แกะรอยชีวิต-ธุรกิจ สไตล์ เปิด-เร็ว-แรง จาก “พ่อเฉลิม” ถึงลูก “บอส อยู่วิทยา” เหรียญอีกด้านของ “กระทิงแดง”

หมายเหตุ : บทความเผยแพร่ครั้งแรก 07 กันยายน 2551

 

3 กันยายน 2555 เฉลิม อยู่วิทยา นักธุรกิจชื่อดังแห่งตระกูล “อยู่วิทยา” ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องดื่ม กระทิงแดง/Red Bull ปรากฏตัวอีกครั้งท่ามกลางความสนใจของผู้สื่อข่าวในประเด็นที่แตกต่างไปจากภาพลักษณ์ปกติที่ “เฉลิม” มักมีภาพข่าวเฉพาะในงานแถลงด้านธุรกิจ หรือในด้านการตลาด

แต่คราวนี้ เขาเดินทางไปร่วมเคารพศพ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ พร้อมกับคำขอโทษและยืนยันว่าจะรับผิดชอบทั้งในทางคดีและความเสียหายที่เกิดขึ้น

หลังจากที่เช้ามืดวันเดียวกัน เกิดอุบัติเหตุสะเทือนขวัญและเป็นภาพข่าวชนิดกล่าวขวัญกันทั้งเมือง เมื่อรถสปอร์ต “เฟอร์รารี่” ที่มี นายวรยุทธ อยู่วิทยา บุตรชายนายเฉลิมเป็นผู้ขับขี่ ชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ของ ด.ต.วิเชียร ทำให้ ด.ต.วิเชียร เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

เรื่องราวเกรียวกราว บานปลาย กลายเป็นข้อถกเถียง ทั้งในประเด็น “ชนแล้วหนี” และกับการสลับตัวให้คนดูแลรถในบ้านเข้ามอบตัวแทนนายวรยุทธ

พร้อมกับข้อสงสัยในภาพลักษณ์ของ “กระทิงแดง” กับความน่าเลื่อมใสในเชิงธุรกิจของตระกูล “อยู่วิทยา”

เนื่องเพราะผู้ก่อตั้งกระทิงแดง “นายเฉลียว อยู่วิทยา” ซึ่งเป็นบิดาของนายเฉลิม เพิ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ทิ้งอาณาจักรธุรกิจเครื่องดื่ม กระทิงแดง/Red Bull มูลค่านับแสนล้านไว้ให้ทายาทในเจเนอเรชั่นที่ 2 สานต่อ

พร้อมกับภาพลักษณ์ของนายเฉลียว มหาเศรษฐีกระทิงแดงที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะ

แต่สำหรับ “เฉลิม อยู่วิทยา” แล้ว นี่ดูเหมือนจะเป็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของตำนานธุรกิจ “กระทิงแดง” ที่แตกต่างไปจาก “นายห้างเฉลียว” มากมายนัก

“เฉลียว อยู่วิทยา” สร้างตำนานอาณาจักรธุรกิจเครื่องดื่มขึ้นมาจนกลายเป็นบุคคลที่ได้รับการจัดอับดับจากนิตยสารฟอร์บส์ให้เป็นเศรษฐีอันดับ 265 ของโลก และอันดับ 3 ของประเทศไทย โดยมีธุรกิจหลักในด้านเครื่องดื่ม และการจัดจำหน่าย ทั้งในประเทศ และความสำเร็จในการสร้างแบรนด์เครื่องดื่ม Red Bull โด่งดังไปทั่วโลก

โดยความสำเร็จในตลาดต่างประเทศนั้น เกิดขึ้นจากหุ้นส่วนธุรกิจคนสำคัญ นายดีทริช เมเทสซิทซ์ (Dietrich Mateschitz) นักธุรกิจชาวออสเตรีย ซึ่งร่วมกันก่อตั้งบริษัท Red Bull GmbH. ในประเทศออสเตรีย

