เผยแพร่ |
---|
นายสรวงศ์ เทียนทอง (อายุ 49 ปี) รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา
เป็นบุตรคนโตของนายเสนาะ เทียนทอง กับนางอุไรวรรณ เทียนทอง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ จาก Johnson & Wales University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้วครั้งแรก ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง ในสังกัดพรรคประชาราช ซึ่งมีนายเสนาะ เทียนทอง บิดา เป็นหัวหน้าพรรค และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สาม ในสังกัดพรรคเพื่อไทย
นายสรวงศ์ เทียนทอง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 แทนนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว และยังคงเหนียวแน่นอยู่กับพรรคเพื่อไทย ในปี 2562 ลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดสระแก้วในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 สังกัดพรรคเพื่อไทย ในขณะที่สมาชิกในตระกูลเทียนทองคนอื่นๆ เช่น นายฐานิสร์ เทียนทอง และ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่ นายสรวงศ์ไม่ได้รับเลือกตั้ง
ในปี 2566 นายสรวงศ์ลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดสระแก้วในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 สังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสรวงศ์เป็นผู้ยื่นหนังสือเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า ในอดีตอุดมการณ์ทางการเมืองของเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ไม่เหมือนกันเลย แต่วันนี้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารพรรค หัวหน้าทั้ง 2 พรรค รวมถึงเลขาฯ และสมาชิกพรรคทุกคนมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นเพราะประเทศชาติถอยหลังไปมาก ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเดินหน้าร่วมกัน อะไรไม่เข้าใจกันหรือความขัดแย้งต้องทิ้งไว้ข้างหลัง
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ (อายุ 63 ปี) รมว.พาณิชย์
นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอัญมณีและการส่งออก เจ้าของบริษัท เจมส์ควอลิตี้ จิวเวอร์รี่ จำกัด เข้าสู่การเมืองด้วยการเป็นผู้สนับสนุนการเงินให้กับกลุ่มขอนแก่น พรรคเพื่อแผ่นดิน ของนายสุวิทย์ คุณกิตติ ต่อมาจึงได้หันมาสนับสนุนพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยแทน โดยในปี พ.ศ. 2551 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาถูกปรับออกจากตำแหน่งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ลำดับที่ 9 แต่พรรคไทยรักษาชาติ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง
ในปี 2563 เขาได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งนายพิชัยได้ใช้บทบาทนี้ในการกล่าววิพากษ์วิจารณ์ ธปท. ว่าควรจะต้องดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางรัฐบาล มากกว่าที่จะตัดสินเองว่าเศรษฐกิจขยายตัวขนาดไหนถึงเหมาะสม เพราะรัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจขยายตัวให้ได้ 5% ตามศักยภาพที่น่าจะทำได้ แต่ ธปท. กลับเห็นว่าศักยภาพไทยอยู่เพียง 3% หรือลดศักยภาพไทยลงมา ซึ่งไม่ตรงกับแนวทางของรัฐบาล
นายพิชัยมี บุตร 3 คนๆโต คือ นายพชร นริพทะพันธุ์ เคยเป็นกรรมการบริหารและคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ในชุดการบริหารงานของนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ และนายพชร ยังเข้าศึกษาที่ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต รุ่นที่ 1 โดยมีเพื่อนร่วมรุ่น คือ นส.แพทองธาร ชินวัตร
นายชูศักดิ์ ศิรินิล (อายุ 76 ปี) รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีก 2 สมัยติดต่อกัน ระหว่างปี พ.ศ. 2532-2537 เข้าสู่วงการการเมืองโดยการเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร) และลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระบบบัญชีรายชื่อ ในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548
ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายชูศักดิ์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลรับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ต่อมาภายหลังจากการพ้นจากตำแหน่งของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งพรรคพลังประชาชน ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เสนอชื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ได้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ในปี พ.ศ. 2563 เขาได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งอีกสามปีถัดมา เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ในลำดับที่ 4 หลังจากนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการมีมติเลือกชูศักดิ์เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค ต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม ปีเดียวกัน ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติให้แพทองธาร ชินวัตร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และชูศักดิ์เป็นรองหัวหน้าพรรรคอีกครั้ง
ในช่วงการปรับครม. เศรษฐา 1/1 นายชูศักดิ์ ศิรินิล ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งรัฐตรีประจำสำนักนายกดูแลรับผิดชอบงานด้านกฎหมาย แต่กลับถูกเบียดแซงโดย นายพิชิต ชื่นบาน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชนวนให้ นายเศรษฐา ทีวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ (อายุ 45 ปี ) รมช.มหาดไทย
