‘อังกฤษ’ ไม่พร้อมสู้โลกร้อน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
PA Media

ชื่อหัวเรื่องนี้คัดมาจากบทความของคุณเอสเซ็ม สตาลลาร์ด (Esme Stallard) นักข่าวสายวิทยาศาสตร์และสภาพภูมิอากาศของสำนักข่าวบีบีซีแห่งอังกฤษ ซึ่งหยิบยกรายงานชุดใหม่สุดของทีมที่ปรึกษารัฐบาลอังกฤษมาเปิดเผย

รายงานชิ้นดังกล่าวสรุปฟาดเปรี้ยงไปเลยว่า อังกฤษไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้เพราะยังไม่มีความพร้อมใดๆ

ทีมที่ปรึกษาชื่อเต็มๆ ว่า คณะกรรมาธิการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ หรือ The Committee on Climate Change (CCC) เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะภูมิอากาศทำงานอย่างอิสระ แต่เก็บวิเคราะห์ประมวลข้อมูลเสร็จแล้วส่งตรงให้กับรัฐบาลอังกฤษ วิจารณ์รัฐบาลอังกฤษไม่มีเป้าหมายที่บ่งบอกถึงความสำเร็จในการปกป้องชีวิตชาวอังกฤษให้รอดพ้นจากหายนะ

คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษทบทวนแผนการปรับตัวและเตรียมความพร้อมสู้กับภาวะโลกร้อนให้สมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ

ผลกระทบจากไฟป่าปะทุจากอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียสในเมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ / ภาพถ่ายโดย Christopher Furlong / BBC

“บารอนเนสบราวน์” ประธานอนุคณะกรรมาธิการซีซีซีด้านการปรับตัวชี้ว่า รัฐบาลอังกฤษไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องโลกร้อนมากเท่าใดนัก

“รัฐบาลดูเหมือนนิ่งเฉยทำในทางตรงข้ามกับสภาวะอากาศวิกฤตแปรปรวนเกิดขึ้นในอังกฤษ แทนที่จะนำประสบการณ์นี้มาแก้ไขอย่างเร่งด่วนฉุกเฉิน”

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา อังกฤษเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านสภาวะภูมิอากาศสุดขั้วหลายครั้ง เมื่อปีที่แล้ว สภาพอากาศร้อนจัดอุณหภูมิในอังกฤษทะลุพรวด 40 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเก่า 39.7 ํc เมื่อปี 2562 และยังทำให้เกิดไฟป่าปะทุมากถึง 25,000 จุด

ขณะเดียวกัน สภาพอากาศร้อนอย่างสุดขั้ว มีฝนตกน้อยมาก ส่งผลต่อการเพาะปลูกพืชผลการเกษตรในพื้นที่ทางภาคใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ

แอนดรูว์ เบลนไครอน / ภาพถ่ายโดย John Cottle / NFU

บีบีซีสัมภาษณ์ “แอนดรูว์ เบลนไครอน” ชาวไร่ในเมืองเทตฟอร์ด เมืองเล็กๆ ฝั่งตะวันออกของอังกฤษ ได้ความว่า ปริมาณฝนลดลงอย่างมาก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ วัดน้ำฝนได้แค่ 2.4 มิลลิเมตร

เทียบกับค่าเฉลี่ยในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อนๆ ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 43 ม.ม. ถือว่าฝนตกในเมืองเทตฟอร์ดเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้น้อยมากจนเกษตรกรออกอาการเซ็งเป็ด

“เบลนไครอน” เห็นว่าน้ำฝนน้อยอย่างนี้ ปลูกพืชอะไรก็ไม่รอดแน่ๆ โอกาสเสี่ยงขาดทุนจึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนการเพาะปลูก ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยๆ หรือลดพื้นที่เพาะปลูก

ชาวไร่เมืองเทตฟอร์ดบอกอีกว่า ชาวนาชาวไร่ สัมผัสรู้เห็นเหตุการณ์ทุกวัน รู้ว่านี่คือสภาพภูมิอากาศวิกฤตสุดขั้ว

