เครื่องรางหมูทองแดง หลวงปู่เส็ง จันทรังสี วัดบางนา จ.ปทุมธานี

วัดบางนา อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็นวัดเก่าแก่ที่ชาวรามัญสร้างขึ้น และเป็นสถานศึกษาแก่บรรดาลูกหลานในย่านนั้น

เดิมอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันตก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดบางนา ต่อมาย้ายร่นลงไปอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา

ในอดีตมีชื่อเสียง มีคนไปทำบุญที่วัดมากที่สุด เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่ มีพระไปบวชศึกษาเล่าเรียนมาก ปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด ชาวบ้านจึงเลื่อมใสศรัทธา

โดยเฉพาะ “พระครูมงคลธรรมสุนทร” หรือ “หลวงปู่เส็ง จันทรังสี” อดีตเจ้าอาวาสวัดบางนา ถือว่าเป็นพระที่ได้รับสมณศักดิ์รูปแรก และเป็นผู้เริ่มทำพระเครื่องวัตถุมงคลของวัดบางนา จนโด่งดัง

เริ่มสร้างวัตถุมงคลตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง

ที่โด่งดังและรู้จักกันมาก คือ หมูทองแดง

หมูทองแดง หลวงปู่เส็ง

มูลเหตุในการสร้าง คือ ในราวปี พ.ศ.2515 มีคนนำหมูตัวหนึ่งไปโยนน้ำ หวังจะให้ตาย เดชะบุญหมูลอยมากับผักตบชวา และมาหยุดอยู่ที่ตรงท่าน้ำวัด มีคนได้ยินเสียงร้องและได้ช่วยชีวิตไว้

จึงเลี้ยงหมูตัวนี้ ชั่วระยะเวลาไม่ถึงปี หมูตัวนี้ก็เติบใหญ่กินนอนอยู่ข้างกุฏิ

ต่อมาในปี พ.ศ.2521 หมูตัวนี้เกิดตาย ญาติโยมจึงช่วยกันนำออกไปจากวัด โดยไม่ได้แจ้งหลวงปู่ จากนั้นก็นำไปแล่เนื้อ แต่ปรากฏว่าแล่ไม่เข้า หมูตัวนี้มีเขี้ยวงอกยาวออกมาและปรากฏว่าเป็นเขี้ยวตัน

หลวงปู่เส็งจึงได้ให้ลูกศิษย์ออกแบบสร้างเครื่องรางรูปหมูทองแดง โดยจารอักขระในแผ่นทองสามกษัตริย์ เป็นชนวนหล่อ เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ประกอบพิธีภายในอุโบสถของวัดบางนา โดยมีพระเกจิอาจารย์ในจังหวัดปทุมธานี 10 รูป นั่งสวดในพิธีกรรม

จากนั้นนำไปปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็มอบให้ศิษยานุศิษย์และญาติโยมที่มาทำบุญบูชา จนเกิดประสบการณ์ต่างๆ มากมาย

จัดเป็นเครื่องรางยอดนิยมที่ต่างก็เสาะแสวงหา

 

ชาติภูมิ เป็นคนพื้นเพละแวกวัด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2444 พ่อเป็นชาวจีนล่องเรือสำเภาจากเมืองจีนมาอยู่ที่สามโคก บิดาชื่อ จู แซ่บุญเซ็ง เป็นชาวจีน มารดาชื่อ เข็ม เชื้อสายรามัญ ครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมด 7 คน พี่น้องเสียชีวิตด้วยโรคฝีดาษด้วยกันหมด เหลือเพียงท่านเท่านั้น

บวชเมื่อปี พ.ศ.2465 โดยเจ้าคุณพระรามัญมุนี วัดบางหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูบวรธรรมกิจ หรือหลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงปู่ทัด ลาหุโล เจ้าอาวาสวัดบางนา มีศักดิ์เป็นน้าชาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า จันทรังสี

เล่าเรียนอักขระเลขยันต์จากพระอาจารย์ต่างๆ และมีการเรียนภาษาขอมและภาษารามัญ ศึกษาเล่าเรียนทั้งสองภาษาจนแตกฉาน

