รวมวาทกรรมการเมือง “ซ้ายจัดดัดจริต-ฮ่องเต้ซินโดรม” ส่งท้าย ‘บิ๊กแดง’ กลางดงรัฐประหาร

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

หมายเหตุ : บทความเผยแพร่ครั้งแรก 11/09/2020

ประวัติศาสตร์ ทบ. หน้าของบิ๊กแดง พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. กำลังจะถูกปิดฉากลงทันทีที่ส่งธงผู้บังคับบัญชาในนาม ผบ.ทบ. ให้บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผช.ผบ.ทบ. ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ 30 กันยายน 2563

ผบ.ทบ.ที่ถูกจับตามองตั้งแต่ต้นว่า ในช่วงเวลาที่นั่งคุมกำลังทหารกว่า 4 แสนคน พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น เขาจะก่อการรัฐประหารหรือไม่

ด้วยจุดยืน บทบาททางการเมือง และการแสดงออกที่ชัดเจนมาตลอดช่วงที่เป็นนายทหาร ทั้งการปกป้องสถาบัน ต่อกรกับขบวนการล้มเจ้า

โดยเฉพาะเกือบ 2 ปีที่เป็น ผบ.ทบ. กับวาทกรรมที่ทำให้การเมืองร้อน จากการให้สัมภาษณ์ บรรยาย และตั้งโพเดียม ขึ้นเวที

 

ตั้งแต่วันแรกที่เป็น ผบ.ทบ. ก็ไม่อาจยืนยันว่าจะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ถ้าตราบใดที่การเมืองไม่เป็นสาเหตุของการจลาจล เผาบ้านเผาเมือง

และการแนะนำนักการเมืองฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” วิทยุทหารเปิดเพลงหนักแผ่นดิน

รวมทั้งวาทะ “ซ้ายจัด ดัดจริต คิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง” กระทบชิ่งขบวนการล้มเจ้า

หรือแม้แต่ “ฮ่องเต้ซินโดรม” สงครามไฮบริด สงครามลูกผสม วิกฤตตัวแทน Proxy Crisis ทฤษฎีสมคบคิด

และให้ความสำคัญกับสงครามโซเชียลมีเดีย ที่ พล.อ.อภิรัชต์ศึกษามาตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 FM7-0 เรื่อง คู่มือการเอาชนะในโลกที่มีความซับซ้อน

พร้อมแนะนำหนัง ทั้ง The Great Hack, The Politician, The Hater ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียในทางการเมือง

พล.อ.อภิรัชต์พุ่งเป้าไปที่กลุ่ม “ชังชาติ” ตั้งแต่การจูงสุนัขทหาร ชื่อ Zeebra และเขียนบทความสั้น เทียบสุนัขยังดีกว่าพวกชังชาติ

ก่อนมาถึงยุคโควิด ที่ว่า “โควิดเป็นแล้วหาย แต่โรคที่เป็นแล้วไม่หาย คือโรคชังชาติ”

ที่แม้ภาพลักษณ์จะเป็นนายทหารที่ห้าวหาญ แนวฮาร์ดคอร์ แต่กลับมีความอ่อนไหว ที่ทำให้ต้อง “น้ำตาคลอ” จากหลายเหตุการณ์ตั้งแต่การไปกราบชื่อบิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ บิดา ที่ทำเนียบนามอดีต ผบ.ทหารสูงสุด ที่ บก.ทัพไทย

จนมาถึงการแถลงขอโทษประชาชน จากเหตุการณ์จ่าทหารกราดยิงที่โคราช พร้อมหลั่งน้ำตา

ที่สำคัญ แม้จะมีการใช้วาทกรรมกระทบกันไปมา แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็ยังเคยนัดคุย ว.5 กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่

แต่ที่สุด พรรคอนาคตใหม่ก็โดนยุบพรรค

ก่อนที่ พล.อ.อภิรัชต์จะเดินหน้าชนเต็มสตีม ในการขึ้นเวทีบรรยายพิเศษ แผ่นดินของเรา ที่มีวาทกรรม “ฮ่องเต้ซินโดรม” และประกาศห้ามแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 หมวดพระมหากษัตริย์ ตามมาด้วยวาทกรรมที่พุ่งเป้าไปที่พวกชังชาติ

