2025 : คาดไม่ได้ คิดไม่ถึง

สุทธิชัย หยุ่น

ช่วงหลังนี้ มีใครมาบ่นให้ฟังว่าไม่รู้ปีหน้าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ดูๆ แล้วจิตใจวังเวงอย่างไรชอบกล

เพราะยังมองไม่ออกมาจะมีเรื่องร้ายๆ อะไรรออยู่บ้าง

ข่าวดีๆ ก็มีจำกัดจำเขี่ยเหลือเกิน

ผมต้องปลอบใจ (เหมือนที่ปลอบตัวเองทุกวัน) ว่า

ข่าวร้ายคือไม่รู้ว่าจะเกิดอะไร

ข่าวดีคือคนอื่นก็ไม่รู้เหมือนเรา

และต้องเชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ว่า

อาวุธที่สำคัญที่สุดของเขาคือ Unpredictability

คือเมื่อไม่มีใครคาดเดาเขาถูก คนฝั่งตรงกันข้ามก็วางแผนต่อสู้เราลำบาก

นั่นอาจจะเป็นข่าวดีของทรัมป์

และข่าวร้ายที่ตามมาก็คือ

เขาเองก็ยังเดาตัวเองไม่ถูกเลยว่าพรุ่งนี้เขาจะทำอย่างที่เขาพูดวันนี้หรือเปล่า!

 

แต่ที่เราท่านรู้แน่ๆ คือเมื่อเราก้าวเข้าสู่ปี 2025 ไม่ต้องถามหมอดูก็รู้ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง “ความไม่แน่นอนอย่างแน่นอน”

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงพลิกผันด้วยความเร็วที่และผันผวนที่ไม่มีในตำราไหนทั้งสิ้น

เพราะเป็นความท้าทายระดับโลกที่เกิดจากเทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ก่อให้เกิดความรู้สึกถึงความคาดเดาไม่ได้ที่ซึมลึกในทุกมุมของชีวิตทุกผู้ทุกนาม

ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็จะเผชิญกับคำถามเดียวกันว่า : วันนี้เป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร

แม้เราจะรู้ปัจจัยของแต่ละเรื่องครบถ้วน แต่ก็ไม่มีใครแน่ใจว่าผลลัพธ์ที่ปลายทางจะเป็นอย่างไร

ที่คาดเดาไม่ได้อันดับต้นๆ ของปีใหม่นี้เรื่องหนึ่งคืออัตราเร่งของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ที่จะมาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ควอนตัม

กับที่ปฏิเสธไม่ได้คือเทคโนโลยีชีวภาพ

ที่กำลังจะปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมและสังคมในวิถีทางที่ลึกซึ้งเกินกว่าที่เราจะกล้าจินตนาการได้

 

ChatGPT-5 เป็นตัวอย่างของความผันแปรที่ไม่มีใครทำนายได้ว่าจะนำไปสู่อะไร

แม้เพียงในช่วง 3 เดือน 6 เดือน

เมื่อ AI พูดได้อย่างรู้เท่าทันมนุษย์ อีกทั้งยัง “ฉลาด” มากขึ้นตลอดเวลา คนบนโลกใบนี้จะสามารถวางใจในเทคโนโลยีว่าจะไม่หันมาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้กับสังคมอย่างไร

เรามาถึงจุดที่การแข่งขันเพื่อครอบครองความเป็นผู้นำในแวดวง AI มีส่วนยกระดับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว

เพราะแต่ละประเทศต่างยื้อแย่งแข่งขันกันเพื่อสร้างความได้เปรียบ และพยายามจะสกัดเส้นทางของชาติอื่น

เชื่อหรือไม่ว่านั่นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพโลกอย่างน่าหวาดหวั่นยิ่งนัก

ที่บอกว่า “คาดเดาไม่ได้” นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในตัวเทคโนโลยีเท่านั้น

แต่ยังหมายรวมถึงผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง ไม่ว่ามนุษย์จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

แค่ถามว่าใครเป็นคนคุมเกม? จะคุมอยู่หรือไม่? ใครจะเป็นคนกำหนดกติกาของการใช้เทคโนโลยี?

