ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์ 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
Muzak : ดนตรีสะกดจิตแห่งโลกทุนนิยม (1)
“การได้ยินดนตรีคลาสสิคขณะช้อปปิ้งทำให้ผู้ซื้อจ่ายเงินมากกว่าปกติ”
ถึงแม้ว่านี่จะไม่ใช่ประเด็นอะไรใหม่ แต่มันก็ถูกรายงานอยู่ในเว็บไซต์ Classic FM เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา
โดยมีเนื้อหาอ้างอิงงานวิจัยของชาวสวีเดนว่า การได้ยินดนตรีคลาสสิคในระหว่างช้อปปิ้ง จะทำให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลาย ไม่รีบร้อน และใช้เวลาอยู่ในร้านค้านานกว่าปกติ
แต่ถ้าร้านค้าเปิดเพลงเร็วๆ คึกคัก จะส่งผลให้ลูกค้าก้าวเดินอย่างรวดเร็วตามไปด้วย และจะทำให้ลูกค้าออกจากร้านเร็วกว่า
แต่คำถามคือ ดนตรีสามารถส่งอิทธิพลต่อผู้คนถึงขนาดนั้นได้อย่างไร?
และที่มาของแนวคิดนี้มาจากไหน?
และการเปิดเพลงดนตรีคลอไปกับบรรยากาศในห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่สาธารณะอย่างสถานีรถไฟหรือบนรถไฟฟ้าอย่างที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้มีความเป็นมาอย่างไร?
กำเนิด background music
เสียงดนตรีมีบทบาทในสังคมมนุษย์มานานนับแต่บรรพกาล
แต่ดนตรีในสมัยก่อนไม่ได้มีขึ้นอย่างพร่ำเพรื่อหรือล่องลอยอยู่ในบรรยากาศของชีวิตประจำวันอย่างดนตรีในห้างสรรพสินค้าทุกวันนี้
เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าดนตรีแต่ก่อนมักเชื่อมโยงอยู่กับพิธีกรรม และเกี่ยวพันกับเรื่องของศาสนา
ดังนั้น ดนตรีในสมัยก่อนจึงเกิดขึ้นอย่างมีบริบทอื่นแวดล้อม เช่น พิธีกรรม หรือการแสดงต่างๆ
ต่างจากดนตรีในปัจจุบัน ที่ล่องลอยอยู่โดดๆ ด้วยเทคโนโลยีการกระจายเสียง
ความคุ้นชินกับเสียงดนตรีที่บรรเลงล่องลอยอยู่ทั่วไปตามสถานที่สาธารณะหรือ “background music” จึงเป็นผลพวงของยุคสมัยใหม่โดยแท้จริง
และปรากฏการณ์นี้ก็เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1940 หรือราวๆ 80 ปีที่ผ่านมานี้เอง
ดนตรีในห้าง หรือดนตรีตามสถานที่สาธารณะเหล่านี้คือสิ่งที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Muzak” ซึ่งเป็นชื่อของบริษัท Muzak ที่จัดระบบการเปิดเพลงเหล่านี้ให้กับสถานที่ต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงงาน และสถานที่สาธารณะในสหรัฐอเมริกา
(คำว่า Muzak จึงมีสถานะเหมือนคำว่า XEROX ที่กลายจากชื่อเครื่องหมายการค้าของบริษัทหนึ่งมาเป็นคำศัพท์ที่คนทั่วไปใช้เรียกผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันนั่นเอง)
