เผยแพร่ |
---|
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยวิทยาลัยครีเอทีฟ ดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT) จัดงาน “Art & Tech in Storytelling: สร้างแรงบันดาลใจ สู่เนื้อหาที่โดนใจในยุคดิจิทัล” ในวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2568 ณ Makerspace ชั้น 3 อาคาร 6 ศูนย์การเรียนรู้และหอสมุด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียน บุคลากรในวงการสื่อ และผู้ที่สนใจด้านเทคโนโลยีและการเล่าเรื่อง ได้สัมผัสประสบการณ์สร้างสรรค์เนื้อหาในยุคดิจิทัลผ่านนิทรรศการผลงาน และเวทีเสวนากับผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ
งานแบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก โดยใน “ช่วงเช้า” เริ่มต้นด้วยพิธีเปิดโดย อาจารย์คมสันต์ สุขวิญญา หัวหน้าหลักสูตรสาขาวิชาอินเตอร์แอคทีฟดิจิทัลอาร์ต วิทยาลัยครีเอทีฟ ดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน พร้อมเน้นย้ำถึง ความสำคัญของการสร้างเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัล ที่ผสมผสานศิลปะและเทคโนโลยี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารในยุคที่เนื้อหาต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้น
จากนั้นเป็นการนำเสนอผลงานของผู้เรียนหลักสูตร Creative Storytelling – Module 3: Visual Storytelling ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จำนวน 9 ทีม ซึ่งแต่ละทีมแสดงได้แนวคิดและความสามารถ ในการผสมผสานศิลปะและเทคนิคการตลาดอย่างลงตัว เพื่อดึงดูดความสนใจในยุคดิจิทัล โดยมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน ได้แก่ 1.คุณทรงพล สังข์สวน ศิลปินวาดสตอรี่บอร์ด 2.คุณบัณฑิต ทองดี ผู้กำกับภาพยนตร์ 3.คุณปัญญา ผาสุกโกวิทสิริ Director / Production Manager, MITTA STUDIO 4.คุณศรัณยู กังวานรุ่งเรือง Creative Copywriter จาก Yell Advertising และ 5.คุณสรลักษณ์ วงษ์เสรี กรรมการ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกไทย (TACGA) และ CEO EEZ Studio เป็นผู้ร่วมตัดสินและมอบคำแนะนำ
โดยทีมที่ชนะเลิศคือ Strong Step (A Strong Life Come With Strong Steps) โดย นาย วสันต์ อินดี นาย นนทชัย ไม้อบเชย และ นาย อนุสรณ์ กาญจนางกูร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ เรื่องเล่าประชาชื่น/Luna – Smooth on the Moon และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ตกเป็นของ มั๊นซ์ มันส์ซิคะ/ “มันซ์ มิกซ์ฟรุ๊ต” มันฝรั่งอบกรอบผสมผลไม้
ทั้งนี้ ภายในงานยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นกระบวนการสร้างสรรค์ของผู้เรียน ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงการผลิตผลงานจริงออกสู่สายตา โดยผู้เรียนได้นำเสนอ Campaign Roadmap แสดงเบื้องหลังการทำงาน แนวคิดการพัฒนาโครงการ และวิธีการเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัล
สำหรับ “ช่วงบ่าย” งานต่อเนื่องด้วยการเสวนาหัวข้อ “การเล่าเรื่อง: วิทย์สร้างศาสตร์ ศิลป์สร้างสไตล์” โดย “ดร.แทนไท ประเสริฐกุล” อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักเขียน นักแปล และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์วิทยาศาสตร์ WiTcast และ Weird ทยาศาสตร์ ช่อง Salmon Podcast และ “คุณนทธัญ แสงไชย” นักพิสูจน์อักษร นักเขียน บรรณาธิการ ครีเอทีฟ โปรดิวเซอร์และผู้อำนวยการสถานีพอดแคสต์
