นงนุช สิงหเดชะ : 49 ศพที่ออร์แลนโด วิถีอเมริกัน-วิถีแห่งปืน-ความรุนแรง

Bryan R. Smith / the 46th / AFP

ไม่เหนือความคาดหมาย ที่จะเกิดเหตุกราดยิงหมู่ครั้งร้ายแรงขึ้นอีกในสหรัฐอเมริกา เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทำนายได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว รอเพียงว่าครั้งไหนจะรุนแรงที่สุดจนทุบสถิติเก่าได้เท่านั้น

นับเฉพาะประวัติศาสตร์อันใกล้ ปี 2542 เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ มีผู้เสียชีวิต 15 ราย ต่อมาความรุนแรงยกระดับขึ้นในปี 2550 เมื่อ ซึง ชุย โฮ นักศึกษามหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทควัย 23 ปี กราดยิงเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยตายไป 32 ศพ ส่วนตัวเขาเองยิงตัวตาย

ซึง ชุย โฮ เป็นคนเกาหลี ซึ่งอพยพไปอยู่อเมริกากับครอบครัวตั้งแต่อายุ 8 ขวบ สันนิษฐานว่าอาการป่วยทางจิตทำให้ก่อเหตุขึ้น

14 ธันวาคม 2555 อดัม แลนซา วัย 20 ปี กราดยิงเด็กนักเรียนชั้นประถมโรงเรียนแซนดีฮุก เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนตติคัต เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 27 คน แบ่งเป็นเด็กนักเรียน 20 คน ผู้ใหญ่ 7 คน ถือว่าน่าสะเทือนใจที่สุด เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กชั้นประถม

เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าการก่อเหตุของอดัม แลนซา น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ชื่อ score sheet และจุดประสงค์การก่อเหตุครั้งนี้ก็เพื่อจะทำแต้มให้ตัวเองในฐานะสังหารคนได้มากที่สุด (ตามแนวของเกมดังกล่าว) จากนั้นเขาก็ฆ่าตัวตาย เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นได้แต้มจากการยิงเขาตาย

12 มิถุนายน 2559 โอมาร์ มาทีน ชาวอเมริกันเชื้อสายอัฟกัน ลงมือสังหารหมู่ในบาร์เกย์ ที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ไปด้วยกัน 49 ศพ บาดเจ็บอีกจำนวนเท่าๆ กัน ถูกบันทึกว่าเป็นเหตุกราดยิงหมู่ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ

เหตุการณ์ที่ออร์แลนโด อาจถือว่าเป็นครั้งที่ 2 ที่ผู้ลงมือยิง ได้รับแรงกระตุ้นจากกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามหรือไอซิส เพราะก่อนจะลงมือ ผู้ร้ายรายนี้ได้โทรศัพท์ไปยัง 911 (เบอร์แจ้งเหตุฉุกเฉิน) พร้อมกับประกาศความภักดีต่อกลุ่มไอซิส

ก่อนหน้านั้น 2 ธันวาคม 2558 ไซเอ็ด ฟารุก ชาวอเมริกันเชื้อสายปากีสถาน กราดยิงเพื่อนร่วมงานในศูนย์การแพทย์สำหรับผู้พิการทางสมองในเมืองซานเบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย ตายไป 14 คน โดยมีหลักฐานว่าเขาและภรรยาฝักใฝ่ไอซิส

นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของการกราดยิงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับวันจะถี่รุนแรงมากขึ้น

หากกะประมาณเอาจากข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อก็น่าจะเดือนละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย

แต่ที่แน่ๆ ดินแดนประชาธิปไตยและเสรีภาพแห่งนี้ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการกราดยิงสังหารหมู่มากที่สุดในโลก

สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ ระบุว่า อเมริกามีอัตราการยิงสังหารหมู่มากที่สุดในโลก โดยช่วงระหว่างปี 2509-2555 เกิดเหตุแล้ว 90 ครั้ง (ไม่นับรวมการยิงอันเนื่องจากความขัดแย้ง การทะเลาะวิวาทระหว่างแก๊งอาชญากรรม)

