เจดีย์ศรีสุพรรณอาราม ย้อนรอย 500 ปี ยุคทองล้านนา

หลังเจดีย์บรรจุพระธาตุเก่าแก่ อายุกว่า 500 ปี วัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ พังทลายลงมาในช่วงปลายเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา

สร้างความเศร้าสลดให้กับคนไทยและคนในพื้นที่ ด้วยเพราะเจดีย์วัดศรีสุพรรณ ถือเป็นหนึ่งในโบราณสถานเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางจิตใจ แหล่งรวมความเชื่อ ความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีมายาวนาน

ภายใต้ซากปรักหักพัง ค้นพบโบราณวัตถุ และสิ่งล้ำค่ามากมาย ที่ส่งต่อจากคนรุ่นก่อน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเชื่อ ความศรัทธา ในพระพุทธศาสนา จากอดีตถึงปัจจุบัน…

ส่งผลให้แนวทางการบูรณะฟื้นฟูองค์เจดีย์พระบรมธาตุ และโบราณวัตถุที่ค้นพบ กลายเป็นที่สนใจของคนในพื้นที่และประชาชนทั่วไป

 

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร อธิบายว่า จากการตรวจสอบสภาพของเจดีย์วัดศรีสุพรรณที่พังทลายลงมา พบว่า เจดีย์สีทองที่พังทลายลงมานี้เป็นการก่อสร้างเจดีย์ใหม่ หุ้มองค์เจดีย์ที่บรรจุพระธาตุซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร โดยหลังเจดีย์วัดศรีสุพรรณพังทลายลงเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 กรมศิลปากรได้อนุมัติงบฯ ฉุกเฉินจำนวน 2 ล้านบาท เข้ามาดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูเบื้องต้น โดยจะมีการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อสร้างองค์ความรู้ จากนั้นจะเพิ่มเติมงบประมาณเมื่อมีแนวทางอนุรักษ์ชัดเจนต่อไป

กรมศิลป์จะไม่ต่อเติม ไม่ทำในสิ่งที่ไม่รู้ จะรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิม แต่หากวัดมีความประสงค์จะสร้างเจดีย์ครอบขึ้นมา กรมจะสนับสนุนเรื่องวิชาการ รูปแบบเจดีย์สมัยพระเมืองแก้วเป็นอย่างไร เพื่อให้ถูกต้องตามรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา เพราะเป็นวัดที่พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนาเป็นผู้สร้าง การบูรณะเจดีย์ศรีสุพรรณ ทางวัดยังไม่ได้ข้อสรุป อาจสร้างเจดีย์ครอบใหม่ นำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจากวัดบรรจุไว้ใต้เจดีย์เหมือนเดิม หรือนำโบราณวัตถุมาจัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกรมศิลปากรพร้อมจะช่วยด้านวิชาการและการจัดแสดงให้เป็นมาตรฐานสากล” นายพนมบุตรกล่าว

แม้เจดีย์วัดศรีสุพรรณพังทลาย แต่อีกแง่มุมกรมได้กำหนดอายุโบราณวัตถุที่แม่นยำมากขึ้น

เป็นข้อมูลทางโบราณคดีที่เกิดประโยชน์

แนวทางการอนุรักษ์เจดีย์วัดศรีสุพรรณ เป็นตัวอย่างการบูรณาการ กรมใช้สรรพกำลังที่มี ได้แก่ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ นักโบราณคดีส่วนกลาง กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ และนักจดหมายเหตุ ร่วมทำงานอนุรักษ์กับวัด ชุมชน

โดยไม่มีความขัดแย้ง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมของประเทศ

ด้านนายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เล่าเรื่อนย้อนหลัง 500 ปี เจดีย์ศรีสุพรรณอาราม หรือเจดีย์วัดศรีสุพรรณ ไว้อย่างน่าสนใจว่า วัดศรีสุพรรณ ถือเป็นวัดเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากที่สุดแห่งหนึ่งในพื้นที่เมืองเชียงใหม่

จากการศึกษา พบหลักฐานฐานโบราณคดีที่สำคัญ คือ จารึกวัดศรีสุพรรณ ซึ่งเป็นจารึกหินทราย อักษรฝักขาม จารึกขึ้นในปี 2052 มีใจความสำคัญระบุว่า

“เจ้าเมืองเชียงใหม่ (พญาแก้ว) และพระราชมาดามหาเทวีเจ้า ได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐาน ณ มหาวิหารใช้ชื่อว่า ศรีสุพรรณอาราม เพื่อถวายกุศลแด่เจ้าแผ่นดินสองพระองค์ จากนั้นได้นิมนต์พระเถระจากวัดหมื่นล้านให้มาอยู่เป็นอาทิสังฆนายกในพระอารามแห่งนี้ หลังจากนั้นทรงสร้างพระอุโบสถและประดิษฐานพระธาตุในมหาเจดีย์”

เนื้อความข้างต้นในจารึก แสดงให้เห็นว่า ศรีสุพรรณอาราม มีความสำคัญในฐานะเป็นวัดที่กษัตริย์อาณาจักรล้านนาทรงสร้าง มีอายุแรกสร้างอยู่ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา

การสร้างวัดศรีสุพรรณ ตั้งแต่เริ่มจนแล้วเสร็จเกิดขึ้นในช่วงปี 2043-2052 เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนาได้รับการส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรือง

ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคพม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2121-2317 วัดศรีสุพรรณไม่ปรากฏชื่อโดยตรงในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆ ในช่วงนี้ สันนิษฐานว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังคงสภาพเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาและมีคณะศรัทธาดูแลบำรุงเรื่อยมา

กระทั่งปี 2325 เป็นต้นมา หลังจากเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ มีการกวาดต้อนผู้คนมาจากลุ่มน้ำคง หรือสาละวิน โดยนำกลุ่มคนช่วงฝีมือทำเครื่องเงินมาตั้งถิ่นฐานบริเวณพื้นที่วัดศรีสุพรรณ ส่งผลให้วัดดังกล่าว กลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มชุมชนช่างทำเครื่องเงินที่มาจากลุ่มน้ำสาละวิน

วัดศรีสุพรรณ กลายเป็นวัดนิกายครง หรือนิกายคง และในปี 2400 ยังคงสถานะเป็นวัดที่ได้รับการอุปถัมภ์โดยเจ้าหลวงเชียงใหม่ คือ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์

นักโบราณคดีชำนาญการ ยังบอกด้วยว่า ภายหลังจากเจดีย์พระธาตุ พังทลายลงมา การบูรณะองค์เจดีย์ และแนวทางอนุรักษ์ ตลอดจนการจัดการโบราณวัตถุที่ได้มีการค้นพบหลังเจดีย์ถล่ม ทั้งพระพุทธรูปโบราณสมัยล้านนา แผ่นจารึกลานเงิน และพระบรมสารีริกธาตุ กลายเป็นที่สนใจของคนในแวดวงโบราณคดี

การประเมินและตรวจโครงสร้างเบื้องต้น พบโครงสร้างด้านในของเจดีย์มี 2 ชั้น

ด้านในสุดสันนิษฐานน่าจะเป็นโครงสร้างสมัยล้านนา

ส่วนการก่อเสริมด้านนอกเป็นโครงสร้างที่ได้รับจากการบูรณะใหญ่

โบราณวัตถุที่พบภายในเจดีย์แบ่งได้ 2 กลุ่ม ตามยุคสมัย คือ 1. กลุ่มโบราณวัตถุร่วมสมัยล้านนา พบจากการเก็บกู้โบราณวัตถุระยะเร่งด่วน ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ และทำทะเบียนแล้ว 89 รายการ ประกอบด้วย พระพุทธรูปโลหะ พระพุทธรูปหินแกะ ประติมากรรมโลหะ ภาชนะโลหะ ประติมากรรมโลหะ แผ่นจารึกลานเงิน และพระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น

โบราณวัตถุกลุ่มนี้ กำหนดอายุทางศิลปะได้ราวช่วง พุทธศตวรรษที่ 21-22 ร่วมสมัยราชวงศ์มังรายปกครองอาณาจักรล้านนา

ปัจจุบันโบราณวัตถุทั้งหมด ได้รับการทำทะเบียนและมอบให้วัดศรีสุพรรณเก็บรักษา

และ 2. กลุ่มโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุ ปี 2518 ประกอบด้วย พระพุทธรูป เรือโลหะจำลอง พระเครื่อง เกจิอาจารย์และเหรียญกษาปณ์ เป็นต้น

โบราณวัตถุและศิลปะหลายชิ้น ปรากฏชื่อ สกุล ของผู้อุทิศถวาย สันนิษฐานได้ว่า กลุ่มวัตถุชุดนี้น่าจะถูกบรรจุเข้าไปในองค์เจดีย์คราวบูรณะใหญ่ เมื่อปี 2518

“โบราณวัตถุที่พบเป็นภาพสะท้อนของความเจริญรุ่งเรืองของล้านนา มีกษัตริย์มาสร้างวัด ส่วนใหญ่จะเป็นของอุทิศจากชนชั้นสูงในช่วงการก่อสร้างวัด ทั้งนี้ โบราณวัตถุจากเจดีย์อาจไม่ค่อยสมบูรณ์ เพราะก่อนการบูรณะครั้งใหญ่ มีการลักลอบขุดโบราณวัตถุไปจำนวนมาก ส่วนยุค 2518 จะเป็นโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องถวายเป็นพุทธบูชา นอกจากสร้างโอกาสเรียนรู้และองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่อย่างมีส่วนร่วม ยังนำไปสู่การเฝ้าระวังและสำรวจโบราณสถานอื่นๆ ในพื้นที่โดยละเอียด ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุพังถล่มซ้ำ” นายยอดดนัยกล่าว

ขณะที่พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ กล่าวว่า การพังทลายของเจดีย์ครั้งนี้ ทำให้พบหลักฐานหลายอย่างที่บันทึกไว้ในจารึก ว่าเป็นความจริงอย่างชัดเจน แนวทางการบูรณะ คงจะต้องปฏิสังขรณ์จัดสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นการล้มลงมาทั้งองค์

สำหรับโบราณวัตุที่ค้นพบนั้น มีผู้สนใจอยากเข้าชมจำนวนมาก แต่ยังไม่มีโอกาสเปิดให้ประชาชนชนได้เข้าชม เพราะยังกังวลในเรื่องความปลอดภัย

ดังนั้น จึงมีแนวคิดจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงอยู่ภายใต้องค์เจดีย์

ส่วนงบประมาณจะมาจากที่ใดนั้น เชื่อว่า ผู้มีจิตศรัทธาจะร่วมแรงร่วมใจบูรณะเจดีย์ขึ้นมาใหม่ได้ดังเดิม และถูกต้องตามหลักสถาปัตยกรรมล้านนา •