ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
ประเด็น “ขาดแคลน” ครู ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตก ที่วนลูปกลับมาต้อนรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2566
เพราะขณะนี้มีเสียงร้องเซ็งแซ่จากผู้บริหารโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า “โรงเรียนขนาดเล็ก” ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ตามภูเขาสูง หรือตามเกาะแก่งต่างๆ ทั่วประเทศ
กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนจากการขาดแคลน “ครูผู้สอน” อย่างหนัก
สาเหตุสืบเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) “ปรับแก้” หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เดิมกำหนดให้ “ครูผู้ช่วย” เมื่อพ้นการเตรียมความพร้อม และพัฒนาอย่างเข้มข้นแล้ว รวมถึงได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็น “ครู” ครบ 4 ปีเต็ม จึงจะยื่นคำร้อง “ขอย้าย” ได้
โดยปรับแก้เป็น ให้ครูผู้ช่วยยื่นคำร้องขอย้ายได้ โดยไม่ต้องสอนครบ 4 ปี แต่จะต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือน หรือ 2 ปี นับถึงวันสุดท้ายที่กำหนดให้ยื่นคำร้องขอย้าย
ซึ่งครูที่ขอย้ายส่วนใหญ่จะย้ายไปโรงเรียนที่อยู่ในเมือง โรงเรียนขนาดใหญ่ หรือขอย้ายกลับภูมิลำเนา…
นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ และนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ระบุถึงปัญหาว่า ขณะนี้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลประสบปัญหาอย่างหนัก อย่างโรงเรียนใน จ.กาญจนบุรีหลายโรง ได้รับผลกระทบจากการขอย้าย 2 ปี บางโรงเรียนมีครู 15 คน ครูที่อยู่ครบ 2 ปี ขอย้ายไปแล้ว 10 คน ทั้งโรงเรียนมีครู รวมกับผู้อำนวยการโรงเรียน เหลืออยู่แค่ 5 คน ไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน คิดว่าเปิดเทอม 1 จะเกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะภาระงานของครูที่ยังอยู่ ทำให้ครูที่เหลืออยู่มีภาระเพิ่มมากขึ้น
โดยนายก ส.บ.ม.ท.มองว่าเฉพาะใน จ.กาญจนบุรี พบโรงเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนครูแล้วจำนวนมาก ถ้าหากรวมกันทั่วประเทศ น่าจะมีปัญหาขาดแคลนครูเพราะหลักเกณฑ์การขอย้ายใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 พันคน
นอกจากนี้ นายณรินทร์ยังฟันธงว่าผู้ที่ออกนโยบายนี้ เพราะต้องการ “เอาใจ” ครู จึงอยากให้คำนึงถึงผลกระทบ ข้อดีและข้อเสียด้วย เพราะเงื่อนไขเดิมที่ให้ครูต้องสอนครบ 4 ปี แล้วถึงขอย้ายได้ ก็เพราะต้องการให้ครูมีประสบการณ์ด้านการสอน และรู้จักการแก้ไขปัญหา จึงอยากให้ ก.ค.ศ. “ทบทวน” หลักเกณฑ์ดังกล่าว แล้วกลับไปที่ตัวเลข “4 ปี” เหมือนเดิม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ สพฐ.จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเร่งกระบวนการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย แต่กว่ากระบวนการสอบจะแล้วเสร็จ และบรรจุครูผู้ช่วยได้ ก็อาจต้องใช้เวลานานกว่า 2 เดือน ซึ่งอาจจะแก้ปัญหาไม่ทันการณ์
ฉะนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าลุล่วง นายก ส.บ.ม.ท.จึงเสนอให้ สพฐ.ใช้วิธี “เกลี่ย” อัตราพนักงานราชการ หรือครูอัตราวิกฤตไปช่วยสอน หรือไม่ก็หางบประมาณจ้างครูอัตราจ้าง 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนครูไปก่อน!!
