เผยแพร่ |
---|
ที่สะท้อนจากการจัดตั้ง “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง 1” แพทองธาร ชินวัตร ที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรวบรวมพรรคต่างๆ เข้าร่วมรัฐบาล
ล่าสุด คืบไปอีกขั้น จาก “รัฐบาลข้ามขั้ว” คือเป็นพรรคเพื่อไทยอันยืนหยัดอยู่ฟาก “เสรีนิยมประชาธิปไตย” มาแต่เริ่มต้น ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ “พรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยคณะรัฐประหาร” เป็น “อำนาจนิยมสืบทอดอำนาจ”
ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศ ใน “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” ก้าวอีกขั้นสู่การเป็น “รัฐบาลข้ามอดีต” สู่การดึง “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งกับ “พรรคเพื่อไทย” ต้องถือว่าไม่ใช่แค่ “พรรคคู่แข่ง” แต่เป็น “พรรคศัตรูทางการเมือง” ที่หากเป็นสถานการณ์ปกติ อย่างคนปกติที่ความรัก ความแค้นยังเป็นแรงขับให้เกิดความคิดเพื่อตัดสินใจไม่มีทางมองเห็นความเป็นไปได้เลยที่ไว้วางใจมาทำงานร่วมกัน
“ครอบครัวชินวัตร” เสริมสร้างพรรคการเมืองเพื่อเข้ามามีบทบาทควบคุมอำนาจรัฐบริหารประเทศในชื่อ “ไทยรักไทย” ชนะ “ประชาธิปัตย์” ในสนามเลือกตั้ง ส่ง “ทักษิณ ชินวัตร” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ถูกจัดการต่อต่อต้านด้วยมวลชนและกลไกอำนาจโดย “ประชาธิปัตย์” แสดงออกชัดเจนว่ามีส่วนร่วมอย่างสูงยิ่ง เกิดรัฐประหาร
ทำให้ “ทักษิณ” ต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศซึ่งยาวนานสืบเนื่องมาถึง 17 ปี “ธุรกิจและครอบครัว” ได้รับผลกระทบทุนแรง
“ไทยรักไทยถูกยุบ” เปลี่ยนมาเป็น “พรรคพลังประชาชน” ต่อสู้ในสนามเลือกตั้งไม่ยอมถอย ท่ามกลางการถูกเล่นงานหนัก ในด้าน “พลังประชาชน” ยิ่งชนะ “ประชาธิปัตย์” หนักขึ้น ปฏิบัติการ “ตุลาการภิวัฒน์” ยุบ “พลังประชาชน”
“พลังประชาชน” ที่มี “มวลชนเสื้อแดง” สนับสนุน เคลื่อนไหวต่อต้าน ถูกปราบปรามอย่างหนักจากอำนาจรัฐภายใต้การบริหารประเทศของ “พรรคประชาธิปัตย์” เกิดการสังหารกลางเมือง “คนเสื้อแดง” บาดเจ็บล้มตายมากมายจนต้องยอมพ่ายแพ้ไปพร้อมกับบาดแผลลึกในใจเกินกว่าจะคลายความเจ็บปวดที่เกิดจากความทรงจำอันรวดร้าว
แม้เมื่อ “พลังประชาชน” เปลี่ยนชื่อมาเป็น “พรรคเพื่อไทย” ผลที่ออกมา “ประชาธิปัตย์” ยิ่งพ่ายแพ้อย่างหมดสภาพ ที่สุดก่อขบวนการล้มอำนาจรัฐ “สมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์” ชักแถวกันออกมา “เป่านกหวีด” ต่อต้านรุนแรงจนเกิดรัฐประหารอีกครั้ง
ทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ถูกส่งมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ จนถึงทุกวันนี้
อย่างที่บอก การต่อสู้ที่ยาวนานมาเกือบ 20 ปีที่ส่งผลต่อกันและกันรุนแรง ใครจะเชื่อว่าวันนี้ “พรรคของครอบครัวชินวัตร” จะร่วมงานกับ “ประชาธิปัตย์” ในฐานะ “พรรคร่วมรัฐบาล” และความไม่น่าเชื่อนี้เองทำให้ทุกคนต้องหันมามองอย่างสนใจจริงจังว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร
พรรคการเมืองที่สร้างฐานอำนาจจากการเสนอตัวให้ประชาชนเลือก ที่สำเร็จในประเทศไทย เป็นพรรคที่มีพลังต่อรองร่วมจัดตั้งรัฐบาลมีการสร้างฐานเสียงอยู่ 3 แบบใหญ่ๆ
หนึ่ง คะแนนนิยมมาจากความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ไม่ว่าจะเชื่อในศรัทธา เชื่อในฝีมือความสามารถในการสร้างผลงาน หรืออื่นๆ ได้รับเลือกตั้งจากกระแสศรัทธาประชาชน
