สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ซินจ่าว ฮานอย… ราชภัฏไทยในเวียดนาม (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“เอารูปถ่ายมามั้ยครับ”
“ขอสองรูปนะครับ”

ผู้ประสานงานการเดินทาง เอ่ยปากถามคณะผู้มาเยือนทีละคน ขณะที่นักเดินทางต่างชาติหลายคนเร่งสาวเท้าเข้าไปต่อคิวรอรับบริการถ่ายภาพด่วน เพื่อใช้ประกอบหลักฐานผ่านเข้าเมือง

ภาพความทรงจำในอดีตเมื่อปี 2538 หวนคืนมาระหว่างที่ผมเดินทางถึงสนามบินนอยไบ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม อีกครั้ง ปลายเดือนมีนาคม 2559

ครั้งโน้น ผมติดตามคณะ คุณปราโมทย์ ฝ่ายอุปาระ พี่เอื้อยใหญ่ หนึ่งในไทยรัฐ นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ไปเยือนเวียดนามตามคำเชิญของสมาคมนักหนังสือพิมพ์เวียดนาม

มาเที่ยวนี้ต่อท้ายคณะสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร ครูอาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยการนำของ ดร.ชัยพร รัตนนาคะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่ง อุปนายกสภามหาวิทยาลัย ไปสานต่อภารกิจด้านการศึกษา

 

20 กว่าปีผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างก้าวกระโดด พิธีการตรวจคนเข้าเมืองรวดเร็ว นอกจากไม่ต้องต่อคิวถ่ายรูปประกอบวีซ่าที่สนามบิน เป็นปัญหากับคนที่ลืมพกติดตัวไปแล้ว ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มบัตรขาเข้า (ARRIVAL CARD) กับบัตรขาออก (DEPARTURE CARD) โชว์เพียงหนังสือเดินทางฉบับเดียวผ่านสะดวก

สนามบินนอยไบสร้างใหม่ กว้างขวางใหญ่โต ทันสมัย งวงรอรับเครื่องบินเรียงรายต่อกันเป็นแถวยาวเหยียด ร้านขายสินค้าปลอดภาษี สินค้าญี่ปุ่นจัดร้านเชิญชวนนักเดินทางเข้าไปชมระหว่างรอคณะมาพร้อมกัน

เด็กหนุมเวียดนาม 2 คน เดินเข้ามายกมือไหว้ทักทายแนะนำตัวเป็นภาษาไทย คนหนึ่งเป็นข้าราชการ อีกคนหนึ่งเป็นเจ้าของบริษัทท่องเที่ยว

คนแรกทำงานประจำฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก ทำหน้าที่ดูแลนักเรียนเวียดนามที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรฯ คนที่สองจบสาขาธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรฯ รับจัดบริการมาแล้วหลายคณะตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เดินทางร่วมคณะมาตั้งแต่ที่เมืองไทย

เรื่องราว เส้นทางชีวิตของคนหนุ่ม คนสาวรุ่นใหม่ ประสบการณ์ของเขาน่าสนใจไม่น้อย ไว้ค่อยเล่าสู่กันฟังต่อไป

บัสคันใหญ่ที่มารอรับกำลังเคลื่อนตัวออก สาวเวียดรุ่นใหญ่หยิบไมค์ขึ้นมาแนะนำตัวเอง “ซินจ่าว สวัสดีทุกคนค่ะ” ถ้อยคำสำเนียงภาษาไทยชัดแจ๋ว

“ดิฉันชื่อ Dang Ngoc Ninh เรียกสั้นๆ ว่า นิล ก็ได้นะคะ ทำงานให้กับสถานีวิทยุกระจายเสียงเวียดนามภาคภาษาไทย และเป็นไกด์ท่องเที่ยวไปด้วย พูดได้ทั้งเวียดนาม กัมพูชาและไทย ชื่อภาษาไทยว่า นิล ศรีสมบูรณ์ รับหน้าที่นำทางการดูงานของคณะนี้”

ประสบการณ์ชีวิตของเธอ พูดได้ทั้งเวียดนาม กัมพูชาและไทย ผันตัวเองจากโฆษกวิทยุปลดปล่อยเวียดกงในอดีตมาถึงปัจจุบัน มีเรื่องเล่ามากมายตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์สงคราม จนถึงความเปลี่ยนแปลงของเวียดนามยุคดิจิตอล

 

ออกจากนอยไบรถวิ่งขึ้นทางด่วนมุ่งหน้าเข้าใจกลางกรุงฮานอย ริมถนน อาคารพาณิชย์ บ้านเรือนปลูกสร้างใหม่ผุดขึ้นเป็นระยะๆ ผ่านท้องทุ่ง นาข้าวเขียวขจี คลองส่งน้ำไหลทอดตลอดสุดสายตา