นอกจากนี้ ยังไปศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงปู่เทียน ที่วัดโบสถ์อีกด้วย

มีปฏิปทาในการใฝ่หาวิชาความรู้มาก ใครแนะนำสั่งสอนท่านก็จดจำไว้เป็นอย่างดี หลวงปู่ท่านเชี่ยวชาญด้านภาษาขอมเป็นพิเศษ เรื่องอักขระเลขยันต์ต่างๆ

กระทั่งปี พ.ศ.2486 หลวงปู่ทัด เจ้าอาวาสวัดบางนามรณภาพ จึงได้รับแต่งตั้งให้รักษาการเจ้าอาวาส

ในปี พ.ศ.2487 สามารถสอบนักธรรมชั้นเอก และ พ.ศ.2489 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ

ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็บูรณปฏิสังขรณ์วัดจนรุ่งเรือง รับงานการสร้างโบสถ์ต่อจากหลวงปู่ทัด อดีตเจ้าอาวาสที่ทำคั่งค้างไว้จนสำเร็จลุล่วงลงด้วยดี

หลวงปู่เส็ง จันทรังสี

เป็นพระปฏิบัติมักจะออกธุดงค์ไปปริวาสกรรม ทุกปีมิได้ขาด มีปฏิปทาในทางสมถะ บริกรรมภาวนาเจริญพระคาถาวิชาอาคมต่างๆ

เล่ากันว่าเวลาว่างจากงานที่ต้องกระทำ จะนั่งนับลูกประคำที่คล้องคออยู่ บริกรรมพระคาถาเนืองนิตย์

เป็นสมภารปกครองวัดเรื่อยมาจนกระทั่งอายุ 65 ปี จึงเริ่มทำวัตถุมงคล การทำวัตถุมงคลครั้งแรกนั้นสร้างพระผงสมเด็จ 3 ชั้น รุ่นแรกของวัดบางนา ในปี พ.ศ.2510 หลังจากสร้างพระผงสมเด็จ 3 ชั้นมอบให้ลูกศิษย์ลูกหา

นอกจากนี้ ยังสร้างพระกริ่งรูปเหมือนท่าน มีทั้งแบบหลังตรงและหลังค่อม เนื้อทองแดงผสม สร้างพระปิดตาเนื้อทองเหลืองผสม สร้างเหรียญรูปไข่ รุ่นขี่วัวเนื้อทองแดงผสม สร้างเหรียญจอบรูปเหมือน มีทั้งจอบเล็กและจอบใหญ่ สร้างเหรียญหยดน้ำเนื้อทองแดงผสม สร้างรูปหล่อเนื้อผงปิดทอง

ที่กล่าวมานี้เป็นวัตถุมงคลรุ่นเก่าๆ ที่หลวงปู่สร้างขึ้นมา

 

วัตรปฏิบัติงดงามเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นผู้สงบเสงี่ยม พูดน้อย ใจดี มีอะไรแล้วใครขอเป็นต้องให้ผู้นั้นเสมอ เมื่อมีผู้ใดนำปัจจัยสี่มาถวาย มิได้เก็บไว้เป็นส่วนตัวเลย โดยจัดเฉลี่ยให้พระสงฆ์ที่อยู่ในวัด ถ้ามีมากก็จะมอบให้เป็นค่าก่อสร้างถาวรวัตถุ

นำเงินไปสร้างวัดวังหิน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง ได้ทำนุบำรุงหมู่กุฏิเสนาสนะวัดบางนาที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น

สาเหตุที่ไปสร้างวัดวังหินอีกแห่งหนึ่งนั้น ก็เนื่องจากท่านเห็นว่าสมัยนั้นชาวบ้านยากจนมาก ถิ่นที่อยู่ก็ทุรกันดารเป็นแหล่งหลบซ่อนของเหล่าเสือปล้น เกรงว่าชาวบ้านและลูกหลานจะมีนิสัยดุร้ายกันไปหมด

วันที่ 21 มกราคม 2531 มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 87 ปี พรรษา 66 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]