แค่ไม่กี่คำถามนี้ก็สร้างความอลหม่านให้กับสังคมโลกเกินกว่าที่จะตีกรอบให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้แล้ว

 

แต่ที่ผมห่วงไม่น้อยไปกว่าก็คือความปั่นป่วนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังจะปรากฏโฉมอย่างร้อนแรงในปีใหม่นี้

ภูมิรัฐศาสตร์ในปี 2025 จะนำมาซึ่งความแตกแยก, แตกคอ, ตีเส้นแบ่งมิตรและศัตรูอย่างร้อนแรง

สิ่งที่เรียกว่า “พันธมิตร” หรือคำถามว่าใครเป็นเพื่อน ใครเป็นปรปักษ์จะถูกนิยามใหม่หมด

เพราะโครงสร้างอำนาจดั้งเดิมกำลังถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็นมาก่อน

เมื่อประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่แข่งขันกับมหาอำนาจเดิม

แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนยังคงเป็นประเด็นหลัก

แต่ตัวละครอย่างอินเดีย บราซิล และกลุ่มภูมิภาคต่างๆ กำลังก่อร่างสร้างอิทธิพลบนเวทีโลกอย่างเร่าร้อน

โดนัลด์ ทรัมป์ จะยุติสงครามยูเครนได้หรือไม่ไม่สำคัญเท่ากับคำถามที่ว่าแม้จะระงับศึกสงครามได้ การแบ่งสรรอำนาจในสมการใหม่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งรูปแบบใหม่หรือไม่อย่างไร

เมื่อทรัมป์เอาตัวออกห่าง และตั้งเงื่อนไขที่โยงกับเรื่องเงินๆ ทองๆ มากกว่าการพิจารณาเรื่องดุลแห่งอำนาจระหว่างตะวันตกกับรัสเซียและจีน, โลกจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร

ใกล้บ้านเราในเอเชีย ความตึงเครียดเกี่ยวกับไต้หวันและทะเลจีนใต้ยังคงไม่หดหายไป

อยู่ที่ทรัมป์กับสี จิ้นผิง ของจีนจะต่อรองยื่นหมูยื่นแมวกันอย่างไรจึงจะเป็นที่ยอมรับได้ของทั้งมังกรและอินทรี

 

ปี 2025 จะผลักดันโลกมายืนอยู่ตรงทางหลายแพร่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก

เริ่มด้วยความกดดันด้านเงินเฟ้อที่คงอยู่มาตั้งแต่ยุคโควิด-19 จะทวีความรุนแรงขึ้นจากการหยุดชะงักของระบบห่วงโซ่อุปทาน

ซ้ำเติมด้วยความขัดแย้งในภูมิภาค

ธนาคารกลางทั่วโลกกำลัง “ไต่ลวด” อย่างน่าหวาดเสียวเพื่อพยายามสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตและเสถียรภาพ

ในภาวะที่ตลาดโลกสั่นไหวอยู่ตลอดเวลา

และไม่มีช่วงเวลาที่จะ “นิ่ง” พอที่จะเปิดทางให้รัฐบาลทั้งหลายมีเวลาหายใจเพื่อทบทวนข้อผิดพลาดในอดีตเพื่อไม่ให้ทำผิดซ้ำในวันนี้

หรือป้องกันหายนะในวันข้างหน้า

 

ก่อนสิ้นปี กระแส Bitcoin กลายเป็นหัวข้อร้อนแรงที่มาจากแนวทางของทรัมป์ในอเมริกา

นั่นแปลว่าในปีใหม่นี้จะเกิดแนวโน้มการให้ความสำคัญกับการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi หรือ Decentralized Finance) อย่างคึกคัก

