คนวงการหนัง…ประสานเสียง วอนรัฐดัน ‘ซอฟต์ เพาเวอร์’ ไทยสู่สากล

1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นวลียอดฮิตอย่าง “Soft Power” ปรากฏในสื่ออยู่เสมอ…

Soft Power เป็นแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจในการชักจูงใจ ทำให้ผู้อื่นมีความพึงพอใจ หรือเต็มใจเปลี่ยนพฤติกรรม ยอมรับ คล้อยตามสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้อำนาจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทุกประเทศทั่วโลก ได้นำแนวคิด Soft Power มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ

อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าในอนาคต Soft Power อาจจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และผลักดันเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้ไปเติบโตก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพราะ Soft Power เพียงอาศัยต้นทุนทางด้านวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อสร้างสรรค์สินค้า และบริการ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น

ซึ่งหลายคนมองว่าไทยมีเอกลักษณ์ และ “ประเพณี” หลายอย่างของประเทศ สามารถชูให้เป็น Soft Power ได้!!

กระแสความสนใจ Soft Power ทำให้ภาครัฐ โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ตื่นตัว ผลักดัน “Soft Power” อยู่เสมอ โดยจะมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival)

เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง!!

อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ วธ.ร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ และกรมการท่องเที่ยว ร่วมผลักดันภาพยนตร์ไทยเป็น Soft Power ก้าวสู่ระดับสากล ณ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 76 ประจำปี 2566 นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในงาน Marche du Film เพื่อผลักดันให้เกิดการเจรจาการค้า การซื้อขาย การลงทุน การร่วมผลิตระหว่างประเทศ การรับจ้างผลิต การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบันเทิงไทยในตลาดโลก

มีผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมในปีนี้มี 12 บริษัท ประกอบด้วย Benetone Films, BrandThink, Film Frame Productions, GDH 559, Halo Productions, Kantana Motion Pictures, M Pictures, Right Beyond, Sahamongkolfilm International, Yggdrazil Group, เนรมิตหนังฟิล์ม และเวลา ฟิล์ม

ความสำคัญของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ คือเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ระดับโลก เพราะทำให้เราเห็นถึงความหลากหลาย ความแตกต่างในแง่มุมของภาพยนตร์ เนื้อหา ศิลปะที่หลากหลายจากทั่วโลก

ดังนั้น เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ จึงเป็นตลาดซื้อ-ขายภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มีนักธุรกิจในวงการภาพยนตร์จากทั่วทุกมุมโลกมารวมตัวกัน จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ประเทศไทยจะชู Soft Power สู่สายตาชาวโลกได้

แม้ภาครัฐจะเข้ามาช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อยู่เสมอ แต่เสียงคนจากวงการภาพยนตร์ยังมองว่า ภาครัฐควรจะเดินหน้าสนับสนุนมากกว่านี้…

เพื่อให้อุตสาหรรมภาพยนตร์กลายเป็น Soft Power สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ได้!!

เริ่มจาก “นภัสริญญ์ พรหมพิลา” Show runner-Director Halo Production จากบริษัท Halo Productions จำกัด มองว่า หากภาครัฐต้องการจะส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่ได้อยู่ที่เม็ดเงินว่าควรจะลงทุนสนับสนุนอะไรเพิ่มเติมบ้าง แต่อยู่ที่วิธีคิดที่ควรจะปรับเปลี่ยน ซึ่งตนมองว่า รัฐควรจะส่งเสริมจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมบันเทิง คือ การเขียนบท เพราะปัจจุบันประเทศไทยเราขาดไอเดีย ขาดคอนเซ็ปต์ที่มาทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์ในด้านต่างๆ อยากให้สังเกตดูว่า คนเขียนบทเก่งๆ ในประเทศไทย มีกี่คนที่ประสบความสำเร็จ สามารถเขียนบทหนังได้น่าสนใจ ถ้าเรามีคนเขียนบทดีๆ ภาพยนตร์ของไทยจะเป็นเหมือนปัจจุบันหรือไม่

นภัสริญญ์ระบุต่อว่า ดังนั้น แรกเริ่มเราต้องยอมรับว่าเราขาดสิ่งนี้ในประเทศไทย เพราะจุดกำเนิดของความบันเทิงทุกอย่าง มาจากไอเดีย มาจากคอนเซ็ปต์ มาจากเรื่องราว ซึ่งจะต้องมีคนเขียนบทที่มีความเข้าใจจริงๆ และสามารถพาบทที่เขียนเข้าถึงคนดูทุกประเทศ คือประเทศไหนดู ก็เข้าใจเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อได้

“ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะส่งเสริม ควรจะส่งเสริมจุดกำเนิดของทุกอย่าง คือการส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่ ได้เรียนเรื่องการเขียนบทอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลานานประมาณ 4-8 ปี เพื่อที่จะสร้างให้เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้เก่ง และกลายมาเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสหกรรมของประเทศไทยให้เกิดความสำเร็จได้” นภัสริญญ์ระบุ

ด้าน “ตัวแทน” จากบริษัท BRANDTHINK จำกัด ระบุว่า อยากให้ภาครัฐสนับสนุนเรื่องของทุนการสร้าง หรืออาจจะมีกองทุนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิง ที่สำคัญ ควรจะมีระบบเศรษฐกิจที่ช่วยเหลือให้มีการลงทุนด้านภาพยนตร์มากขึ้น อีกทั้งปัจจุบันยังมีกฎหมายบางอย่างที่ยังไม่ทันสมัย เนื่องจากยังมีกฎหมายบางอย่างที่ไม่เปิดให้รัฐบาล หรือองค์กรของรัฐ สามารถลงทุน หรือสนับสนุนในเอกชนได้

ดังนั้น หากปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้ เชื่อว่าอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยจะไปได้ไกลกว่านี้…

ขณะที่ “อาทิตย์ อัสสรัตน์” Director หนังเรื่อง ทองหล่อคิดส์ ที่เป็นหนังนอกกระแส ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า หนังนอกกระแสอยู่ยากในสังคมไทย เพราะคนในวงการมีน้อย รัฐสนับสนุนน้อย และอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญ มองว่ารัฐควรสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อให้หนังไทยไปได้ไกลมากกว่านี้ เช่น การเซ็นเซอร์หนัง เปิดพื้นที่ให้คนเล่าเรื่องมากกว่านี้

“ตอนนี้คนไทยเบื่อหนังไทย เพราะหนังไทยมีแต่เรื่องซ้ำๆ เดิมๆ เป็นหนังตลก ฝันๆ แต่ยังมีหลายประเด็นที่หนังควรจะเล่าที่คนอยากรู้ เช่น หนังเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือหนังที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับทหาร ตำรวจ แต่บ้านเรากลับไม่ทำหนังวิจารณ์สังคมเท่าไหร่ ทำให้มีแต่หนังตลก ซึ่งในความจริงหนังตลกก็ควรมี แต่ก็ควรที่จะมีหลากหลาย ประกอบกับนายทุนหนังก็ไม่กล้าลงทุน ทำให้หนังไทยไม่หลากหลาย คนเลยรอดูหนังผ่านทางสตรีมมิ่งอื่นๆ มากกว่า” อาทิตย์ระบุ

อาทิตย์ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ดังนั้น ถ้าต้องการให้หนังไทยไปได้ไกลมากกว่านี้ คือต้องคิดใหม่ สร้างวัฒนธรรม ที่ทำให้เราสร้างหนังที่ท้าทายสำหรับคนยุคนี้ คือทำหนังที่ทันยุค ทันสมัย ทันสถานการณ์ ดังนั้น ถ้าเราอยากให้คนดู กลับไปดูหนังในโรงหนัง ต้องสร้างหนังที่ทันกับกระแสสังคม เช่น ปัจจุบันคนในสังคมถกเถียงเรื่องอะไรกัน ก็ควรสร้างหนังให้ทันกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ไม่ใช่หยุดอยู่กับที่

ส่วน “อัยย์ตา ปรีชาว่องไวกุล” Deputy Managing Director จากบริษัท ไรท์ บิยอนด์ จำกัด ระบุว่า ภาครัฐได้ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาตลอด เช่น เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์นี้ ก็ช่วยให้บริษัมได้ตลาดที่หลากหลาย เราสามารถขยายตลาดให้หลากหลายได้มากขึ้น จากเดิมที่เราอาจจะขายได้แต่แถบเอเชีย แต่เมื่อมาเทศกาลนี้แล้ว สามารถขยายฐานไปยังประเทศละตินอเมริกา ยุโรป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านการลงทุนให้ง่ายขึ้น เพื่อดึงดูดคนให้เข้ามาลงทุนถ่ายภาพยนตร์ หรือลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศเพิ่มเติม

เมื่อคนภาพยนตร์ “สะท้อน” ปัญหา และความต้องการ ที่จะให้ภาครัฐเข้าไปช่วยแล้ว…

คงต้องจับตาดูต่อไปว่า รัฐบาลใหม่ และ วธ.จะเข้าไปส่งเสริมอย่างไร เพื่อดันให้ไทยให้เป็นหนึ่งในการส่งออก Soft Power ไปสู่เวทีโลกให้ได้!! •

 

ภาพประกอบจาก : Thailand – Where Films Come Alive

 

| การศึกษา