ด้วยวาทกรรมและท่าทีต่างๆ ประกอบกับสถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษา การชูสามนิ้ว และข้อเรียกร้องเรื่องสถาบัน

รวมทั้งจะมีการชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน 2563 และยกระดับการชุมนุม ทั้งการค้างคืนและการยึดสนามหลวง จึงทำให้เกิดกระแสข่าวลือรัฐประหารส่งท้าย ก่อนที่ พล.อ.อภิรัชต์จะเกษียณราชการ

เพราะ พล.อ.อภิรัชต์มิใช่เป็นแค่ ผบ.ทบ. แต่ยังเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 หัวหน้าทีมทหารคอแดงอีกด้วย

อีกทั้งเป็นช่วงที่ ทบ.มีการเคลื่อนย้ายกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปฝึกภาคสนามในหลายพื้นที่ หลังจากที่เลื่อนมาจากช่วงโควิดระบาด

แต่ที่ยิ่งโหมข่าวลือคือ การฝึกภาคสนามครั้งใหญ่ของกรมเฉพาะกิจ พร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว RDF ที่วังน้ำเขียว โคราช ที่มีกำลังทหารร่วมฝึกมากถึง 3,881 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ฝึกตั้งแต่ 29 สิงหาคม และเคลื่อนกำลังกลับ ทั้งเหนือ อีสาน กลาง กทม. 8-9 กันยายน 2563

แถม พล.อ.อภิรัชต์พร้อมด้วย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผช.ผบ.ทบ., ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ พร้อมแม่ทัพนายกอง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฝึกการใช้กระสุนจริงด้วยตนเอง ก็ยิ่งกระพือข่าวลือ

จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ออกอาการเมื่อถูกนักข่าวถามถึงกระแสข่าวรัฐประหาร พร้อมบอกว่า เลอะเทอะ

จน พล.อ.อภิรัชต์ต้องย้ำคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อนักข่าวตามถามกระแสข่าวรัฐประหาร

และ พล.อ.อภิรัชต์ต้องสั่งการให้ทีมโฆษก ทบ.ออกมาสยบข่าวลือ พร้อมสั่งให้ใช้สื่อของ ทบ.ในการทำความเข้าใจกับประชาชน

และสยบข่าวลือรัฐประหาร

แต่เพราะที่ผ่านมา ก่อนรัฐประหารมักมีข่าวลือมาก่อน และมักจะกลายเป็นจริงในอดีต จึงไม่สามารถจะสยบข่าวลือได้

แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะออกมาสยบข่าวลือรัฐประหารด้วยตนเอง ด้วยการระบุว่า “ไม่ต้องกังวล มันจะไม่เกิดขึ้นอีก” ก็ตาม

แต่นั่นคงหมายถึงในห้วงเวลาที่ พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ.เท่านั้น ที่ก็เหลือเวลาอีกแค่ 2 สัปดาห์ก็จะเกษียณแล้ว

ทำให้ต้องมีการจับตามองไปที่ ผบ.ทบ.คนใหม่อย่าง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กับสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น ทั้งการชุมนุม และการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก

จนฝ่ายความมั่นคงมองว่า เป็นแผนที่จะบีบให้ทหารออกมา แต่จะยืดเยื้อจน พล.อ.อภิรัชต์เกษียณ หรือจะเร่งปฏิกิริยาให้จบในกันยายน

จึงไม่แปลกที่ท่าทีของ พล.อ.อภิรัชต์จะเหมือนไม่ค่อยชัดเจน เพราะรู้กันดีว่าการรัฐประหารในยุคนี้ไม่ใช่จะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะโครงสร้างกำลังรบของ ทบ.ปรับเปลี่ยนไปแล้ว ผบ.ทบ.ไม่สามารถสั่งการใช้กำลังบางหน่วยของ ทบ.ได้

ดังนั้น พล.อ.อภิรัชต์จึงย้ำคำว่าเกษียณ และต้องการให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ตนเองจะไม่ทำรัฐประหาร