บริษัท Muzak ก่อตั้งขึ้นโดยพลตรี George Owen Squire แห่งกองทัพสหรัฐ ผู้ค้นพบวิธีการปล่อยสัญญาณเสียงไปยังพื้นที่ห่างไกลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
และต่อมาได้พัฒนาจนสามารถส่งเสียงดนตรีตามสายไปยังที่ต่างๆ ได้
พลตรี Squire จดสิทธิบัตรประดิษฐกรรมนี้ใน 1922 และก่อตั้งบริษัท Muzak เพื่อส่งสัญญาณเสียงดนตรีให้แก่ผู้รับบริการในปี 1934
และระบุว่า ที่ตั้งชื่อบริษัทว่า Muzak นั้นเป็นเพราะเขาชื่นชอบชื่อของบริษัท Kodak เป็นพิเศษ จึงจงใจตั้งเลียนแบบโดยแปลงจากคำว่า Music
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นการกระจายเสียงทางวิทยุเริ่มแพร่หลายแล้ว และคนส่วนมากย่อมพึงพอใจกับการรับฟังเพลงดนตรีฟรีๆ ทางวิทยุมากกว่าที่จะต้องจ่ายเงินค่าบริการเพื่อฟังเสียงตามสายจาก Muzak
ดังนั้น Squire จึงต้องปรับกลยุทธ์ และหันไปเสนอขายบริการแก่ธุรกิจขนาดใหญ่อย่างโรงแรมหรือร้านอาหาร
ซึ่งต้องการเสียงเพลงในสถานประกอบการ แต่ไม่ต้องการให้มีเสียงดีเจพูดคุยหรือเสียงโฆษณามาขัดจังหวะอย่างในวิทยุนั่นเอง
ดนตรีเพื่อการควบคุมคน (?)
ธุรกิจของ Muzak ก้าวกระโดดครั้งสำคัญในช่วงต้นทศวรรษที่ 1940s พร้อมกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากนักวิจัยของบริษัทได้อ้างการค้นพบว่า การเปิดเพลงในโรงงานทำให้คนงานมีความสุข และสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น
ทางนักวิจัยของ Muzak จึงจัดโปรแกรมการเปิดเพลงที่เรียกว่า “Stimulus Progression” ขึ้น
โปรแกรมดังกล่าวนี้อธิบายคร่าวๆ ได้ว่า เป็นการเลือกเรียงเพลงที่เปิดตามลำดับหน้าหลัง ให้มีคุณสมบัติที่สามารถกระตุ้นให้คนงานตื่นตัว
โปรแกรมนี้จะจัดการเปิดเพลงเป็นเวลา 15 นาที และพัก 15 นาที โดยอ้างว่าการเปิดและหยุดสลับกันจะไม่ทำให้คนงานเหนื่อยหน่ายกับการฟัง
และเพลงที่เปิดก็จะเปลี่ยนไปตามวัตถุประสงค์ เช่น ในเวลาสายๆ หรือหลังอาหารกลางวันที่คนงานอาจรู้สึกง่วง ทางโปรแกรมจะคัดเลือกเพลงที่มีลักษณะเสียงเบาๆ ช้าๆ ก่อนเป็นการเริ่มต้น
แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มอัตราความเร็วและความดังของเพลงขึ้นทีละน้อย โดยใช้เพลงราว 5-6 เพลงในช่วงเวลา 15 นาที เพื่อกระตุ้นให้คนงานรู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้น (อย่างไม่รู้ตัว)
ส่วนในเวลาก่อนเลิกงาน เพลงที่เปิดก็จะมีลักษณะตรงกันข้าม คือ ค่อยๆ แผ่วจางลงให้คนงานรู้สึกผ่อนคลาย เป็นต้น
แน่นอนว่าการค้นพบนี้สำคัญ เพราะสถานการณ์สงครามทำให้ทางกองทัพต้องการผลผลิตจากโรงงานให้ได้มากที่สุด
