อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : One Belt One Road ของจีนกับอาเซียนภาคพื้นทวีป (5)

จีน มือที่ประกอบสร้างระเบียบใหม่ภูมิภาคอาเซียน

จีนหรือที่ผมเรียกว่ามือที่ประกอบสร้างความมั่งคั่งและอิทธิพลจีนในอนาคตระยะยาว คือ เส้นทาง R3A ที่วิ่งระหว่างเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนผ่าน สปป.ลาวเข้าสู่ไทยที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

มีรายงานตั้งแต่ปี 2003 ว่า จีนผลักดันให้เรือสินค้าขนาดใหญ่สามารถเดินเรือจากเมืองซือเหมามาสู่หลวงพระบางได้ ทำให้ต้องระเบิดแก่งกลางแม่น้ำโขงกว่าร้อยแห่งบริเวณแม่น้ำโขงไทย-ลาว

จะมีการระเบิดที่แก่งคอนผีหลง อำเภอเชียงของ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาล

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความยาว 4,909 กิโลเมตร ไหลจากทิเบตถึงเวียดนาม ซึ่งไม่มีใครทราบว่าคุ้มค่ากับการเดินเรือขนาดใหญ่หรือไม่ (1)

ต่อมาในปี 2015 การเคลื่อนไหวการระเบิดเกาะแก่งตามแม่น้ำโขงที่ผ่านชายแดนไทย สปป.ลาว เมียนมา จากทางจีนที่จะมีการระเบิดเกาะแก่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือขนส่งสินค้าขนาด 500 ตันวิ่งผ่านเข้าจีนได้ก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

อีกทั้งยังเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต้องการไปท่องเที่ยวที่หลวงพระบาง เมืองท่องเที่ยวมรดกโลกของ สปป.ลาว ด้วย

น่าสนใจมากว่าการพัฒนาแม่น้ำโขงเพื่อการขนส่งและการเดินเรือเกิดจากการที่คณะรัฐมนตรีไทยยุค พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติแผนพัฒนาการเดินเรือนานาชาติ บน Langchang-Mekong (2015-2025) เพื่อเป็นกรอบเพื่อความปลอดภัยด้านการขนส่งทางน้ำตลอดแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 นี่เอง (2)

ต่อจากนั้นไม่นานคือ 23 มกราคม 2017 บริษัทสำรวจเรือจีนชื่อ บริษัท CCC Second Harbour Consultants ได้เสนอแผนการสำรวจเชิงเทคนิคของการเดินเรือสำรวจเกาะแก่งโดยเฉพาะชายแดนในส่วนของไทย ลาวและเมียนมา ใกล้บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ทั้งหมด 15 จุด เป็นเวลา 55 วัน

แต่เมื่อถูกชาวบ้านที่เชียงรายประท้วง นายเหวิ่น ยี่ เซิง กงสุลใหญ่ของจีนประจำจังหวัดเชียงใหม่ได้ขอร้องให้ทางฝ่ายไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายให้ความช่วยเหลือเรือจีนที่มาทำการสำรวจครั้งนี้ด้วย

ทางเรือสำรวจจีนอ้างต่อทางการไทยตลอดเวลาว่าเป็นการสำรวจร่องน้ำ ดูเรื่องตลิ่งพัง วิถีชีวิตชาวบ้านและการประมง ไม่ได้เตรียมการหรือจะเข้ามาระเบิดเกาะแก่งหรือเสนอให้ทางการไทยระเบิดเกาะแก่งเพื่อให้เรือขนถ่ายสินค้าขนาด 500 ตันขนถ่ายสินค้าทั้งจากจีนและไทยได้มากและปลอดภัยขึ้น (3)

แต่มือประกอบสร้างนี้ได้ประกอบสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญแห่งศตวรรษ คือ รถไฟเชื่อมต่อจีนตอนใต้และลาวแล้ว

 

ข้อมูลจากกระทรวงป้องกันประเทศลาว ทางการลาวได้จัดกำลังพลหลายหน่วยรวม 5 กองพัน จำนวน 340 คน เข้ารับผิดชอบค้นหาและเก็บกู้วัตถุระเบิดตามแนวทางรถไฟลาว-จีน ที่มีการสำรวจทางธรณีศาสตร์และก่อสร้างทั้ง 6 ระยะ ตาม 6 สัญญาที่เซ็นกับบริษัทก่อสร้างจีนปลายปี 2016 พิธีจัดขึ้นในนครหลวงเวียงจันทน์ อันกลายเป็นรูปธรรมหนึ่งในแผนการอันทะเยอทะยานของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะเปิดประตูจากมณฑลภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนคือ มณฑลยูนนาน ออกสู่อ่าวไทย ลงไปจนถึงท่าเรือในสิงคโปร์

4 มกราคม 2017 พล.ท.จันสะหมอน จันยาลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศลาว โดยมี นายบุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะชี้นำโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน จากท่าบ่อแตนไปนครหลวงเวียงจันทน์ ระยะทาง 400 กิโลเมตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศลาวอธิบายว่า (4)

“…การก่อสร้างรถไฟลาว-จีน บรรจุอยู่ในแผนเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติครั้งที่ 8 ว่าด้วยการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ทำให้ประเทศลาวมีทางออกสู่ทะเล กลายเป็นดินแดนแห่งการเชื่อมต่อและการขนส่งทางบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้า เปลี่ยนถ่ายสินค้า ตามแผนที่เรียกว่า การพัฒนาสีเขียวอย่างยั่งยืน จนถึงปี 2030…”