“เบลนไครอน” เปิดหน้าดินขุดสระน้ำเตรียมสำรองน้ำเอาไว้โดยไม่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐ และวางแผนทำแนวกันชนรับมือไฟป่าที่มากับอากาศร้อนระอุ

ในอนาคต “เบลนไครอน” อยากให้รัฐบาลอังกฤษคิดแผนช่วยเหลือเกษตรกรที่เผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เช่นให้เงินสนับสนุนสร้างแหล่งน้ำสำรอง

ผู้คนมีเงิน แต่ไม่มีของให้ซื้อกิน / ภาพถ่ายโดย PA Media

ผลสรุปของ “ซีซีซี” ที่ส่งให้รัฐบาลอังกฤษ เสนอแนะว่า รัฐบาลต้องพิจารณาระบบการพึ่งพาตนเองในภาคการเกษตรเพราะเวลานี้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง สินค้าเกษตรที่จำเป็นอังกฤษนำเข้าจากต่างประเทศจะขาดแคลนเนื่องจากแหล่งผลิตประสบปัญหาวิกฤตฝนแล้ง น้ำท่วมหรือหนาวจัด

“อังกฤษจะเสี่ยงสูงมากถ้ามัวแต่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตร ในขณะนี้อังกฤษนำเข้าเมล็ดพืช เนื้อ นม ไข่ ซึ่งเป็นอาหารจานหลักราวๆ ครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมด”

ต้นปีที่ผ่านมา ผลิตผลทางเกษตรที่นำเข้าจากทวีปแอฟริกา และยุโรปตอนใต้ลดฮวบเนื่องจากทวีปแอฟริกาตอนเหนือเกิดภาวะแห้งแล้ง ไม่มีฝน

ส่วนยุโรปตอนใต้ เช่น โมร็อกโก มีอากาศหนาวจัด ฝนตกหนัก ที่สเปน พืชในแปลงเพาะปลูกติดเชื้อ ผลผลิตตกต่ำเช่นกัน

เมื่อสินค้าเกษตรขาดแคลน ปริมาณนำเข้าลดลง บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษจึงต้องจำกัดจำนวนการซื้อสินค้าจำพวกมะเขือเทศ พริก แตงกวา ผักกาดหอม บรรดาผู้บริโภคพากันร้องจ๊าก มีตังค์แต่ไม่มีของให้กิน

ซีซีซียังเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษเชิญบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่นำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศมาหารือประเมินข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาวะภูมิอากาศเพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้า

 

นอกจากนี้ ซีซีซีอยากให้รัฐบาลทบทวนประเด็นอื่นๆ อีก 12 ข้อที่เกี่ยวข้องกับสภาวะธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ระบบการขนส่ง การก่อสร้าง

กฎระเบียบการก่อสร้างอาคารใหม่ที่รัฐบาลเพิ่งปรับปรุงไปนั้น ทางซีซีซีเห็นว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องดูแลรับผิดชอบกับระบบการก่อสร้างที่คำนึงถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

ผลสำรวจพบว่ามีอาคารและบ้านเรือนกว่า 4.6 ล้านหลังในอังกฤษขาดระบบป้องกันอุณหภูมิร้อนจัดจะส่งผลต่อสุขภาพผู้อยู่อาศัยมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เช่น อาจเป็นโรคทางเดินหายใจ

คณะกรรมการชุดนี้ยังมองปัญหาเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นระบบสื่อสารโทรคมนาคมยุคใหม่ที่ทุกครัวเรือนจำเป็นต้องใช้และยังเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตภัยจากพายุถล่ม ฝนตกหนักน้ำท่วม ระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ตประสบปัญหาล่ม การติดต่อสื่อสารหยุดชะงัก

บรรดาอุตสาหกรรมธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลไปทั่วโลกผ่านอินเตอร์เน็ตประสบความเดือดร้อนอย่างมาก