และจากการวิจัย (ของทาง Muzak เอง) ก็พบว่าการใช้โปรแกรม Stimulus Progression นี้สามารถเพิ่มผลผลิตให้ทางโรงงานได้ถึง 9.1%
(น่าสนใจว่าในช่วงเวลาเดียวกันนั้นยังปรากฏแนวคิดที่คล้ายคลึงกันที่อังกฤษด้วย เห็นได้จากการที่ทางสถานีวิทยุ BBC เริ่มจัดโปรแกรม Music While You Work ขึ้นในปี 1940 โดยมีเป้าหมายให้คนงานในโรงงานฟังเพื่อผ่อนคลายและสนุกกับงาน เพียงแต่ในกรณีของ BBC ไม่ได้มีระบบการจัดเพลงที่ซับซ้อนแบบในโปรแกรม Stimulus Progression ของ Muzak)
แต่เพลงชนิดไหนหรือที่ควรนำมาเปิดเพื่อสร้างความผ่อนคลายหรือความกระฉับกระเฉงให้คนงาน? โดยที่เพลงนั้นๆ จะต้องไม่ดึงดูดความสนใจจากคนงานออกไปจากงานที่ทำ ไม่ทำให้คนงานครุ่นคิดถึงเรื่องอื่นนอกจากงาน
คำตอบที่ทาง Muzak ค้นพบคือ “เพลงบรรเลง” ที่ปราศจากเสียงร้อง
(เพราะเสียงร้องที่ประกอบด้วยคำและความหมายย่อมทำให้ผู้ฟังครุ่นคิดตามอย่างไม่รู้ตัว)
ความละเอียดอ่อนในการเลือกเฟ้นเพลงจึงมีความสำคัญ
และการตัดเสียงร้องออกจากเพลงดั้งเดิมก็หมายถึงการที่ทาง Muzak ต้องเรียบเรียงเพลงนั้นๆ ขึ้นใหม่ในรูปแบบ “เพลงบรรเลง”
ซึ่งในเวลาต่อมา ขนบการเรียบเรียงเพลงแบบ Muzak นี้จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลในวงกว้างอย่างที่เราคาดไม่ถึง (จะกล่าวต่อไปข้างหน้า)
ถึงกระนั้นความผิดพลาดครั้งแรกๆ ของ Muzak ก็มีตัวอย่างเช่น การนำเพลงดังในสมัยนั้นอย่างเพลง Deep in the Heart of Texas ของ Gene Autry (ในเวอร์ชั่นบรรเลง) มาเปิดในโปรแกรม
ซึ่งด้วยความที่เพลงนี้มีท่วงทำนองที่กระฉับกระเฉงและใช้เสียงปรบมือประกอบ ดังนั้น เมื่อคนงานในโรงงานได้ฟัง จึงหยุดผละจากงานและหันมาปรบมือให้เข้ากับเสียงเพลงอย่างสนุกสนานไปด้วยกันในทันที
นับเป็นความล้มเหลวอย่างยิ่งในการพัฒนาประสิทธิภาพของคนงานด้วยเสียงเพลงอย่างที่ Muzak เคยคาดคำนวณเอาไว้
แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากทำการวิจัยและปรับปรุงประสิทธิภาพของโปรแกรม ทาง Muzak ก็กล่าวอ้างว่าตนเองค้นพบสูตรสำเร็จ โดยมีข้อสรุปที่สำคัญยิ่งว่า
ดนตรีที่ใช้งานในโปรแกรมจะต้องมีลักษณะเป็นเพียง background music เท่านั้น และจะต้อง “ไม่ดึงดูด” ความสนใจผู้ฟังแม้แต่เพียงน้อย
ดังคำยืนยันของผู้บริหารรายหนึ่งในช่วงนั้นว่า “เมื่อใดก็ตามที่คนหันมาฟังดนตรี เมื่อนั้นเขาจะหยุดทำงาน”
จึงกล่าวได้ว่าดนตรีแบบในโปรแกรมของ Muzak นั้นถือกำเนิดขึ้นด้วยความลักลั่นย้อนแย้งในตัวเองเป็นอย่างมาก
เพราะในขณะที่มันต้องการให้คนงาน “ได้ยิน” เสียงเพลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่ต้องการให้คนงาน “ฟัง” เพลงเหล่านั้น