ปรับสมดุลธาตุไฟในหน้าร้อนด้วย “หวายตะค้า”

ฤดูร้อนเมืองไทยเริ่มเคาะระฆังนับหนึ่งถัดจากวันมาฆบูชา ตรงกับวันที่พระแก้วมรกตเปลี่ยนเครื่องทรงจากฤดูหนาวเป็นฤดูร้อนอย่างเป็นทางการตามหลักอุตุสมุฏฐานของแพทย์แผนไทย

ปีนี้มีเดือนแปดสองหน กว่าจะสิ้นร้อนคงต้องรอจนถึงเข้าพรรษาต้นเดือนสิงหาคม คิมหันต์ไทยแลนด์ปีนี้ร้อนไหม้เป็นไฟบรรลัยกัลป์

ถึงขนาดมีข่าวคนเสียชีวิตเพราะโรคลมแดดหรือฮีตสโตรก (Heatstoke) กันหลายคน แม้แต่คนที่แข็งแรงมากๆ ก็ยังไม่รอด

อุณหภูมิสูงกันสุดๆ ที่เรียกว่า “คลื่นความร้อน” ในเวลานี้หนักหนาสาหัสไม่ใช่เฉพาะพี่น้องคนไทย แต่เพื่อนบ้านอินเดีย จีน ไทย และลาว ก็กำลังเผชิญความร้อนอย่างเลวร้ายในประวัติศาสตร์

ซ้ำยังมีแทรกซ้อนด้วยเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ประหลาดชื่อ XBB.1.16 และ XBB.1.16.1 ซึ่งกำลังมาแรงหลังสงกรานต์ ท่ามกลางฝุ่น PM 2.5 ทะลุเกิน 100-200 ภาวะแทรกซ้อนสามประสานดังกล่าว ยิ่งทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตสูงขึ้น

 

มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดว่า ทุกๆ 1% ที่ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นจะทำให้อัตราการตายจากโรคโควิด-19 สูงขึ้นคราวละ 8% เลยทีเดียว

และเมื่อบวกกับอากาศที่ร้อนจัดก็ยิ่งทำให้ความร้อนของผู้ป่วยจากไข้โควิด-19 สูงทะลุขีดอันตรายเร็วขึ้น

ในทฤษฎีธาตุไฟสี่ของการแพทย์แผนไทย กล่าวถึงธาตุไฟ ชื่อ “ปริทัยหัคคี” ซึ่งทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์เตือนร่างกายเมื่อมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าธาตุไฟ “สันตัปปัคคี” หรือไฟอุ่นกายปรกติที่อุณหภูมิ 36-37 องศาเซลเซียส

เช่น เมื่อเป็นไข้ ตากแดด อยู่ในที่ร้อนอบอ้าว ออกกำลังกาย หรือทำงานใช้กำลังมากจนเครื่องร้อน อาการเตือนเริ่มแรกของไฟปริทัยหัคคี คือ ทำให้ร้อนใน เกิดความรู้สึกระส่ำระสาย

เมื่อธาตุไฟตัวนี้กำเริบขึ้น ถึงขั้นมือเท้าเย็น ชีพจรไม่เดิน แต่ภายในร้อนจัดจน “เหงื่อตกเป็นดังเมล็ดข้าวโพด” อาการขั้นนี้ยังพอเยียวยาได้ แต่ถ้าถึงขั้นตัวเย็น มือเท้าเย็น แต่ภายในร้อนจัด ผิวแห้งผากไม่มีเหงื่อออกเลย มีสิทธิ์เกิดอาการช็อค หัวใจวายตายได้เลยทีเดียว

จึงกล่าวได้ว่าหมอแผนไทยรู้จักโรคฮีตสโตรกมาแต่ครั้งโบร่ำโบราณแล้ว ในชื่อเรียกว่า “โรคปริทัยหัคคีพิการ” หรือ “โรคลมแดด” นั่นเอง และโรคนี้ถือว่าเป็นอาการป่วยรุนแรงจึงต้องใช้ยาแรงออกฤทธิ์ดับพิษร้อนได้รวดเร็วเพื่อช่วยกู้ชีวิตได้ทันที

ในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์มีตำรับยาแก้อาการฮีตสโตรกขนานหนึ่ง ประกอบด้วยเครื่องยาผสมผสานกันทั้งกลุ่มยาเย็นจัดเป็นหลัก และกลุ่มยาร้อนเป็นรองแทรกด้วยยารสสุขุมเล็กน้อยเพื่อแก้ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากกลุ่มยาเย็น เช่น อาการเหน็บชา หรืออ่อนกำลังจากสมุนไพรฤทธิ์เย็น เป็นต้น ยาตำรับนี้มีทั้งพืชวัตถุและสัตว์วัตถุ

กลุ่มยาเย็นจัดเกือบทั้งหมดเป็นสัตว์วัตถุ ได้แก่ เขากระบือเผือก นอแรด เขี้ยวจระเข้ เปลือกหอยขม เปลือกหอยแครง และมีพืชวัตถุรสเย็น 2 ชนิด คือเถาหวายตะค้า (หรือหวายตะมอย ใช้แทนกันได้) และรากขัดมอน

ส่วนกลุ่มยาร้อน ได้แก่ พริกไทย กระเทียม หัวแห้วหมู และสมุนไพรรสสุขุม คือ ลูกจันทน์ ส่วนสมุนไพรรสเค็มกร่อย คือแก่นแสมทะเล กรรมวิธีปรุงยาตำรับนี้คือ ส่วนประกอบที่เป็นสัตว์วัตถุทั้งหมดกับพืชวัตถุคือเถาหวายตะค้า (หรือหวายตะมอย) หนักอย่างละหนึ่งส่วนเท่ากัน นำมาสุมไฟให้เป็นถ่าน แล้วจึงนำมาบดผงร่วมกับสมุนไพรที่เหลือ

วิธีใช้ง่ายมาก คือ ใช้ผงยา 1 ช้อนกาแฟ ละลายน้ำร้อนแทรกพิมเสนแค่ปลายช้อน ท่านว่า “กินขับไฟธาตุให้ร้อนตลอดจนปลายมือปลายเท้า ชีพจรเดินได้ตลอดแล”

 

แต่ยุคนี้สัตว์วัตถุอย่าง นอแรด คงไม่ได้ใช้เพราะเป็นสัตว์สงวน ผงนอแรดเป็นยาลดไข้แก้ปวดได้ชะงัดดี จนพ่อค้ายายุคก่อนเคยตั้งชื่อยาแก้ปวด แก้ไข้ว่า ยาประสะนอแรด ดังนั้น หากมีเครื่องยาเกือบครบตามที่กล่าวนี้ รับรองว่าฮีตสโตรกเอาอยู่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทั่วไป จะใช้ “หวายตะค้า” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Calamus caesius) อย่างเดียวก็ได้ เพราะส่วนต้นและรากของสมุนไพรชนิดนี้ มีฤทธิ์ดับร้อน ถอนพิษไข้ ฟื้นสลบ แก้ชัก แก้หอบ แก้ลิ้นกระด้างคางแข็งได้

เดี๋ยวนี้สามารถหาหวายตะค้ามาทำยาได้ไม่ยาก เพราะมีการส่งเสริมการปลูกหวายตะค้าใช้ต้นทำเครื่องยา ใช้ยอดและผลเป็นอาหาร ในส่วนของการแปรรูปเป็นเครื่องยานั้น ให้นำส่วนต้นที่ลิดก้าน กาบ ใบ และหนามออกแล้ว ตัดเป็นท่อนสั้นๆ ท่อนละ 2-3 นิ้ว ตากแดดหรืออบให้แห้งสนิท หวายตะค้าแห้งสนนราคากิโลกรัมละ 45-50 บาท

วิธีใช้หวายตะค้าสะดวกที่สุด คือ ทำเป็นยาผงชงน้ำร้อนดื่มครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ ใช้เวลามีอาการร้อนระอุภายในคล้ายจะเป็นลม ถ้าจะให้ออกฤทธิ์เร็วขึ้นต้องผสมพริกไทยเท่ากัน แทรกพิมเสนด้วยยิ่งช่วยกระจายเลือดลม ดับร้อน ถอนพิษไข้ได้รวดเร็วทันใจ

มาดับร้อนทั่วไทยสู้ ทั้งโรคลมแดด ไข้โควิด ด้วยหวายตะค้าสมุนไพรพื้นบ้านจากตำรับยาหลวงกันเถอะ •

 

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org