สายไฟเบอร์ออพติกล้มพังพินาศจากพายุอาร์เวน / ภาพถ่ายโดย Ian Forsyth

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พายุอาร์เวนหอบเอากระแสลมความเร็วสูงถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมมวลฝนและหิมะ พัดกระหน่ำพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะอังกฤษ สร้างผลกระทบทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคอย่างหนักหน่วง

กระแสลมกระชากเสาไฟฟ้า สายไฟเบอร์ออพติกล้มพังพินาศ ถอนรากถอนโคนต้นไม้ขนาดใหญ่นับร้อยๆ ต้น ชาวอังกฤษกว่า 1 ล้านคนติดหนึบอยู่กับบ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ระบบอินเตอร์เน็ตล่มในท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บเป็นเวลาหลายวัน

บริษัทไฟฟ้า อาทิ นอร์ธเทิร์น เพาเวอร์กริด ตกเป็นแพะรับบาปเพราะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับบ้านเรือนที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้หลังละ 70 ปอนด์ หรือราวๆ 2,800 บาทเป็นอย่างน้อย

เช่นเดียวกับบริษัทประกันภัย เสียเงินค่าประกันความเสียหายจากพายุรวมๆ แล้วกว่า 300 ล้านปอนด์

เหตุการณ์ “อาร์เวน” มีผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ในอังกฤษหันมาใช้อินเตอร์เน็ตทำงานที่บ้าน หรือเวิร์ก ฟรอม โฮม เมื่อพายุถล่มถนนหนทางปิด หิมะตกหนา สายไฟเบอร์ออพติกขาดกระจุย โครงข่ายอินเตอร์เน็ตล่ม การสื่อสารกับโลกภายนอกหยุดชะงักอย่างสิ้นเชิง

เหยื่อพายุ “อาร์เวน” จำนวนไม่น้อยที่ใช้ระบบเทเลเฮลท์หรือแพทย์ทางไกลในการติดต่อรักษากับหมอ พยาบาล พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

 

หลังพายุพัดผ่านไปแล้ว เหตุการณ์ยังไม่จบ บรรดาผู้ประสบภัยไม่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือกับบริษัทไฟฟ้า บริษัทประกันภัย ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตได้ทันท่วงที ต่างพากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่ย่ำแย่ไร้ประสิทธิภาพ จนกระทั่งบริษัทเหล่านี้ต้องปรับกลยุทธ์ในการสื่อสารบริการลูกค้ากันใหม่

กระทรวงยุทธศาสตร์ธุรกิจ พลังงานและอุตสาหกรรม (Department for Business, Energy & Industrial Strategy) แห่งอังกฤษ นำเหตุการณ์ “อาร์เวน” มาเป็นกรณีตัวอย่างในการทบทวนแผนฉุกเฉินด้านพลังงานเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพสูงกว่าปัจจุบัน

แผนฉุกเฉินดังกล่าวหยิบยกประเด็นปัญหาที่เป็นช่องโหว่ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับปรุงออกแบบพัฒนาโครงสร้างสายไฟฟ้า สายไฟเบอร์ออฟติก เสาสัญญาณโทรศัพท์ โครงข่ายอินเตอร์เน็ต ให้แข็งแรงทนทานสามารถป้องกันพายุได้อย่างดี

ถ้าหากโครงข่ายเหล่านี้เกิดความเสียหาย แผนปฏิบัติการแก้ไขซ่อมแซมต้องทำในทันที และสามารถประมวลผลความเสียหายเพื่อชดเชยหรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยต้องรวดเร็ว อาจจะเตรียมหน่วยกู้ภัยฉุกเฉิน อุปกรณ์เครื่องมือ เช่น โดรน เฮลิคอปเตอร์ให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ทันเวลา

ทั้งหมดนี้เป็นการฉายภาพความไม่พร้อมและการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตโลกร้อนของอังกฤษซึ่งถือว่าเป็นประเทศพัฒนามีระบบเทคโนโลยีที่ดีเยี่ยมแห่งหนึ่งของโลก

ย้อนกลับมาถามรัฐบาลไทยว่า คิดแผนรับมือกับภัยพิบัติที่มากับวิกฤตโลกร้อนหรือยัง? •

 

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]