ส่วนศูนย์วิจัยพิวของสหรัฐบอกว่า อเมริกามีปริมาณปืนหมุนเวียนในตลาดประมาณ 270-310 ล้านกระบอก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ 319 ล้าน ก็หมายความว่าชาวอเมริกันเกือบทุกคนมีปืนคนละ 1 กระบอกเป็นอย่างน้อย

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะอเมริกาค่อนข้างเปิดเสรีเรื่องการครอบครองปืน ทำให้คนครอบครองและหาซื้อปืนได้ง่าย ง่ายในระดับใกล้เคียงกับการเดินเข้าไปซื้อของกินของใช้ในร้าน 7-11

ดังนั้น จึงยากที่จะออกกฎหมายเพิ่มความเข้มงวดการครอบครองปืน ซึ่งเกิดจากองค์ประกอบอย่างน้อย 2 ประการคือ

1. พ่อค้าปืนเสียประโยชน์ และพ่อค้าปืนเหล่านี้อิงแอบอยู่กับนักการเมือง สามารถวิ่งเต้นไม่ให้เกิดการควบคุมอาวุธ

ประการที่ 2 ค่านิยมของชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย ที่อาจติดนิสัยมาจากยุคคาวบอย ช่วงตั้งถิ่นฐานของชาวสหรัฐที่ทุกอย่างตัดสินกันด้วยปืน โดยในอดีตเคยมีการกำหนดให้การดวลปืนเป็นสิ่งถูกกฎหมาย นักการเมืองสหรัฐ เช่น วุฒิสมาชิก ก็เคยแก้ปัญหาด้วยการดวลปืนมาแล้ว ปืนจึงกลายเป็นวิถีชีวิตของอเมริกัน

นอกจากนี้ คนอเมริกันเห็นว่าการมีปืนคือเสรีภาพ ช่วยให้ป้องกันตัวจากภัยต่างๆ การให้สิทธิครอบครองปืนคือการให้เสรีภาพ

ประเด็นนี้ถูกตอกย้ำอยู่บ่อยๆ จากสมาคมไรเฟิลแห่งสหรัฐ ที่มักอ้างว่าการห้ามคนอเมริกันครอบครองปืน ขัดกับรัฐธรรมนูญ เมื่อใดก็ตามที่สังคมมีการหยิบยกเรื่องกฎหมายควบคุมอาวุธปืน

คราวเกิดเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดี ฮุก ดูเหมือนจะจุดประกายให้เกิดการถกเถียงเรื่องการควบคุมปืนอย่างจริงจังที่สุด แต่พอผ่านไป 2 ปี เรื่องนี้ก็ซาลง

นักการเมืองที่เคยขึงขังก็อ่อนปวกเปียกลง

หากมองภาพใหญ่กว่านั้น สหรัฐเป็นแชมป์โลกอันดับ 1 ตลอดกาล ในฐานะประเทศที่ส่งออกอาวุธมากที่สุดในโลก ล่าสุดปี 2010-2014 สหรัฐครอบครองส่วนแบ่งตลาด 31% (เพิ่มจากช่วงก่อนหน้านี้) ของตลาดอาวุธทั่วโลก

เมื่อเป็นอย่างนี้ และหากสหรัฐยังคงสถานะเดิมเช่นนี้เอาไว้ในเรื่องอาวุธและการครอบครองปืน ดินแดนแห่งเสรีภาพแห่งนี้ คงจะต้องบันทึกสถิติเอาไว้เรื่อยๆ ว่า ครั้งต่อไปจะทำสถิติคนตายได้มากเพียงใด

อเมริกาไม่ได้ใช้สติปัญญาแก้ปัญหานี้ โดยแทนที่จะแก้ที่ต้นตอ คือปล่อยให้คนมีปืนง่ายเกินไป ขายอาวุธกันเกร่อเหมือนขายขนม กลับไปคิดแก้ที่ปลายเหตุ เช่น หลังเกิดเหตุยิงเด็กนักเรียนชั้นประถมแซนดี ฮุก มีบริษัทหัวใสผลิตผ้าห่มกันกระสุนออกมาขาย บอกว่าเพื่อให้เด็กนักเรียนห่มไปเรียน

