สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เมื่อครูใช้ใจแลกใจ (3)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การประชุมวิชาการระดับประเทศโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาปีที่ 3 เน้นสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของครู ผมทิ้งท้ายไว้เมื่อตอนที่แล้วว่าวิทยากรคนสำคัญได้รับเชิญมาปาฐกถานำ แต่เกิดติดภารกิจสำคัญ มาไม่ได้

ทีมงานผู้จัดใช้เทคโนโลยีถ่ายทำเป็นวิดีทัศน์ทั้งภาพและเสียงจริง ฉายขึ้นจอประกอบการเปิดประชุม งานเดินหน้าไปตามรายการอย่างราบรื่น องค์ปาฐกได้สองงานพร้อมกันในเวลาเดียวกัน

ภาพ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาหัวข้อ “การพัฒนาครูเพื่อการศึกษาในยุคสมัยปัจจุบัน”

 

“เรียนท่านผู้บริหาร คณะครู นักเรียน ผู้มีเกียรติทุกท่าน ก่อนมีงานประชุมครั้งนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบบริหารการศึกษา มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 2 คำสั่ง แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การเรียนการสอนก็ต้องเดินไป”

“ก่อนงานปีนี้ ผมได้อ่านบทความ 2 บทความ ทำให้ต้องคิดว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมีเครื่องมือใหม่ๆ บทความแรกของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เขียนถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ขณะนี้โลกกำลังปรับตัวเป็นการรวมกันของเทคโนโลยีไอที หุ่นยนต์ และการสื่อสาร 3 มิติ จากการสำรวจทักษะที่จำเป็นยุคนี้มีประมาณ 10 ตัว ได้แก่ 1.ทักษะการแก้ปัญหา 2.ทักษะการคิดวิเคราะห์ 3.ทักษะการคิดสร้างสรรค์ 4.ทักษะการจัดการคน 5.ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น 6.วุฒิภาวะทางอารมณ์ 7.ทักษะการตัดสินใจ 8.การเจรจาต่อรอง 9.การมีใจรักบริการ 10.การยึดหยุ่นทางความคิด”

“8 ตัวแรกพูดกันมา 10 ปีแล้ว ไม่ได้มาจากชั้นเรียน แต่มาจากการฝึกฝน ปฏิบัติจริง ไม่ได้มาจากไอคิว ทักษะมีใจรักการบริการ สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ต้องการเอาใจมนุษย์ ต่างจากหุ่นยนต์ ทักษะการยืดหยุ่นทางความคิด งานที่ก่อตัวใหม่หากไม่ยืดหยุ่น สนใจเฉพาะสาขา เราคงจะตกงาน 10 ทักษะไม่ได้เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์เท่านั้นต้องลงมือ การสร้างคนไม่ใช่ความรู้อย่างเดียว แต่ลงมือปฏิบัติ”

“บทความที่ 2 จากเว็บไซต์ไข่เจียวดอทคอม สะท้อนถึงการไม่ยืดหยุ่นทางความคิด เราคงต้องได้ข้อสรุปเหมือน บิลล์ เกตส์ ความรู้ที่เรียนมามีหมดอายุจึงต้องยืดหยุ่น ไม่ติดความรู้ที่เราเรียนเท่านั้น ต้องปรับให้ทันสมัยตลอดเวลา ครูต้องสอนให้เด็กติดตามความรู้ใหม่ๆ ทำอย่างไรสอนให้เด็กเข้าใจแนวโน้มของโลก พัฒนาการเรียนไม่เฉพาะเนื้อหา Project Based Problem Based เปลี่ยนการเรียนมาเป็นการวิจัย การทำงานคงพัฒนาต่อไป สร้างลูกศิษย์ไม่ให้เอาแต่ดาวน์โหลดความรู้อย่างเดียว แต่ต้องยืดหยุ่นวิธีคิดด้วย”

องค์ปาฐก จบคำกล่าวภายในเวลา 15 นาที ก่อนละครพูดโดยทีมครูแกนนำและเด็กนักเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาจากโรงเรียนภาคเหนือจะเริ่มขึ้น

 

ฉากจำลองบรรยากาศการเรียนในห้องเรียน เด็ก 4 คน แซวกันเองและวิจารณ์ครู “เรียนเครียดอยู่แต่ในห้อง น่าเบื่อ” ออกไปเรียนรู้นอกห้อง ทำโครงงานในสถานที่จริง ครูและนักเรียนพากันไปน้ำตกภูซาง จังหวัดพะเยา

“วันนี้แม่พานักเรียนมาเที่ยว” ครูพูด และอธิบายความหมาย เพาะพันธุ์ปัญญา

เพาะ เพาะเลี้ยงต้นกล้าหาแหล่งอาหารเอง เรียนรู้ด้วยตนเอง

พันธุ์ สายสัมพันธ์ ความเป็นเพื่อน ความหวังดีของครู

ปัญ ปัญหา หากไม่มีความสำเร็จก็ไม่เกิด

ญา ยาชูกำลัง กาย ใจ เป็นแรงผลักดันเรา

เด็กตอบ “หนูเปลี่ยนจากที่แบ่งเวลาไม่เป็น ทำให้คิดได้ อะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ”

