนั้นหนุ่มสาวกำลังต่อต้าน เธอเขียนถึงรัฐนี้ในฐานะดินแดนแห่งความว่างเปล่าและชั่วร้าย งานของเธอมีทั้งเรื่องของคดีฆาตกรรมชารอนเทต, นักบวชในแคลิฟอร์เนีย, คดีเมียฆ่าผัว (ด้วยการเผาทั้งเป็น) ขณะขับรถ และเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างฟรีเวย์

ขณะที่คนอื่นกำลังเขียนถึงฮิปปี้ เธอเขียนถึงหนุ่มสาวที่สับสนและเพ่นพ่านไปตามเมืองต่างๆ ขณะที่คนอื่นเขียนถึงกัญชา เธอเขียนถึงเด็กห้าขวบที่ได้ยาเสพติดจากพ่อแม่

เธอมองว่าอเมริกากำลังป่วย และคนอเมริกันกำลังทิ้งอดีตและอนาคตเหมือนงูกำลังลอกคราบ

ในช่วงนี้มีการรวมบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ เช่น Life, Esquire, The Saturday Evening Post, The New York Times และ The New York Review of Books และทำให้เธอเป็นที่รู้จัก หนังสือมีทั้งที่เป็นสารคดี เช่น Slouching Towards Bethlehem, The White Album ที่เป็นนิยาย เช่น Play It As It Lays, A Book of Common Prayer

และที่เป็นบทหนัง เช่น Panic in Needle Park

 

หลังจากย้ายมาอยู่ที่นิวยอร์กในช่วงแปดศูนย์ถึงเก้าศูนย์ เธอมีผลงานด้านการเมืองหรือช่องว่างระหว่างวัย เพศ และสีผิวมากขึ้น

มีทั้งเรื่องของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ, อิหร่าน-คอนตร้า, เอล ซัลวาดอร์ และฆาตกรรมในเซ็นทรัลพาร์ก

และเมื่ออายุได้เจ็ดสิบกว่า เธอกลับมาเขียนเกี่ยวกับความโศกเศร้าของตนเองหลังการตายอย่างกะทันหันของสามีและลูกสาว ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดี และถูกดัดแปลงเป็นละครที่กำกับฯ โดยเดวิด แฮร์

แม้จะเป็นบทความลงนิตยสารหรือไม่มีความเป็นปัญญาชนเท่างานวิชาการ แต่ความคมคาย สั้น และสนุกสนาน ทำให้หนังสือของเธอเป็นที่สนใจ และกลายเป็นแบบอย่างของการเขียนสารคดี เพราะมีส่วนผสมของสังคมและความเป็นส่วนตัว

ที่น่าสนใจ ผู้หญิงแบบดิเดียนกลายเป็นสูตรของตัวละครที่เสียผู้ชายไปกับการฆ่าตัวตายและหย่าร้าง แต่คิดว่าตนเองเข้าใจเกมที่กำลังเล่น

คล้ายกับของทอม วูล์ฟ, ทรูแมน คาโปตี้, นอร์แมน มิลเลอร์ และฮันเตอร์ เอส. ทอมป์สัน เธอเป็นหนึ่งในนักข่าวรุ่นใหม่ หรือ The New Journalism ของสมัยนั้น ซึ่งใช้สไตล์การเขียนเรื่องที่เน้นข้อเท็จจริงแต่มีมุมมอง หรือแบบ “แมลงวันบนกำแพง”

คือนำเอาผู้อ่านเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ได้โดยไม่มีใครเห็นตัว แต่ได้เห็นและได้ยินทุกสิ่งทุกอย่าง

ดิเดียนทำให้ผู้อ่านเห็นว่า รายงานข่าวสามารถใส่ความรู้สึกของผู้เขียนลงไปได้ ด้วยการเขียนถึงผ้าม่านในห้องพิจารณาคดี และการผสมเหล้าในห้องพยาบาล

งานของเธอทำให้ผู้อ่านร้องไห้ได้โดยไม่ต้องเขียนแบบบีบน้ำตา ดิเดียนมีความละเอียด แม่นยำ แต่รักษาความเป็นส่วนตัวเอาไว้

 

ผู้กำกับฯ กริฟฟิน ดันน์ เป็นหลานของโจน ดิเดียน หนังเรื่องนี้จึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นพิเศษ ดันน์ขนเอาเซเลบที่เกี่ยวกับป้าของเขามาปรากฏตัว เช่น คัลวิน ทริลลิง และบ๊อบ ซิลเวอร์ บรรณาธิการของเดอะนิวยอร์กรีวิวออฟเดอะบุ๊กส์, แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการนิตยสารโว้ก, ฮิลตัน อัลส์ นักวิจารณ์ของเดอะนิวยอร์กเกอร์ รวมทั้งวาเนสซา เรดเกรฟ ซึ่งเล่นเป็นตัวเธอในละคร

หนังชี้ว่าช่วงที่อยู่แคลิฟอร์เนีย เธอกับครอบครัวอยู่ในแถวหน้าของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และเขียนเรื่องลงนิตยสารระดับชาติ โดยเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงจากที่นั่น ซานฟรานซิสโกเป็นชัยภูมิที่ดีเพราะบ้านของเธอเป็นที่พบปะของนักดนตรีร็อก เช่น จานิส จอพพลิน, จิม มอริสัน

และเมื่ออยู่ที่ลอสแองเจลิส บ้านของเธอก็เป็นที่พบปะของผู้กำกับภาพยนตร์เช่น ไบรอัน เดอ พัลมา, สตีเฟ่น สปีลเบิร์ก, มาร์ติน สกอร์เซซี และวอร์เรน เบตตี้

นอกจากนั้น เป็นที่รู้กันว่าก่อนจะหันมาเล่นหนัง แฮร์ริสัน ฟอร์ด เคยเป็นช่างไม้แถวแคลิฟอร์เนีย แต่หนังจะมีเซอร์ไพรส์ให้ดูเมื่อฟอร์ดปรากฏตัวในหนัง และบอกว่าเขาเป็นคนทำระเบียงของบ้านดิเดียนที่หาดมาลิบูนั่นเอง

ที่แสดงความสนิทสนมเป็นพิเศษคือฉากที่ผู้กำกับหนังถามดิเดียนถึงข้อเขียนใน Slouching Towards Bethlehem ที่เกี่ยวกับเด็กห้าขวบที่ดูดยา คำถามของเขาคือ เมื่อเห็นเด็กคนนั้น เธอคิดอย่างไร?

ดิเดียนนิ่งเงียบไปครู่หนึ่งแล้วตอบว่ามันเป็นโอกาสทองของนักเขียน

และ “You live for moments like that, if you’re doing a piece. Good or bad.”