เผยแพร่ |
---|
“คนรุ่นใหม่เท่ได้ไม่ต้องสูบ” จุดกระแสตื่นรู้ ไม่สูบ ลดเสี่ยง สร้างสังคมปลอดบุหรี่ในเดือนแห่งความรัก พร้อมเวิร์กช็อปสื่อสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
เครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ “คนรุ่นใหม่เท่ได้ไม่ต้องสูบ Smart No Smoking” ภายใต้ธีม รักตัวเอง ไม่สูบ ลดเสี่ยง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระแสความตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีบทบาท ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่อนาคตที่ปลอดบุหรี่ แก่เยาวชน ครู และอาจารย์ พร้อมพัฒนาเครือข่ายเยาวชนในการสื่อสารและสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ในสังคม โดยมีกลุ่มผู้เข้าร่วมจากโรงเรียนต่างๆ ทั้งจากกรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี รวมแล้วกว่า 100 คน ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา
สำหรับกิจกรรมตลอดแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงเช้าเป็นการเสริมสร้างความรู้เท่าทันภัยผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านกระบวนการการเรียนรู้ เรื่องสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน และผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันในการดูแลสุขภาพของตนเอง ส่วนช่วงบ่ายเป็นการอบรมการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ คนรุ่นใหม่ Smart No Smoking โดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผ่านกิจกรรมปั้นคอนเทนต์ โดย คณะนิเทศศาสตร์ กิจกรรมออกแบบโปสเตอร์ โดย คณะศิลปกรรมศาสตร์ และ กิจกรรมออกแบบ 2D Character Design โดยวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT) ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถสื่อสารประเด็นทางสังคมผ่านสื่อรณรงค์รูปแบบใหม่ๆ ที่ทำขึ้นเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดไอเดียให้กลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่
นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวโน้มการบริโภคยาสูบในสังคมไทย โดยระบุว่า ในอดีต การสูบบุหรี่เคยถูกมองว่าเป็นเทรนด์และเป็นสัญลักษณ์ของความเท่ ผ่านการนำเสนอของสื่อในรูปแบบต่างๆ ซึ่งนักแสดงและบุคคลมีชื่อเสียงมักปรากฏผ่านสื่อสาธารณะในขณะที่สูบบุหรี่ ส่งผลให้เกิดกระแสเลียนแบบในหมู่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ ทำให้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแนวความคิด เกิดความเข้าใจถึงอันตรายจากบุหรี่ทุกประเภท และ รังเกียจการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
นายแพทย์ทศพร เปิดเผยว่า ตนรู้สึกยินดีที่เครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ได้ร่วมมือกับคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในการส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับโทษของบุหรี่ ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมปลอดภัยสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ผ่านการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์
ทั้งนี้ นายแพทย์ทศพรยังเน้นย้ำว่า “ความรักที่สำคัญที่สุดคือความรักที่เรามีต่อตัวเอง” ซึ่งหมายถึงการดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง และเลือกเส้นทางชีวิตที่ดีเพื่อตนเองและคนรอบข้าง พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่มีสุขภาพดี ห่างไกลจากบุหรี่และสารเสพติด เพื่ออนาคตที่แข็งแรงและยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัณฑ์กานต์ ดวงรัตน์ รองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้เห็นถึงศักยภาพของนักเรียนในการพัฒนาเพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งในอดีตเคยเป็นแฟชั่น แต่ปัจจุบันกลับถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้นในฐานะนักเรียนคนรุ่นใหม่สามารถใช้ความสามารถของตัวเอง ทำสื่อรณรงค์เพื่อลดการสูบบุหรี่ผ่านกลยุทธ์การสื่อสารใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ และหวังว่าทุกคนจะนำสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้นำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์กับตัวเอง
“ทั้งนี้จากที่วันนี้เห็นผู้นำนักเรียน เด็กกิจกรรมกว่า 25 โรงเรียนมารวมตัวกัน ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ขอประชาสัมพันธ์ว่า เรามีทุนการศึกษาแก่นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีผลการเรียนดี และผู้ที่เป็นผู้นำในโรงเรียน เช่น ประธานนักเรียน ในโครงการ “ทุนเรียนดี” และ “ทุนฮีโร่”โดยสามารถสมัครผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยได้จนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2568 และจะมีการสอบคัดเลือกในวันที่ 25 มีนาคม 2568 ทั้งนี้นักเรียนที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัณฑ์กานต์ กล่าว
คุณสุทธิชารัชต์ คำสองสีภัคนนท์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. มีความห่วงใยต่อปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในหมู่เยาวชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม โดยได้ดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้นภายใต้แนวทางสร้างค่านิยม “ไม่เอา ไม่ใช้ บุหรี่ไฟฟ้า” พร้อมส่งเสริมความรู้เท่าทันถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าและสารเสพติดแก่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้สถานศึกษาในสังกัดเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองเพื่อให้ช่วยดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
นางสาวยศวดี ดิสสระ ผู้อำนวยการเครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ กล่าวว่าสุขภาพของเด็กและเยาวชน คือ สิ่งที่ประเทศต้องให้ความสำคัญ เพราะคนกลุ่มนี้คืออนาคตของประเทศ การดูแลสุขภาพที่ดีไม่เพียงส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเติบโตอย่างมีคุณภาพในสังคมโดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยเสี่ยง การสานพลังภาคีเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในครั้งนี้ จึงเป็นมากกว่าการรวมตัวกันขององค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่คือการขับเคลื่อนพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน ปราศจากสิ่งกระตุ้นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จุดประกายให้เกิดกระแสสังคมที่สนับสนุนการใช้ชีวิตที่ปลอดบุหรี่และสารเสพติด พร้อมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ มีความมั่นใจในตนเอง และเติบโตมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้ เวทีสาธารณะ “คนรุ่นใหม่เท่ได้ไม่ต้องสูบ” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเยาวชนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ปลอดภัยจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าด้วยพลังของการสื่อสารสร้างสรรค์ เป็นก้าวสำคัญในการสร้างสังคมไทย ที่ปลอดภัยและมีสุขภาวะที่ดี เพราะเยาวชนไม่ได้เป็นเพียงอนาคตของชาติ แต่คือพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในฐานะผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง โดยข้อเสนอเชิงนโยบายและผลงานสื่อรณรงค์จากเด็กและเยาวชนผู้เข้าร่วมในครั้งนี้ จะถูกนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจ ณ รัฐสภาอีกครั้งในกิจกรรมเวทีสาธารณะวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568