กิจการของกระทิงแดงและบริษัทในเครือถูกแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับทายาทเข้ามารับช่วงต่อ บริหารงานในแต่ละส่วนแยกกันอย่างชัดเจน

โดยกิจการหลักคือ บริษัท กระทิงแดง จำกัด และบริษัท เดอเบล เป็นกิจการด้านจัดจำหน่ายกระจายสินค้า มี สราวุฒิ อยู่วิทยา และ สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา เป็น 2 ผู้บริหารหลัก

ขณะที่กิจการที่ร่วมลงทุนและทำตลาดในต่างประเทศ เป็นความรับผิดชอบของ “เฉลิม อยู่วิทยา”

เป็น เฉลิม อยู่วิทยา ที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านต่างประเทศ ร่วมเป็นผู้บริหารและเจ้าของทีมรถแข่ง ฟอร์มูล่าวัน “เรดบูล เรซซิ่ง” ซึ่งครองแชมป์โลกในสมัยที่ผ่านมานี้เอง

เป็น เฉลิม อยู่วิทยา ที่รักและหลงใหลในกีฬาความเร็ว สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการจัดงาน “ราชดำเนิน เรดบูล แบงค็อก 2010” ที่ถนนราชดำเนิน เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2553 พร้อมทั้งนำเอาแชมป์โลกตัวจริง “เซบาสเตียน เวตเทล” เข้ามาขับโชว์ ซึ่งมีประชาชนมาร่วมชมนับแสนคนมาแล้ว

ขณะที่อีกฟากหนึ่งของธุรกิจ ทั้ง นายห้างเฉลียว และทายาทอย่าง สราวุฒิ-สุทธิรัตน์ เก็บตัวอย่างเงียบเชียบ น้อยครั้งที่จะปรากฏตัวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

เฉลิม อยู่วิทยา คือภาพของนักธุรกิจไทยที่นำ “แบรนด์ไทย” ออกไปประกาศศักดิ์ศรีบนเวทีระดับโลก และยังมีธุรกิจ-ไลฟ์สไตล์ ส่วนตัวที่มากไปด้วยสีสัน

นอกจากจะเป็นผู้ถือหุ้น และรับผิดชอบประสานงานกับหุ้นส่วนในต่างประเทศแล้ว เฉลิม อยู่วิทยา ยังมีธุรกิจส่วนตัวที่สร้างชื่อ และทำรายได้ไม่น้อยเหมือนกัน หนึ่งในนั้นคือ กิจการเครื่องดื่มในนาม บริษัท สยาม ไวเนอรี่ จำกัด ผู้ผลิตไวน์แบรนด์ไทย อาทิ “มอนซูน แวลลี่ย์” มีไร่องุ่นขนาดใหญ่อยู่ในหลายจังหวัด

รวมถึงเครื่องดื่ม “สปาย ไวน์คูลเลอร์” ทำตลาดภายในประเทศและส่งไปจำหน่ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก พร้อมกับเป็นผู้นำเข้าไวน์ แชมเปญแบรนด์ดังเข้ามาจำหน่ายอีกด้วย

และด้วยความหลงใหลในยนตรกรรมแห่งความเร็ว รวมถึงกีฬามอเตอร์สปอร์ต เฉลิม อยู่วิทยา และเพื่อนสนิทในตระกูลภิรมย์ภักดี ผู้เป็นเจ้าของเครื่องดื่มแบรนด์สิงห์ ก็ตกเป็นข่าวมาตั้งแต่ต้นปี 2555 ว่า จะเป็นแกนหลักในการผลักดันให้เกิดการลงทุน “สนามแข่งรถสูตร 1” ขึ้นในประเทศไทย

