เหรียญหางแมงป่อง หลวงปู่ภู ธัมมโชติ วัดท่าฬ่อ จ.พิจิตร

“หลวงปู่ภู ธัมมโชติ” พระเกจิชื่อดังวัดท่าฬ่อ อ.เมือง จ.พิจิตร ที่ชาวเมืองชาละวันให้ความเลื่อมใสศรัทธา และรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี

สร้างวัตถุมงคลเอาไว้หลายชนิด ในวาระและโอกาสต่างๆ เป็นที่นิยมเสาะหากันแพร่หลาย ไม่ว่าพระเนื้อผงดำ พิมพ์สมาธิ ตะกรุดมหาอุด แหวนพิรอด ตะกรุดสร้อยสังวาล ตะกรุดโทนยันต์ค้าขาย ผ้าประเจียด เหรียญใบมะยม เหรียญแปดเหลี่ยม ฯลฯ

แต่ที่ได้รับความนิยม คือ เหรียญหางแมงป่อง เนื้อตะกั่ว

ปีที่จัดสร้างเหรียญไม่ได้ระบุแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า คณะศิษย์แสดงมุทิตาจิต สร้างเหรียญรุ่นนี้งถวาย ในปี พ.ศ.2455 ในโอกาสที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระครูชั้นพิเศษ

เหรียญหางแมงป่อง หลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อ

ลักษณะเหรียญ มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คล้ายเหรียญใบโพธิ์ แต่ปลายหางเอนไปด้านข้าง คล้ายหางแมงป่อง อีกทั้งรุ่นนี้ก็ไม่มีรูปเหมือนหลวงปู่อยู่ในเหรียญด้วย

ด้านหน้า ตรงกลางเป็นยันต์ห้า คือ นะโมพุทธายะ และยันต์สามตรงกลาง และมะอะอุ ส่วนอักขระรอบขอบนอกเป็นพระเจ้าสิบหกพระองค์ เวียนจากซ้ายไปขวา อ่านได้ว่า “นะ มะ นะ อะ นอ กอ นะ กะ กอ ออ นอ อะ นะ อะ กะ อัง”

ด้านหลัง ไม่มีขอบ ตรงกลางมีอักขระตัวจมเป็นภาษาไทย เขียนคำว่า “พระครูธุรศักดิ์เกียรติคุณ” อันเป็นนามสมณศักดิ์

วัตถุมงคลต่างๆ ล้วนมีประสบการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องคงกระพันชาตรี ชาวเมืองพิจิตรทราบดี

แต่ปัจจุบันหาก็ยากเช่นกัน

 

อัตโนประวัติ เป็นชาวพระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อเดือน 6 ปีเถาะ ตรงกับปี พ.ศ.2398 ที่บ้านผักไห่ อายุ 8 ขวบ บิดาได้ย้ายภูมิลำเนามาหากินที่บ้านหาดมูลกระบือ (หาดขี้ควาย) ต.ไผ่ขวาง อ.เมือง จ.พิจิตร

เมื่ออายุ 11 ขวบ บิดา-มารดานำไปฝากให้เรียนหนังสือขอมและไทยกับพระอาจารย์แช่ม ในสำนักของพระอุปัชฌาย์อิน เรียนหนังสือกับพระอาจารย์นิ่ม อายุ 16 ปี บรรพชาเป็นเณร ศึกษาพระปริยัติธรรม 1 ปีก็สึกออกมาช่วยบิดาประกอบอาชีพ

กระทั่งอายุ 23 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดเขื่อน อ.เมือง จ.พิจิตร เมื่อปี 2422 โดยมีพระครูศิลธรารักษ์ (จัน) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการนิ่ม จากวัดหาดมูลกระบือ กับพระอาจารย์เรือน วัดท่าฬ่อ เป็นคู่สวด ได้รับฉายาว่า ธัมมโชติ แปลว่า ผู้สว่างในทางธรรม