มาคราวก่อนมองไปกลางทุ่งละลานตาไปด้วยฮวงซุ้ย หลุมศพวีรบุรุษนิรนาม ตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามอินโดจีนกอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศส ต่อด้วยสงครามเวียดนามขับไล่สหรัฐ ก่อนปิดฉากลงเมื่อปี 2518 ร่างไร้วิญญาณถูกนำมาฝังกระจัดกระจาย วันนี้จัดพื้นที่รวมไว้เป็นที่เป็นทาง สร้างใหม่ ใหญ่โตสมฐานะของครอบครัวที่ความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ ลูกหลานได้กราบไหว้รำลึกถึงผู้กล้าของพวกเขา สะท้อนถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพื้นที่เดิมใช้ทำการเกษตรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ผ่านสี่แยกถนนสายหลัก โปสเตอร์ป่าวประกาศการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 21-28 มกราคม 2559 บางจุดยังไม่ถูกรื้อถอน เป็นสัญลักษณ์กระตุ้นเตือนพี่น้องชาวเวียดร่วมกันผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงหลังการประชุมใหญ่มีมติเลือก นายเหงียน ชวน ฟุก อดีตรองนายกรัฐมนตรี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทน นายเหงียน เติ๋น สูง คนเดิม ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม หลังคณะเราเดินทางไปถึงได้สองวัน พรรคมีมติเลือก นางเหวียน ทิ คิม หงาน วัย 61 ปี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาแห่งชาติเป็นผู้หญิงคนแรก เป็นเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์หญิงที่มีตำแหน่งสูงที่สุดภายในพรรค ทรงอำนาจเป็นอันดับ 4 ของประเทศ

ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามยุคสมัย แต่สิ่งที่ยังพบเห็นอยู่ทั่วไปไม่เปลี่ยน คือ ความกระตือรือร้น ขยันขันแข็งของคนเวียด คำพูดที่ว่า คนจีนว่าแน่แล้วยังแพ้คนเวียด สายตาคนเดินทางวันนี้กับเมื่อหลายสิบปีก่อนยังคงเป็นอยู่เช่นนั้น

เช่นเดียวกับความรัก เคารพ ศรัทธา เทิดทูนต่อผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ ลุงโฮ ด่งจี้ หรือสหายโฮจิมินห์ ของคนเวียด รุ่นพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม แม้การรับรู้ของคนรุ่นใหม่จะจืดจางลงไปบ้างก็ตาม

กับการจราจรในเมืองใหญ่ ฮานอย โฮจิมินห์ ซิตี้ ดานัง กวางติ เว้ ฯ คับคั่งไปด้วยรถยนต์นานาชนิดโดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ ส่งเสียงแตรดังตลอดเวลา วัฒนธรรมการขับขี่ยวดยานกับการข้ามถนนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเวียดนาม ที่ร่ำลือไปทั่ว คนต่างชาติที่ผ่านเข้าไป ล้วนถูกแนะนำว่า ข้ามถนนให้เดินหน้า เดินหน้าอย่างเดียวไม่ต้องถอยหลัง

แต่สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งในเมืองและชนบทกลับต่ำอยู่ในระดับรั้งท้ายสุดๆ ของโลก

เพราะอะไรค่อยว่ากันต่อไป

 

เดินทางเที่ยวนี้อย่างที่ผมเล่าแต่ต้น เพื่อสานต่อภารกิจด้านการศึกษา มีคำถามว่าทำไมราชภัฏอุดรฯ ถึงเลือกไปเวียดนาม ไม่ใช่เพียงแค่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กเวียดนาม การแข่งขันทดสอบความสามารถระดับนานาชาติสูงกว่าไทย

แต่เหตุเพราะความสัมพันธ์ที่มีต่อเนื่องกันมายาวนาน เป็นมหาวิทยาลัยต่างชาติในแถบอินโดจีนที่ได้รับความนิยมจากพ่อแม่ผู้ปกครองเวียดนามที่มีกำลังส่งลูกหลานมาเรียนเมืองไทย กลับไปได้ชื่อว่าจบต่างประเทศ มีการงานที่ดีทำอีกต่างหาก

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีจัดว่าอยู่ระดับแถวหน้า ของพัฒนาการความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างไทยเวียดนาม การรุกคืบไปจัดบริการทางการศึกษาถึงเวียดนาม เป็นมาอย่างไร

เยี่ยมเยือนล่าสุดครั้งนี้ไปที่ไหน สิ่งที่พบเห็น ได้ยิน ได้ฟัง ความคิดที่ได้ เรื่องราวระหว่างทาง น่าสนใจทีเดียว