นั่นหมายถึงการยอมรับสกุลเงินคริปโตในกระแสหลักที่จะพุ่งขึ้น…พร้อมกับความซับซ้อนซ่อนเงื่อน

เพราะบางคนมองว่านวัตกรรมที่ว่านี้นี้เป็นเครื่องมือกระจายอำนาจทางการเงิน

แต่อีกบางคนก็เตือนถึงความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจที่ล้นเกินจนยากจะควบคุม

ยิ่งทำให้ต้องกังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ยังคงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลส่วนใหญ่ยังหาทางออกที่มีประสิทธิภาพอย่างจริงจังไม่ได้

แต่มันคือระเบิดเวลาที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายทางสังคม

และนำไปสู่วิกฤตที่เกิดจากนโยบายประชานิยมทางการเมือง

 

ปีที่ผ่านมาตอกย้ำว่าสิ่งที่คาดเดายากยิ่งในปีใหม่อีกเรื่องหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่เห็นได้ชัดเจนคือเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว-น้ำท่วมรุนแรง ไฟป่า และพายุเฮอร์ริเคนระดับโลก

ปีใหม่นี้จะยิ่งมีความชัดเจนถึงความเร่งด่วนในเรื่องนี้ที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเร่งร้อน

แม้แต่ในประเทศ การบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขวิกฤตจากภัยธรรมชาติยังห่างไกลจากความสำเร็จ

ไม่พักต้องพูดถึงความคาดหวังว่าการประสานงานระดับโลกในเรื่องยุ่งยากซับซ้อนเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในระยะเวลาอันใกล้นี้

เรื่องใกล้ตัวที่สุดเรื่องหนึ่งคือการเปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่ไม่เร่งไม่ได้

แต่ก็เห็นอยู่โทนโท่ว่าเส้นทางสู่เป้าหมายเต็มไปด้วยความท้าทาย

วัสดุสำคัญที่จำเป็นสำหรับแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม และแบตเตอรี่กระจุกตัวในไม่กี่ประเทศ

นั่นหมายถึงการเกิดปรากฏการณ์ของการ “พึ่งพาแบบใหม่” ระหว่างประเทศ

อีกทั้งยังเพิ่มเติมดีกรีของความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

 

แต่ที่ใกล้ตัวที่สุดที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของผู้คนทั้งหลายทั้งปวงน่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและวัฒนธรรม

บรรทัดฐานของสังคมและพลวัตทางวัฒนธรรมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

การเพิ่มขึ้นของ Gen Z และ Gen Alpha ในฐานะตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการเมืองคือตัวแปรที่สำคัญยิ่ง

เพราะมันได้นำเอาค่านิยมใหม่ๆ ที่คนรุ่นก่อนๆ ขาดความคุ้นเคยและยอมรับ

คนรุ่นใหม่เรียกร้องต้องการให้มีการดำเนินการในมาตรฐานทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยุติธรรมทางสังคม และสุขภาพจิต

ซึ่งมักจะย้อนแย้งกับมาตรฐานที่มีอยู่

และความเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้จะต้องมีการรื้อทั้งระบบ, กฎเกณฑ์และเขย่าสถานบันทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง

อย่าเพิ่งถอนหายใจ

เพราะเมื่อต้องเผชิญกับ “การคาดเดาอะไรไม่ได้” เรามีทางเลือกไม่กี่ทาง

หนึ่งคือยอมแพ้ วิ่งหนี หลบหลีก

แต่นั่นย่อมหมายถึงการยอมจำนนทั้งๆ ที่รู้ว่ายังไงๆ ก็ต้องหวนมาเจอกับมันอีก

อีกทางหนึ่งคือเผชิญหน้าด้วยการยอมรับความจริง และปรับตัวเรียนรู้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลง

เมื่อคาดเอาอะไรไม่ได้ก็ไม่ต้องคาดเดา

และเตรียมพร้อมสำหรับ “ทุกกรณี”!