ก่อนหน้านั้น 25 ธันวาคม 2016 รัฐบาลลาวได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างขึ้นในแขวงหลวงพระบาง โดยมี นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โครงการก่อสร้างรถไฟลาว-จีนนี้มีมูลค่าโครงการ 5,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นโครงการก่อสร้างครั้งใหญ่ที่สุดในดินแดนลาว

โดยคาดว่าจะต้องนำเข้าแรงงานและช่างกับวิศวกรจากต่างประเทศนับหมื่นคน

ที่มาภาพ: skyscrapercity.com

โครงการรถไฟลาว-จีนนี้ รัฐบาลจีนถือหุ้นใหญ่ 65% และรัฐบาลลาวถือหุ้น 35% เป็นเส้นทางรถไฟยาว 417 กิโลเมตรจากชายแดนลาว-จีน ไปยังสถานีสุดท้ายในรอบนครเวียงจันทน์ โดยมีแผนการจะต่อไปยังสถานีรถไฟปัจจุบัน ที่บ้านคงโพสี ท่านาแล้งใกล้กับสะพานมิตรภาพลาว-ไทย ด้านจังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟของไทยในอนาคต

ที่น่าสนใจ ความพยายามของจีนต่อการก่อสร้างรถไฟจีน-ลาวนี้สูงมาก เพราะต้องมีการขุดเจาะอุโมงค์มากถึง 34 อุโมงค์

ตามตัวเลขของ นายสมจิต ปันยาสัก รองเจ้าแขวงอุดมไซ ทางรถไฟจีน-ลาวตัดผ่านแขวงอุดมไชมีความยาวทั้งหมด 126.6 กิโลเมตร คิดเป็น 30.6% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของเส้นทางรถไฟ กำลังจะมีการก่อสร้างสะพานรถไฟรวม 57 แห่ง รวมความยาว 12.69 กิโลเมตร กับอุโมงค์ 34 อุโมงค์ ความยาวทั้งหมด 75.72 กิโลเมตร (5)

การก่อสร้างทางรถไฟในแขวงนี้ ดำเนินการโดยบริษัทรับเหมาจากจีนรวม 3 สัญญา แบ่งเป็น 3 ช่วงตอน ซึ่งได้แก่ บริษัทวิศวกรรมทางรถไฟเลข 5 บริษัทวิศวกรรมสากล และบริษัทวิศวกรรมทางรถไฟเลข 8

โดยทั้งหมดเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน รัฐบาลลาวถือหุ้น 30% ในโครงการทางรถไฟมูลค่า 5,800 ล้านดอลลาร์ เชื่อมชายแดน 2 ประเทศกับเมืองหลวงเวียงจันทน์ของลาว โดยใช้เงินกู้จากจีน

นายสมจิต ปันยาสัก รองเจ้าแขวงอุดมไชให้สัมภาษณ์ว่า (6) “…ธนาคารส่งออกและนำเข้าของจีนคิดดอกเบี้ย 2%…”

ที่มาภาพ : www.fpri.org

ท่าทีของไทยต่อจีน

น่าสนใจยิ่งนัก ท่าทีของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันต่อจีนไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยในเรื่องรถไฟไทย-จีน

11 กรกฎาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดนครราชสีมา

แต่รายละเอียดก็ยังสับสน มีการให้กรมทางหลวงเป็นผู้ลงทุนสร้างตอม่อรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนเอง

ในเวลาเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยก็ประชุมเรื่องรถไฟไทย-จีนกับทางการจีนเป็นครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ไม่มีใครทราบรายละเอียด

การที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติการซื้อเรือดำน้ำจากรัฐบาลจีน รวมถึงการอนุมัติการจัดซื้อรถหุ้มเกราะจากทางการจีน ย่อมทำให้เห็นได้ว่า ท่าทีของรัฐบาลไทยชุดนี้ต่อจีนด้านความมั่นคงทางด้านการทหารและการต่างประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ความแนบแน่น

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงถือเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่งที่การเดินทางเยือนทำเนียบขาวของนายกรัฐมนตรีไทยยังไม่ลงตัวซักที เป็นเพราะเราตั้งใจ หรือทางรัฐบาลสหรัฐตั้งใจ หรือไม่ค่อยว่างทั้งคู่เท่านั้นเอง

การเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การจับทิศทางและแนวโน้มที่ใกล้เคียงความจริง เพื่อสนับสนุนสถานะการต่อรองในระดับภูมิภาคย่อมเป็นผลดีต่อผู้กำหนดนโยบายของประเทศนั้น ไม่ว่าประเทศใหญ่หรือประเทศเล็ก

โฉมหน้าใหม่ของภูมิภาคปรากฏขึ้นแล้ว

———————————————————————————————————
(1) นิตยสาร สารคดี ปีที่ 19 ฉบับที่ 225 พฤศจิกายน 2004 : 73.
(2) Apinya Wipatayotin and Nuavarat Suksamran, “Mekong survey draws protests” Bangkok Post 19 April 2017 : 1.
(3) “จีนสำรวจแม่น้ำโขง” กรุงเทพธุรกิจ 23 เมษายน 2017 : 1.
(4) “ลาวจัดทหาร 5 กองพันออกเก็บกู้ระเบิด เคลียร์ทางรถไฟ 417 กิโลเมตร บ่อแตน-เวียงจันทน์” ผู้จัดการ 11 มกราคม 2017 http://mgronline.com/Indochina/ViewNews.aspx?News ID=9600000003300 (เข้าเมื่อ 30 เมษายน 2017)
(5) “เริ่มเจาะอุโมงค์อีก 75 ก.ม. ในภาคเหนือลาว ทางรถไฟจีน-เวียงจันทน์” MGR Online 9 เมษายน 2017 : 14
(6) Ibid.,