ด้วยความฝันและมองไกลไปถึงอนาคตว่า เมื่อมีแรงสนับสนุนจากทีม “เรดบูล เรซซิ่ง” และหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โครงการลงทุนสร้างสนามแข่งขันรถสูตร 1 หรือ ฟอร์มูล่า 1 ในประเทศไทยก็จะเป็นจริงได้เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์ทำสำเร็จมาแล้ว และกลายเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยว ก่อประโยชน์ให้กับประเทศมหาศาล

นั่นยังไม่ชัดเจนเท่ากับ การลงทุนร่วมกันระหว่าง 2 ครอบครัวดัง “วุฒา ภิรมย์ภักดี” และ “เฉลิม อยู่วิทยา” เปิดบริษัท คาวาลลิโน มอเตอร์ จำกัด (Cavallino Motors Co., Ltd.) โดยบริษัทดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจาก Ferrari S.p.A และ Ferrari APAC ให้เป็นตัวแทนจำหน่าย และซ่อมบำรุงรถยนต์เฟอร์รารี่ แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

เฉพาะ เฟอร์รารี่ รุ่น แคลิฟอร์เนีย ที่นำมาเปิดตัวพร้อมกับการเปิดบริษัทให้ผู้รักความเร็วได้จับจองนั้น แต่ละคันก็มีราคาตั้งแต่ 26 ล้านบาทขึ้นไปแล้ว

ความรักและหลงใหลในรถยนต์ประสิทธิภาพสูงของ “เฉลิม” ยังส่งผ่านไปสู่ทายาทของเขา โดยลูกชายทั้ง 2 คนได้แก่ ปอร์เช่-วาริท อยู่วิทยา และ บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งได้เข้ามาร่วมดูแลธุรกิจนำเข้ารถยนต์หรู ตั้งแต่เริ่มเปิดกิจการนั่นเอง

ภาพ 2 ด้านของทายาทตระกูล “อยู่วิทยา” แสดงความแตกต่างอย่างชัดเจนและเป็นที่รับรู้ในแวดวงธุรกิจถึงสไตล์ที่แตกต่าง

ด้านหนึ่ง สราวุฒิ เดินตามรอยบิดา เฉลียว อยู่วิทยา ที่เก็บตัวและทำแต่งาน ขณะที่ สุทธิรัตน์ บุตรสาวคนสำคัญก็รับหน้าที่ในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมของกระทิงแดง พร้อมทั้งสืบทอดวิธีคิดหลายๆ เรื่องชนิดถอดแบบกันมาเลยทีเดียว

อีกด้านหนึ่ง เฉลิม อยู่วิทยา เลือกที่จะปรากฏตัวอยู่กับแสงสปอตไลต์ที่ส่องจับมาที่เขาอยู่ตลอด เนื่องเพราะรูปแบบของธุรกิจที่เขาทำ การรับภาระในการทำงานด้านการตลาดในต่างประเทศ ฯลฯ

มีข่าวคราวในหน้าสังคมกล่าวถึงบทบาทของเฉลิม ทั้งในฐานะผู้บริหารธุรกิจระดับข้ามชาติ, ความกล้าฝันในการคิดโครงการใหญ่อย่างสร้างสนามฟอร์มูล่าวัน, การได้เป็นเจ้าของบ้านพักตากอากาศ “บ้านบ่อจืด” มูลค่ากว่า 200 ล้านที่หัวหิน ฯลฯ

เป็นบทบาทที่มากด้วยสีสัน ตามสไตล์ที่เขาเลือกที่จะเป็น

และนั่นก็เป็นผลพวงให้สปอตไลต์ของสังคมจับจ้องมาที่ครอบครัวของ เฉลิม อยู่วิทยา มากเป็นพิเศษ หลังเกิดเหตุที่ บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ขับเฟอร์รารี่ ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต

ผลลงเอยในท้ายที่สุดจะออกมาอย่างไร ทุกประเด็น ทุกรายละเอียด ย่อมถูกจับตามาเป็นพิเศษด้วยเช่นเดียวกัน