สอง เป็นพรรคที่รวบรวมผู้มีบารมีในพื้นที่เขตเลือกตั้งไว้ได้ เป็นบารมีที่ได้จากการเป็นผู้ที่หวังพึ่งได้จากคนในท้องถิ่น ใจคอกว้างขวางซึ่งพิสูจน์ได้โดยการแสดงให้เห็นความพร้อมที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ให้ มีเครือข่ายที่จะดูแล หรืออาจจะเลยถึงควบคุมชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ อาศัยความเป็น “บ้านใหญ่ ใจถึง พึ่งได้” สร้างฐานเสียง
สาม เป็นพรคที่รวมทั้ง 2 แบบข้างต้นมาประสานทำงานร่วมกัน
พรรคประชาธิปัตย์เป็นประเภทที่หนึ่ง พยายามอยู่หลายครั้งที่จะปรับตัวมาคลุมประเภทที่ 2 เป็นประเภทที่ 3 แต่ไม่สำเร็จนักเพราะติดระเบียบโครงสร้างระบบบริหารพรรคเก่าแก่ที่ไม่ยืดหยุ่น
พรรคครอบครัวชินวัตร การบริหารมีความคล่องตัว เป็นอิสระจัดการได้ตามความเป็นจริงของสถานการณ์ พร้อมกับผู้บริหารเป็นผู้มีความรู้ สามารถสร้างผลงานเป็นที่ศรัทธา ก่อกระแสความชื่นชอบให้ประชาชนได้ ทำให้เป็นพรรคประเภทที่ 3 เพราะพรรคแบบที่ 3 มีฐานทั้งกว้างและลึกกว่า เมื่อยิ่งมีผู้เห็นประโยชน์จากความสำเร็จมาเข้าร่วมมาก ยิ่งทำให้แข็งแกร่งจนมองไม่เห็นทางว่า “ประชาธิปัตย์” ซึ่งยิ่งช่วงหลังแปรเปลี่ยนแนวทางไปเข้าร่วม “อำนาจนิยม” ทำให้สูญเสียศรัทธาจากฐานเดิม ทางเดินทางการเมืองยิ่งตีบตัน
ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเป็นสัญญาณชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงการพ้นไปจากพรรคแบบที่ 1 ตอกย้ำด้วยการเปลี่ยนคณะผู้บริหารพรรคว่าเป็นการยอมเปลี่ยนแนวทางมาเลือกเป็นพรรคประเภทที่ 2
นั่นย่อมหมายความว่าจะต้องต่อสู้กับ “พรรคส่วนใหญ่” ที่ต่างเลือกเดินในทางนี้ “พรรคบ้านใหญ่ ของคนใจถึงพึ่งได้” คือต้องสะสมบารมีสร้างเครือข่ายการช่วยเหลือให้ประชาชนไม่ผิดหวังในการพึ่งพา การสะสมเครื่องไม้เครื่องมือ ทุนที่จะใช้ในการบริหาร บารมีและเครือข่ายคือความจำเป็น เพราะการได้มีส่วนร่วมในอำนาจรัฐเป็นโอกาสทั้งในส่วนการใช้อำนาจของกลไกราชการสร้างบารมี และการใช้งบประมาณรัฐไปดูแลประชาชน
แต่ดูเหมือนว่า “พรรคประชาธิปัตย์” จะคืบไปคืนจุดเดิมไม่ได้แล้ว
ผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “เสียงพี่น้องชาวใต้ถึงพรรคประชาธิปัตย์”
การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 54.19 ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 14.58 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 12.98 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 11.91 ค่อนข้างเห็นด้วย และร้อยละ 6.34 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.37 ไม่เลือก, ร้อยละ 41.15 ยังไม่แน่ใจ, ร้อยละ 17.48 ระบุว่า เลือก
เพราะภาคใต้เป็นความมั่นคงถาวรที่สุดของความเชื่อความศรัทธาต่อพรรคประชาธิปัตย์ มีผลออกมาเช่นนี้ นั่นคือการตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจาก “จบแล้ว ไม่เหลือแล้ว” สำหรับที่ให้ยืนในพื้นที่ของ “พรรคแบบที่ 1”
สำหรับ “เพื่อไทย” ในความหมายของ “คู่แค้นทางการเมือง” การเปิดให้เข้าร่วมรัฐบาล เป็นการต้อนให้ “ประชาธิปัตย์” ต้องมาสู้กันในสนามของ “พรรคแบบที่ 2” ซึ่งความพร้อมยังห่างกันคนละเบอร์ ไม่ต่างอะไรกับการ “ตอกฝาโลง” ให้ประชาธิปัตย์
ด้วยผู้คนในนั้นได้แค่รอวันถูกดูดกลืนจาก “บ้านใหญ่กว่า” และต้องเดินตาม “คนใจถึงพึ่งได้กว่า” ต้อยๆ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022