เป็นบุตรของนายวิบูล สำเร็จวาณิชย์ อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตลาดกระบัง ก่อนเข้าสู่วงการการเมือง นส.ธีรรัตน์ เคยทำงานอยู่แผนกพัฒนาบุคลากร ฝ่ายยุทธศาสตร์การจัดการเรียนรู้แก่ผู้บริหารระดับสูง ธนาคารกสิกรไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย ในเขตเลือกตั้งที่ 20 (เขตลาดกระบัง) อันเป็นฐานเสียงของครอบครัว โดยสามารถเอาชนะนางสลวยเลิศ กิมสูนจันทร์ ภรรยานายมงคล กิมสูนจันทร์ อดีต สส. และสมาชิกบ้านเลขที่ 109 จากพรรคประชาธิปัตย์ไปได้
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 น.ส.ธีรรัตน์ลงสมัครรับเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนเสียง 34,749 คะแนน เอาชนะนายชุมพล หลักคำ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลเพียง 4 คะแนน ต่อมาเธอได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล , ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของสภาผู้แทนราษฎร และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
นส.ธีรรัตน์ หรือ “สส.อิ่ม” เป็นหนึ่งในสองของ ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มเยาวชน และโลกโซเชียลร่วมกับ “ส.ส.น้ำ” จิราพร สินธุไพร ซึ่งปัจจุบันเป็นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงถูกขนานนามว่าเป็นคู่จิ้นที่ได้ชื่อว่า “คูมธีคูมจิ” ซึ่งต่อไปนี้คงจะเป็น “รมต.คู่จิ้น”
น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ ( อายุ 39 ปี) รมช.มหาดไทย
เป็นบุตรคนที่ 2 ของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ จบการศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จบการศึกษาปริญญาโทด้านนิติศาสตร์ จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่งงานกับ นายอนันต์ ปาทาน เมื่อเดือนมกราคม 2565 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในช่วงที่ผ่านมามีบทบาท ออกงานสังคม ปฏิบัติหน้าที่ ในนาม นายชาดา อย่างต่อเนื่อง
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (อายุ 38 ปี) รมว.อุตสาหกรรม
เข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นบิดาบุญธรรม และในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 นายเอกนัฏในวัย 25 ปี ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร เขต 29 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งไปด้วยคะแนน 37,932 คะแนน ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 นายเอกนัฏเป็นหนึ่งใน 9 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรค และเข้าเป็นหนึ่งในแกนนำ กปปส. โดยมีบทบาทเป็นโฆษกของการชุมนุมชี้แจงข่าวสารและทำความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ต่อสื่อมวลชนเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ปี 2565 นายเอกนัฏได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไปสังกัด พรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค
ในช่วงที่มีชื่อ นายเอกนัฏ เข้าร่วมรัฐบาล ปรากฎกระแสข่าว ว่าเขาได้ให้ปากคำเป็นพยานในคดี 112 ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ฝ่ายกฎหมายพรรครวมไทยสร้างชาติ ชี้แจงว่า เรื่องนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหมายเรียกนายเอกนัฏไปให้ปากคำ จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องไปให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวนตามข้อเท็จจริง มิใช่เสนอตัวไปให้การเอง อีกทั้งการให้ปากคำดังกล่าวยังอยู่ในช่วงต้นปี ไม่ใช่ในช่วงเวลานี้ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการต่อรองตำแหน่งใดๆ ปัจจุบันอัยการสั่งฟ้องคดีไปแล้ว อยู่ในชั้นศาลที่จะตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ (อายุ 51 ปี) รมว.เกษตรและสหกรณ์
จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การเงิน) จากวิทยาลัยวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า และเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์)
นางนฤมล ได้เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 ของพรรค มีบทบาทด้านนโยบายเศรษฐกิจ และได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาภายหลังลาออกจากตำแหน่งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566 นางนฤมลได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากสมาชิกและทุกตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ได้รับแต่งตั้ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี(นายเศรษฐา ทวีสิน) เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย บทบาทหลักคือ การเจรจาขายสินค้าเกษตรประเภทยางพารา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของรอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
วันที่ 6 ส.ค. 2567 พรรคกล้าธรรม จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2567 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคชุดใหม่ ผลการลงคะแนนได้มีมติเลือก นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นหัวพรรคคนใหม่ ทั้งนี้”พรรคกล้าธรรม” ได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาจากพรรคเศรษฐกิจไทย ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
