ยอดเครื่องราง ‘เบี้ยแก้’ หลวงพ่อพัก วัดโบสถ์ พระเกจิชื่อดัง จ.อ่างทอง

หลวงพ่อพัก (ภักตร์) จันทสุวัณโณ วัดโบสถ์ จ.อ่างทอง พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มีเมตตาธรรม มักน้อย ถือสันโดษ มีพลังจิตที่เข้มขลัง วิทยาคมแก่กล้า นามขจรขจายไปแสนไกล

สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ เช่น เหรียญรูปเหมือน มีทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง แต่ค่อนข้างหายากและสนนราคาสูง

เครื่องรางของขลัง ทั้งสิงห์งาแกะ, ตะกรุดโทน, ตะโพนงาแกะ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นที่นิยม

ส่วนเบี้ยแก้ ก็เป็นสุดยอดเครื่องรางของขลัง ครบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านป้องกันคุณไสย ยาสั่ง แก้เหตุร้ายให้กลายเป็นดี แคล้วคลาดปลอดภัย และคงกระพันชาตรี

สร้างจากตัวหอยเบี้ยบรรจุปรอท โดยนำเบี้ยใส่พานทองเหลือง นำปรอทใส่ขวดเล็ก ตั้งอยู่อีกพานหนึ่งวางคู่กันใช้หญ้าคาแห้งทำเป็นสะพานต่อจากขวดปรอทถึงตัวเบี้ย บริกรรมคาถาให้ปรอทไหลเข้าไปอยู่ในตัวเบี้ยจนเต็ม อุดด้วยชันโรงใต้ดิน แล้วปิดทับด้วยตะกรุดที่ม้วนแล้วทุบให้แบน แปะทับบนชันโรง

เมื่อรวบรวมเบี้ยแก้ได้จำนวนหนึ่ง ก็จะให้ลุงประเสริฐ มาลัยนาค เป็นผู้ถักเชือกหุ้ม

การถักเชือกนั้น จะถักเปิดด้านบนของตัวเบี้ยให้เห็นลายหอยเบี้ย ลายถักส่วนมาก ถักเป็นลายกระสอบ วนเป็นเส้นรูปไข่ตามตัวเบี้ย

การถักห่วงจะถักเป็นด้านหลังสองห่วง หรือด้านบนหูเดียวก็มี บางตัวอาจจะมีที่ทำเป็นตะกรุดร้อยเชือกคาดเอวก็มี มีทั้งจุ่มรักและไม่จุ่มรักก็มี

หลังจากถักเชือกเสร็จ หลวงพ่อพักจะปลุกเสกซ้ำอีกครั้งหนึ่งแล้วมอบแก่ให้แก่ลูกศิษย์ลูกหา

เครื่องรางของขลังล้วนเป็นของดีที่น่าเสาะหาไว้คุ้มครอง ครอบคลุมในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบี้ยแก้ นับเป็นสิ่งดีเยี่ยม ซึ่งคนเก่าแก่หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในอดีตจนถึงปัจจุบันของเมืองอ่างทอง ล้วนต้องการหามาติดตัว

มีความเชื่อว่าเพื่อจะได้เติบโตในหน้าที่การงานให้ดียิ่งขึ้นไป

เบี้ยแก้ หลวงพ่อพัก

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2425 ตรงกับวันอังคาร เดือน 11 ปีมะเมีย ที่บ้านท่ามะขาม ต.ดอนปรู อ.วิเศษชัยชาญ (ปัจจุบัน ขึ้นกับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี) บิดาชื่อ นายถมยา เป็นชาวบ้านอบทม มารดาชื่อ นางพุก เป็นชาวจังหวัดปทุมธานี มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3

ในวัยเด็ก บิดานำไปฝากเรียนหนังสือกับหลวงปู่เถื่อน เจ้าอาวาสวัดหลวง ต.ยี่ล้น อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง จนอ่านออกเขียนได้

อายุครบ 20 ปี ในปี พ.ศ.2445 เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดอ้อย อ.วิเศษชัยชาญ มีหลวงปู่เถื่อน วัดหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า จันทสุวัณโณ

หลังอุปสมบท ติดตามพระรัตนมุนี ซึ่งเป็นพระพี่ชายมาอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาคันถธุระและวิปัสสนากัมมัฏฐาน อยู่ที่สำนักพระอาจารย์อูฐ โดยเรียนอยู่ 9 พรรษา จนเชี่ยวชาญทั้งคันถธุระ โดยเฉพาะทางด้านวิปัสสนา

ต่อมาในปี พ.ศ.2454 หลวงปู่เนตร เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ มรณภาพ ด้วยความศรัทธาของญาติโยมและชาวบ้านแถบบ้านอบทม และบ้านโคกจันทร์จึงได้นิมนต์ให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดโบสถ์ และในปี พ.ศ.2455 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส

หลวงพ่อพัก มีอาจารย์อยู่หลายท่าน ได้แก่ อาจารย์วาต ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชาย อยู่ที่บ้านท่ามะขาม ต.ดอนปรู อดีตเคยเป็นขุนโจรผู้ยิ่งใหญ่แถวชานเมืองอ่างทองและสุพรรณบุรี และเป็นผู้ที่มีวิทยาคมสูง

หลวงพ่อพัก จันทสุวัณโณ

ต่อมาได้เลิกราในอาชีพทุจริตโดยสิ้นเชิง แล้วหันเข้าสู่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เคยถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้แก่หลวงพ่อพักจนหมดสิ้น โดยเฉพาะวิชาเบี้ยแก้ ตะกรุดโทน ผ้ายันต์แดง ฯลฯ

พระอาจารย์อีกรูปหนึ่ง คือ หลวงปู่บุญ จากแขวงเมืองพิจิตร ซึ่งได้ธุดงค์ล่องมาถึงแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ จนได้มาพบกับหลวงพ่อพัก และถ่ายทอดวิชาปลุกเสกเขี้ยวเสือแกะ งาช้างแกะ และวิทยาคมต่างๆ ให้

นอกจากนี้ ยังมีสหธรรมิก คือ พระครูวิตถารสมณกิจ (คำ ปัญญาสาโร) วัดโพธิ์ปล้ำ, พระอุปัชฌาย์ (ซำ) วัดตลาดใหม่, หลวงปู่ภู วัดดอนรัก, หลวงปู่จัน วัดนาคู เป็นต้น

ห้วงเวลาที่เป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนเดินทางมาทําบุญกับวัดเป็นประจํา ด้วยต่างมาขอให้หลวงพ่อพัก ช่วยเป็นที่พึ่งในเรื่องต่างๆ เช่น ในเรื่องค้าขาย หรือขอเครื่องรางของขลังไว้คุ้มครองตัว โดยสมัยนั้นท่านมีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์เป็นจํานวนมาก

หลวงพ่อพัก ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี พ.ศ.2461 เป็นเจ้าคณะตำบล พ.ศ.2462 ตามลำดับ

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อราวปี พ.ศ.2485 ตรงกับปีจอ สิริอายุ 60 ปี พรรษา 40

สร้างความเศร้าสลดแก่คณะศิษย์และผู้ที่ศรัทธาเป็นอย่างมาก •

 

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]