ทั้งนี้ การปรับแก้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัด ศธ.ที่เดิมครูต้องสอนครบ 4 ปี จึงจะยื่นคำร้องขอย้ายได้ ลดเหลือ 2 ปีนั้น เนื่องจากที่ประชุม ก.ค.ศ.ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว
โดยมีสาระสำคัญที่กำหนดการย้ายเป็น 3 กรณี ประกอบด้วย
1. การย้ายกรณีปกติ ที่เมื่อพ้นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม และได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูแล้ว สามารถยื่นคำร้องได้เลยโดยไม่ต้องรอ 4 ปี ให้ยื่นคำร้อง 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ยื่นคำร้องเดือนมกราคม ให้ใช้พิจารณาย้ายระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์-30 เมษายน และครั้งที่ 2 ยื่นคำร้องเดือนกรกฎาคม ให้ใช้พิจารณาย้ายระหว่างวันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม โดยองค์ประกอบการพิจารณาย้าย ปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่ง ว 3/2564
2. การย้ายกรณีพิเศษ เพิ่มเติมรายละเอียดเหตุของการย้ายให้ชัดเจนขึ้น และกำหนดให้ผู้ขอย้ายระบุอำเภอในจังหวัดที่จะขอย้าย เพื่อให้ผู้ขอย้ายได้รับการช่วยเหลือโดยเร็ว โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่รับย้าย พิจารณาสถานศึกษาที่ให้ไปดำรงตำแหน่ง และต้องเสนอคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ภายใน 45 วัน
และ 3. การย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ กำหนดเหมือนเดิม เนื่องจากหลักเกณฑ์เดิมกระจายอำนาจให้ สพท.หรือส่วนราชการอื่น พิจารณาย้ายได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ ในกรณีการย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา การย้ายเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการในสถานศึกษา และการย้ายเพื่อเกลี่ยอัตรากำลังของสถานศึกษา
ทั้งนี้ ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.3/ว 8 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 ที่ ศธ 0206.4/ว 24 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2559 และที่ ศธ 0206.4/ว 32 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564
การปรับแก้หลักเกณฑ์ในครั้งนั้น รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้เหตุผลว่า เพราะต้องการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน รวมถึงองค์ประกอบเพื่อใช้พิจารณาการย้ายกรณีปกติตามหลักเกณฑ์เดิม ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งที่กำหนดขึ้นใหม่ตาม ว 3/2564 ซึ่งเดิมหลักเกณฑ์กำหนดให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย 2 ปี และดำรงตำแหน่งครูอีก 2 ปี รวม 4 ปี ถึงจะยื่นคำร้องขอย้ายได้
ทำให้ข้าราชการครูฯ ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลภูมิลำเนา ต้องรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น และขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน
โดยเชื่อว่าหลักเกณฑ์ใหม่ จะทำให้ครูมีขวัญกำลังใจในการทำงานมากขึ้น และทำให้การพัฒนาการศึกษามีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น!!
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ ก.ค.ศ.ยืนยันว่าการปรับแก้หลักเกณฑ์ดังกล่าว ไม่ใช่การ “หาเสียง” ทางการเมือง และไม่ได้ใช้ “การเมือง” นำการศึกษา อย่างที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่มองเรื่อง “คุณภาพชีวิต” ของครู ภาระค่าใช้จ่าย การสร้างขวัญกำลังใจของครู การยื่นคำร้องขอย้ายได้หลังจากสอนได้ 2 ปี จึงเป็นการ “ปลดล็อก” ให้กับครู
โดย รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.ระบุว่า ปัญหา “ไม่ได้” อยู่ที่ “ระยะเวลา” การขอย้าย ไม่ว่าจะเป็น 2 ปี หรือ 4 ปี แต่อยู่ที่การจัดสอบบรรจุครูล่าช้า ทำให้ไม่สามารถบรรจุครูใหม่ไปทดแทนอัตราว่างได้ทัน อีกทั้งเมื่อเริ่มใช้เป็นปีแรก ก็อาจมีปัญหาบ้าง
ส่วนสาเหตุที่ปรับแก้หลักเกณฑ์ดังกล่าว เลขาธิการ ก.ค.ศ.บอกอยากให้มองเรื่องนี้ 2 มุม เพราะครูที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือทุรกันดาร ก็อยากย้ายไปโรงเรียนที่ใหญ่กว่า หรือย้ายกลับภูมิลำเนา เพื่อดูแลครอบครัว พ่อแม่ ดังนั้น ระยะเวลา 2 ปีที่ให้ขอย้ายได้ ถือว่าเพียงพอที่จะทำให้ครูมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานสอน และยังพ้นจากการเป็นครูผู้ช่วย ได้บรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูเต็มตัวแล้ว
ดังนั้น ก.ค.ศ.จะ “ไม่ทบทวน” หลักเกณฑ์นี้ ถ้าในอนาคต สพฐ.จะจัดช่วงเวลาการสอบครูผู้ช่วยให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การขอย้าย ปัญหาก็น่าจะหมดไป
ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.อัมพร พินะสา มีความเห็นสอดคล้องกับเลขาธิการ ก.ค.ศ.ว่าระยะเวลาที่ลดลงเหลือ 2 ปี ไม่ใช่ปัญหา แต่ก็ยอมรับว่ามีความล่าช้าในการจัดสอบครูผู้ช่วยจริง เนื่องจากการถ่ายโอนอำนาจการบริหารงานบุคคล จาก กศจ.ไปเป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ
แต่ก็เชื่อว่า สพท.จะแก้ปัญหาได้…
ต้องรอดูว่า สพฐ.จะแก้ปัญหานี้ได้จริงหรือไม่ หรือจะกลายเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงเปิดเทอมของทุกปี!! •
| การศึกษา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022