นายอัครา พรหมเผ่า (อายุ 52 ปี) รมช.เกษตรและสหกรณ์
เป็นน้องชายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จบการ ระดับปริญญาตรี สาขาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง,Business Management from TAFE Sydney Instutute Australia ระดับปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในด้านประสบการณ์การทำงานด้านการเมือง ดำรงดำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา 2 สมัย , กรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือ พรรคพลังประชารัฐ ,คณะทำงานร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร (อายุ 70 ปี) รมช.เกษตรและสหกรณ์
เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา 5 สมัย ระหว่างปี พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2550 สังกัดพรรคชาติพัฒนา พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนตามลำดับ เขายังเป็นหนึ่งในสมาชิก ส.ส.กลุ่ม 16 ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ และนายเนวิน ชิดชอบ เป็นแกนนำ และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย(2542-2544)
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 และพ.ศ.2566 นายอิทธิได้สนับสนุนบุตรชายคือนาย อรรถกร ศิริลัทธยากร ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 นาย อรรถกร ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แต่เมื่อ นส.แพทองธาร ฟอร์มรัฐบาลใหม่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ส่งชื่อของนายอิทธินั่งรมช.เกษตรและสหกรณ์แทนนายอรรถกรในโควตาคนนอก หลังจากที่พรรคเพื่อไทยมีมติไม่นำพรรคพลังประชารัฐมาเข้าร่วมรัฐบาล โดยนายอิทธิได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐก่อนหน้านี้มาระยะหนึ่งแล้ว
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (อายุ 59 ปี) รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
เจ้าของสโลแกน ประจำตัว “คำไหน…คำนั้น” เริ่มเส้นทางการเมืองโดยการเป็นสมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ส.จ.) ในปี พ.ศ. 2533 – 2543 เป็นประธานสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (พ.ศ. 2538 – 2540) และเป็นสมาชิกพรรคในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ก่อนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครั้งแรกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และได้รับการเลือกตั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2548, พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2554
นายเฉลิมชัย ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคกลาง ต่อมาในการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแทนไพฑูรย์ แก้วทอง หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคม ปีเดียวกัน สมาชิกพรรคก็ได้ลงมติให้เฉลิมชัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
9 ธันวาคม 2566 หลังศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ที่ยืดเยื้อมากว่า 5 เดือน ที่จบลงด้วยการถอนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิก ปชป. นายเฉลิมชัย ในฐานะ ฝ่าย “อำนาจใหม่” ก็มีชัยชนะเหนือกลุ่มผู้อาวุโสในพรรคฝ่าย “อำนาจเก่า” ก็ขึ้นดำรง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9
29 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลาและเลขาธิการพรรค มีมติเป็นเอกฉันท์นำสส.จำนวน 21 รายจากพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาล ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ จะคงเหลือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพียง 4 ราย ประกอบไปด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และ นายสรรเพชญ บุญญามณี
นายเดชอิศม์ ขาวทอง (อายุ 60 ปี) รมช.สาธารณสุข
เริ่มต้นงานการเมือง ในฐานะ สมาชิกสภาจังหวัดสงขลา เขตอำเภอรัตภูมิ และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคไทยรักไทย เมื่อปี พ.ศ. 2548 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในปี พ.ศ. 2550 ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2562 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2564 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
ในปี 2566 เขาได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังการเลือกตั้งเขามีบทบาทในการพยายามนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยการพบปะหารือกับ นายทักษิณ ชินวัตร ในต่างประเทศ ต่อมาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค งดออกเสียงให้กับ นายเศรษฐา ทวีสิน แต่ท้ายที่สุดเขากับสมาชิกในกลุ่มได้ลงมติสวนทางกับมติพรรคประชาธิปัตย์ โดยลงมติเห็นชอบให้ นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี
ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เรื่องการเข้าร่วมรัฐบาลแพทองธาร นายเดชอิศม์ อธิบายว่า สส.พรรคในสภาส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่ม ก. สส.ที่พูดเก่ง ตำหนิเก่ง วิจารณ์เก่ง พวกนี้เขาจะทำงานไม่ค่อยเก่ง พวกนี้ก็จะมีความคิดไม่อยากร่วมรัฐบาล ส่วนกลุ่ม ข. พูดอาจไม่เก่ง ตำหนิไม่เก่ง แต่เขาทำงานเก่ง เขาจึงถือว่ารอโอกาสเข้าร่วมรัฐบาล เพราะจะได้มีโอกาสสร้างผลงานให้กับประเทศชาติ และประชาชน เท่ากับสร้างผลงานให้กับพรรคตัวเองได้ด้วย ดังนั้นกลุ่มไหนมากกว่ากลุ่มนั้นก็ชนะ