Test Gliacloud – Desktop

ปลัด มท. นำถกปัญหาทารกคลอดก่อนกำหนด ย้ำต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้คู่รักที่วางแผนจะมีลูกได้เข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน เพื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (6 ธ.ค. 65) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด” ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะคณะกรรมการอำนวยการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยได้รับเมตตาจาก พระปัญญาวชิรโมลี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ธราธิป โคละทัต เลขานุการและผู้จัดโครงการฯ นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ท้องถิ่นจังหวัดนครนายก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีภารกิจสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนด้วยปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ในทุกมิติ ซึ่งปัญหาการเกิดก่อนกำหนดของทารกเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญอันส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนของประชาชนโดยที่ผู้ตั้งครรภ์ไม่ได้ล่วงรู้ล่วงหน้าหรือไม่มีความรู้ด้านการผดุงครรภ์กระทั่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะยาว เนื่องจากความสมบูรณ์ของทารกแรกเกิดนั้นจะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าทารกที่คลอดครบกำหนด รวมถึงต้องเผชิญกับสภาวะความเสี่ยงต่อโรคหรืออาจเสียชีวิตหรืออาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กในด้านอื่น ๆ ซึ่งจะต้องใช้อาหารเสริมทางด้านโภชนาการ และการเลี้ยงดูที่มีการเอาใจใส่และการดูแลเป็นพิเศษกว่าเด็กปกติทั่วไป นอกจากนี้ การที่เด็กเกิดมาแล้วมีร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์นั้นถือเป็นความทุกข์ของประชาชน และส่งผลต่อประชากรวัยแรงงานของประเทศในอนาคต

“กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเสริมสร้างความเข้าใจในการเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ และการวางแผนของครอบครัว ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคนในอนาคต จึงเป็นที่มาของการหารือในวันนี้ที่ต้องเชิญให้หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงเรียนแพทย์ที่เป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยมาช้านาน ได้มาร่วมหารือและให้ข้อแนะนำ ข้อเสนอแนะถึงแนวทางป้องกันและลดโอกาสเกิดการภาวะการคลอดก่อนกำหนดให้ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนคนไทยในทุกพื้นที่ได้มีการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและสามารถให้กำเนิดเด็กทารก ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยสิ่งที่ต้องทำเป็นการเร่งด่วนในขณะนี้ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด อำเภอ ตลอดจนกลไกของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ทุกส่วนต้องสร้างความตระหนักรู้และการรับรู้ให้กับประชาชน เริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ ตลอดจนถึงเมื่อเกิดมาเป็นทารก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยตั้งเป้าหมายในการลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายใน 1 ปี และในปีต่อไปอีกร้อยละ 50 ในทุกจังหวัด” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

ด้าน ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ธราธิป โคละทัต กล่าวว่า ภาวะที่ทารกเกิดก่อนกำหนด คือ ภาวะที่ทารกแรกเกิดที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิต และพบภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ทารกมีความพิการในช่วงหลังคลอด ได้แก่ เลือดออกในสมอง สายตาพิการ (ตาบอด) ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของทารก ครอบครัว และชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรและค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลรักษาทารกกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก เตียงในหออภิบาลทารกแรกเกิดไม่เพียงพอ แพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญมีจำกัดและขาดแคลนอุปกรณ์ เช่น ตู้อบทารกและเครื่องช่วยหายใจ นอกจากนี้ ครอบครัวและภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหรือฟื้นฟูสภาพร่างกายไม่น้อยกว่า 4 – 5 ปี หรือบางรายอาจต้องได้รับการดูแลและเลี้ยงดูไปตลอดชีวิต ซึ่งจากการทำวิจัยโดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนทีปังกรนภัทรบุตร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร พบว่าประมาณร้อยละ 50 – 60 ของการคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่มีโรคหรือภาวะแทรกซ้อน บางคนเกิดจากพฤติกรรมของสตรีตั้งครรภ์ ก่อให้เกิดภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด เนื่องจากสตรีเหล่านั้นยังขาดความรู้การป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากภาวะคลอดก่อนกำหนด จึงเข้ามารับการรักษาล่าช้า เป็นเหตุให้การยับยั้งภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดมักไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยเหตุนี้จึงให้ความสำคัญกับโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก โดยเน้นย้ำว่า “ต้นทางดีจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” กล่าวคือ ต้องร่วมกันสร้างระบบป้องกันและรักษาภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด ด้วยการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ ดูแลสุขภาพตนเองระหว่างการตั้งครรภ์ ให้เข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน มีการดูแลสุขภาพครรภ์ที่ดีในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป หรือสถานพยาบาลอื่น ๆ

“คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะกรรมการอำนวยการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทำการศึกษาและดำเนินงานเพื่อลดอุบัติการณ์การคลอดก่อนกำหนด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา โดยบูรณาการระบบส่งเสริมสุขภาพและดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในระดับจังหวัด ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานและผลลัพธ์ที่ดี ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น เกิดกลไกการทำงานแบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของการร่วมหารือกับกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นกระทรวงที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลประชาชนตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงระดับหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการฯ นำร่องไปสู่ชุมชนและเกิดมรรคผลอย่างแท้จริง” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ธราธิปฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับเด็ก และเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่กำลังวางแผนจะมีบุตร ว่าต้องมีการตรวจโรค หรือความเสี่ยง หรือความสมบูรณ์ของร่างกายก่อนที่จะตั้งครรภ์ และเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์จะต้องรีบไปฝากครรภ์ที่สถานพยาบาล เพื่อให้ได้รับการดูแลจากกุมารแพทย์ ซึ่งภายหลังการคลอดก็จะต้องมีวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี และสร้างพัฒนาการให้แก่เด็กทารก การวางแผนตั้งแต่ก่อน ระหว่าง หลัง การตั้งครรภ์จึงมีส่วนสำคัญ “ด้วยการให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ได้มีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่เข้าใจง่าย เพื่อเร่งสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน รวมไปถึงการดูแลสุขภาพของแม่หรือหญิงมีครรภ์ โดยตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของตนเองให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอเพื่อไปบำรุงเลี้ยงดูทารกในครรภ์ ตลอดจนถึงการสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ในการไปพบแพทย์เป็นประจำหรือเมื่อมีนัดพบแพทย์ ซึ่งจะเป็นส่วนที่สนับสนุนทำให้เกิดภาวะการคลอดก่อนกำหนดลดลง”

“จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งท่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ผู้นำท้องที่ และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้เน้นย้ำเรื่องการให้ความรู้ตั้งแต่คู่รักที่มาจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอ ว่าการเตรียมตัวเป็นคุณแม่จะต้องมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร นอกจากนี้ เรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ก็จะต้องเน้นย้ำและให้ความสำคัญในเรื่องของการรณรงค์ให้รู้จักการป้องกัน เพื่อมิให้เด็กที่อยู่ในวัยเรียนตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ตามมา ทั้งนี้ การวางแผนที่ดีในการสร้างครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพื้นฐานการพัฒนาชุมชน หรือการพัฒนาระดับประเทศ จะต้องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ คือการมีสุขภาพพลานามัยที่ดี มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงแข็งแรงในอนาคต ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

#WorldSoilDay #วันดินโลก #soilswherefoodbegins #Soils4Nurition #FAO #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SDGsforAll #ChangeforGood