ลักษณะของมันเหมือนเสื่อโยคะ มีสายสะพายข้าง 2 ด้านเหมือนสายเป้ เมื่อใส่แล้วก็จะเหมือนแบกเสื่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าไว้ข้างหลัง

แต่หากคนร้ายจะยิง คงจะเลือกยิงตอนที่เหยื่อไม่ได้ห่มผ้ากันกระสุนมากกว่า

คำถามก็คือ วิธีนี้ได้ผลแน่หรือ เพราะเหยื่ออาจถูกยิงก่อนที่จะคว้าผ้าห่มมาคลุมได้ทัน ถ้าจะให้ได้ผลน่าจะผลิตเสื้อกันกระสุนแบบใส่ติดตัวได้ตลอดเวลามากกว่า

แต่แนวโน้มเชื่อว่าในอนาคต คนอเมริกันก็คงต้องทำอย่างนั้นทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพราะโอกาสจะถูกยิงสุ่มนั้นมีได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะในโรงหนัง บาร์ ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ

หรือแม้กระทั่งหลังเกิดเหตุการณ์ยิงที่เมืองซานเบอร์นาดิโน คนอเมริกันในหน่วยงานเดียวกับผู้ก่อเหตุยังให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาน่าจะพกปืนกันทุกคนเพื่อจะได้ป้องกันตัวเอง ฟังแล้วสะท้อนใจ และไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นแนวคิดของคนในประเทศอารยะ

แต่พวกเขาลืมคิดในมุมกลับว่า การที่อนุญาตให้ทุกคนมีปืน นั่นหมายถึงเปิดโอกาสให้ผู้ร้ายก่อเหตุง่ายขึ้น มากกว่าจะช่วยให้คนดีมีโอกาสป้องกันตัว (คนดีที่มีปืนอาจถูกยิงตายก่อนจะมีโอกาสชักปืนออกมาป้องกันตัว)

การกราดยิงครั้งล่าสุดที่ออร์แลนโด อาจจะมีคนอเมริกันจำนวนหนึ่งหรือแม้กระทั่งนักการเมืองอ้างว่า ผู้ก่อเหตุมีอาการทางจิต และเป็นพวกหัวรุนแรงทางศาสนา เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ใช่เรื่องก่อการร้ายอย่างเป็นระบบ

แต่นั่นคงเป็นข้อแก้ตัว และยังตีปัญหาไม่แตก เพราะปัญหากราดยิง ไม่ได้เกิดจากคนที่มีหัวรุนแรงทางศาสนาเท่านั้น (พูดง่ายๆ คือตำหนิมุสลิมหัวรุนแรง) แต่ยังเกิดจากคนอเมริกันทั่วไปที่มีปัญหาทางจิตอันเนื่องจากสภาพสังคม-เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมทางรายได้ การเลือกปฏิบัติต่อคนสีผิวอื่น ความเครียดอันเกิดจากการแข่งขัน สังคมที่เน้นวัตถุนิยมภายนอกแบบสุดโต่ง ไม่รู้จักการแสวงหาความสุขจากภายใน ผลคือมีคนเป็นโรคจิตมาก กินยาแก้เครียด แก้วิตกกังวล มากที่สุดในโลก

เมื่อมาปะเหมาะเข้ากับการให้คนมีปัญหาเหล่านี้เข้าถึงปืนได้ง่าย มันจึงเป็น perfect storm องค์ประกอบสมบูรณ์แบบ อำนาจทำลายล้างสูง

บางทีความรุนแรงอาจอยู่ในสายเลือดคนอเมริกันอย่างไม่รู้ตัว เพียงแต่ที่ผ่านมา ใส่เสื้อคลุม “อารยะ” ให้ดูดีน่านับถือเท่านั้น