ครั้นปี พ.ศ.2437 ชาวบ้านท่าฬ่อได้นิมนต์มาอยู่วัดท่าฬ่อ ด้วยสมัยก่อนชำรุดทรุดโทรมขาดการเหลียวแล เมื่อมาอยู่แล้วก็ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ จนครบครัน โดยได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี

เดิมตั้งใจจะบวชระยะสั้น แต่แล้วก็ไม่คิดสึก กลับมุ่งศึกษาพระปริยัติธรรมและออกรุกขมูลธุดงค์ เคยติดตามหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ฝึกจิตจนกล้าแข็ง ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมจากหลวงพ่อเงิน รวมทั้งพระอาจารย์อื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีความรู้เรื่องสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณ ตามแบบอย่างหลวงพ่อเงิน ซึ่งเป็นพระอาจารย์

หลวงปู่ภู ธัมมโชติ

พ.ศ.2455 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจราชการคณะสงฆ์ในมณฑลภาคเหนือ ทรงมาประทับแรมที่วัดท่าฬ่อ 1 ราตรี และรับสั่งชมเชยชัยภูมิวัดท่าฬ่อยิ่งนัก ได้ปฏิสันถาร คารวะต้อนรับ และทูลปราศรัยโดยถูกต้องตามระเบียบราชการทุกประการ

จึงประทานฐานันดรให้รับพระราชทานพระครูสัญญาบัตรพัดยศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นพระครูธุรศักดิ์เกียรติคุณ เป็นพระครูชั้นพิเศษ และได้รับพระราชทานตราเสมาธรรมจักรให้นั่งที่พระอุปัชฌาย์ อุปสมบทกุลบุตรในแขวงอำเภอท่าหลวงและทั่วจังหวัดพิจิตร

ยังความปลาบปลื้มแก่คณะศิษย์ของท่านเป็นอย่างยิ่ง

 

เป็นผู้มีสติปัญญารอบคอบรู้เท่าทันการณ์และโอบอ้อมอารี ชอบก่อสร้างเพื่อเป็นประโยชน์ในพระพุทธศาสนา และมีวิชาความรู้ทางด้านวิปัสสนา ธรรมวินัย การช่างไม้ ช่างทอง การแสดง พระสัทธรรมเทศนาเทศมหาชาติชาดก 13 กัณฑ์ กับทั้งความรู้ทางเวชศาสตร์ และวิทยาคม จึงทำให้บรรดาสานุศิษย์นับถือท่าน

ในบริเวณวัดท่าฬ่อ ยังเมตตาได้เลี้ยงสัตว์ไว้มาก อาทิ กวาง, ไก่ป่า, แพะ ใช้ข้าวสุกหรือหญ้าเลี้ยงสัตว์ ก็จะเชื่องทุกตัว เคยมีคนมาลองดี เอาปืนมาแอบยิงสัตว์ต่างๆ ของวัด โดยเฉพาะกวาง แต่ยิงเท่าไหร่ก็ยิงไม่ออก จนคนยิงเข็ดไปเอง

สร้างคุณประโยชน์ต่อพระศาสนามาก จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวด และพระอุปัชฌาย์ ตามลำดับ

นอกจากจะเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแล้ว ยังเป็นพระนักพัฒนาที่สร้างคุณูปการแก่ชุมชนสังคมและสร้างความเจริญให้กับวัดและชุมชนมากมาย สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานต่างๆ ภายในวัดมากมาย จนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

 

ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2467 อาการอาพาธตามสังขารที่ร่วงโรยตามวัย โดยมีคณะศิษย์รับใช้ดูแลคอยปรนนิบัติอย่างใกล้ชิด

เริ่มมีอาการอาพาธหนัก มีอาการทรงๆ ทรุดๆ แม้อาการจะดีขึ้น แต่ไม่หายขาด อย่างไรก็ดี ท่านยังคงสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้บ้าง

ก่อนที่หลวงปู่ภูจะละสังขารไปอย่างสงบ วันที่ 4 ตุลาคม 2467 สิริอายุ 69 ปี •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]