“ทุกคนเป็นแรงผลักดันให้ครูเปลี่ยนเหมือนกัน เปลี่ยนมากเลยด้วย จากที่ครูไม่ค่อยแคร์ใคร ต้องเอาใจใส่ทุกคนมากขึ้น ใช้ใจทำงานกับพวกหนู ใจแลกใจ สิ่งที่ดีและสำคัญที่สุด นำพาให้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน” ครูกล่าว

จากนั้น ครูแกนนำหลากรุ่น 6 คน พูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังเรียนรู้ร่วมไปกับนักเรียน ท่วงทำนองประโยคสอดรับต่อกัน

“ถามคือสอน ถาม กระตุ้นให้นักเรียนไปค้นหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง เราต้องสร้างนักเรียนของเราให้ตั้งคำถามด้วยตัวเอง หาคำตอบด้วยตัวเอง”

“จากคนที่เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ อัตตาลดลง ทำให้เกิดปัญญา นี่คือ RBL”

“ความคิดดีๆ ทำให้ครูมีความสุขมากกว่า พฤติกรรมที่แสดงออกไป สะท้อนให้รู้ว่าเราคิดอย่างไร”

“ทำให้ครูเข้าใจ เมตตาศิษย์มากขึ้น ส่งผลถึงความสัมพันธ์ ครูมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูกลุ่มสาระอื่นๆ”

“ได้ดึงชุมชน ให้เด็กเรียนรู้นอกโรงเรียน มีประสบการณ์ร่วมทำให้รักท้องถิ่น”

ก่อนจบลงด้วยบทกลอน มือกุม มือเกี่ยว จะเชื่อมต่อพลังให้ยั่งยืนกันต่อไป

ภาพเด็กหญิงนันทนา กิ่งทอง นักเรียนโรงเรียนบางแพปฐมพิทยา จ.ราชบุรี พร้อมคำกล่าวของเธอ ปรากฏบนจอคั่นเวลา ติดตามด้วยภาพและคำพูดของครูแกนนำ

“เรียนรู้จากของจริง เราเปิดโลกให้เด็กมีส่วนร่วมสนุกมาก จากที่เราเคยเป็นแต่ผู้สั่งการ เราฟังเด็กมากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมจิตตปัญญา เรียนในห้อง เรียนนอกห้อง ถ้าเด็กคิดเป็น คิดเองได้ เป็นทางออกสำหรับประเทศ”

“วันหนึ่งเด็กมาบอก ครูหนูเปลี่ยนแล้วนะ ทำให้เรามีกำลังใจ มีพลังทำต่อไป” ภาพครูน้ำตาไหลริน ค่อยเลือนหายไป

 

การแสดงของครูแกนนำภาคกลาง และศูนย์พี่เลี้ยง มหาวิทยาลัยมหิดล และศิลปากร เริ่มขึ้นเป็นรายการต่อไป

ในชุดรำโขน โดยครูกลุ่มการงานอาชีพและเทคโนโลยีสอนคอมพิวเตอร์และทีมโรงเรียนท้ายหาด จ.สมุทรสงคราม ประกอบการขับเสภา ครูคือใคร ใครคือครู จากบทกวีเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์

“ขอมอบเพลงนี้มาบูชาครู” ครูอรุณวรรณ กลั่นกลึง ครูวิทยาศาสตร์ผู้ขับร้อง กล่าวก่อนขึ้นต้นบทเสภา เสียงและท่วงทำนองสะกดผู้ฟังทั้งห้อง

จากนั้น ครูเกษณี ไทยจรรยา แกนนำเพาะพันธุ์ปัญญา โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา ขึ้นกล่าวความในใจ

“เดิมเป็นครูมีระยะห่างจากนักเรียนมาก สอนให้จบก็คือจบ”

“เพาะพันธุ์ปัญญาทำให้ดิฉันเปลี่ยน เข้าหาเด็กมากขึ้น ใช้โครงงานฐานวิจัยพาเด็กลงชุมชน เห็นประกายตาของเด็ก”

“ทำให้มีจิตวิญญาณความเป็นครู ครูไม่ได้หายไปไหน”

ฉากจบด้วยคำร้องบทไหว้ครู ปาเจรา จริยาโหนติ เด็กนักเรียนชาย หญิง ค่อยๆ ก้มลงกราบ

พร้อมกับภาพวาดที่ครูศิลปะ วาดภาพด้วยวิธีพ่นสีไปพร้อมๆ กับการแสดงสดบนเวที เสร็จลงพอดี ออกมาเป็นภาพแสงเทียนในความมืด

 

ครับ ผมบรรยายภาพการแสดงสะท้อนพัฒนาการของกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ถ่ายทอดออกมาด้วยรูปแบบละครต่างๆ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครูและนักเรียน เป็นคุณสมบัติติดตัวไป

ยังมีอีกหลายชุดจนครบทุกภาคจะพยายามเก็บมาเล่าต่อไป

แต่ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือน ได้ไปเห็น ได้ดู ได้ชม ได้ฟังของจริง

หลายต่อหลายคนน้ำตาริน สะเทือนใจและดีใจกับความสำเร็จของพวกเขา

ครูพันธุ์เหมาะ นักเรียนพันธุ์ใหม่