โดยมี ผศ. ดร.วิลาวัลย์ อินทร์ชำนาญ คณบดีและอาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมเว็บและการพัฒนาแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์พกพา วิทยาลัยครีเอทีฟ ดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกกรม ก่อนจะพูดคุยกันถึงพลังของการเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงศาสตร์กับศิลป์เข้าด้วยกัน และจะทำอย่างไรให้เรื่องราวของเรา “สร้างแรงบันดาลใจ” และ “ถ่ายทอดสาระ” ให้เข้าถึงผู้ฟังในยุคดิจิทัล
โดยสิ่งที่วิทยากรได้แลกเปลี่ยนให้กับผู้เรียนคือ หัวใจสำคัญของการเล่าเรื่องที่น่าสนใจเริ่มต้นจากการมี “วัตถุดิบ” ที่ดึงดูด ดร.แทนไทเปรียบงานนี้เสมือนเชฟที่ออกตามหาวัตถุดิบชั้นเลิศในวิทยาศาสตร์ หยิบยกเรื่องราวที่คนทั่วไปคาดไม่ถึงมานำเสนอ ขณะที่คุณนทธัญมักดึงเรื่องราวจากตำนานและพุทธประวัติ มานำเสนอในมุมมองใหม่ๆ
เมื่อได้วัตถุดิบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการ “ปรุง” เรื่องราวให้น่าสนใจและแตกต่าง คุณนทธัญยกตัวอย่างการเล่าเรื่องพระโมคคัลลานะในรูปแบบครู โดยเปิดเรื่องด้วยภาพบาดเจ็บก่อนย้อนอดีต ดร.แทนไทเปรียบการปรุงเรื่องราวเหมือนการทำอาหาร ที่ต้องมีการ “สับ” และ “เหยาะเครื่องปรุง” อย่างลงตัว เคล็ดลับคือการเริ่มต้นอย่างน่าสนใจ สลับลำดับเหตุการณ์ ใส่ “เครื่องปรุง” ที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น อารมณ์ขัน หรือมุกตลก และสร้างความ “เซอร์ไพรส์”
การเล่าเรื่องที่มีประสิทธิภาพต้องผสมผสาน “ศาสตร์” (เนื้อหา) และ “ศิลป์” (วิธีการนำเสนอ) คุณนทธัญเน้นว่าศิลป์คือเทคนิคที่ทำให้ศาสตร์น่าสนใจ ดร.แทนไทเสริมว่าวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนต้องอาศัยศิลปะในการย่อยและถ่ายทอด เคล็ดลับคือการเข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง ปรับภาษาให้เข้าถึงง่าย ใช้เทคนิคการเปรียบเทียบ และสร้างสมดุลระหว่างความรู้และความสนุก
การสร้าง “เอกลักษณ์” เฉพาะตัวจะทำให้เรื่องเล่าโดดเด่น ดร.แทนไทกล่าวว่าถ้ามีตัวตนชัดเจน คนก็จะอยากฟัง ส่วนคุณนทธัญมองว่าเอกลักษณ์มาจากการสั่งสมประสบการณ์ เคล็ดลับคือการเป็นตัวของตัวเอง ใส่ความชอบส่วนตัว และสร้าง “รสชาติ” ที่เป็นเอกลักษณ์
ในยุคดิจิทัล การปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ นักเล่าเรื่องต้องใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มต่างๆ สร้างสมดุลระหว่างคอนเทนต์สั้นและยาว คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และความเป็นธรรมชาติ ทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างระมัดระวัง สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง และต่อยอดเรื่องราวในหลากหลายรูปแบบ
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการเสวนายังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้สอบถามเรื่องต่างๆ อย่างใกล้ชิด เกี่ยวกับการสร้างสรรค์เนื้อหาและการเล่าเรื่อง ซึ่งทั้งคู่ได้ให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมา
สำหรับงาน “Art & Tech in Storytelling” ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ Storytelling ในยุคดิจิทัลที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศิลปะการเล่าเรื่องเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัย เทคโนโลยี การตลาด และความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาเนื้อหาที่มีคุณค่า จับใจผู้ชม และสร้างผลกระทบในวงกว้าง โดยวิทยาลัยครีเอทีฟ ดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี ยังคงเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนา ทักษะด้าน Creative Storytelling ผ่านหลักสูตร Reskill – Upskill เพื่อเตรียมบุคลากรให้พร้อมสำหรับอุตสาหกรรม คอนเทนต์ และเทคโนโลยีในอนาคตของประเทศไทย
ผู้สนใจกิจกรรมในด้านนี้สามารถติดตามได้ที่ https://www.dpu.ac.th/th/college-of-creative-design-and-entertainment-technology