โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก พระอธิการอ่ำ อิสิทินโน วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี

หลวงพ่ออ่ำ อิสิทินโน

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก

พระอธิการอ่ำ อิสิทินโน

วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี

 

 

“หลวงพ่ออ่ำ อิสิทินโน” หรือ “พระอธิการอ่ำ” อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกวัดเกตุน้อยอัมพวัน อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นพระสงฆ์รุ่นเก่าอีกรูปของราชบุรี มีชื่อเสียงโด่งดังในพื้นที่มาตั้งแต่ช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 5

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมคือ “เหรียญหลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อย รุ่นแรก”

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2462 ที่ระลึกในงานประกอบพิธีฌาปนกิจศพ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ห่วงเชื่อมแบบโบราณ ตัวเหรียญเป็นเหรียญข้างกระบอก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือน ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปมีอักขระภาษาขอมว่า “อิสิทินโน” รอบเหรียญมีอักขระยันต์ภาษาขอมอ่านได้ว่า “นะ ชา ลี ติ สะ ทะ วิ ปิ ปะ สะ อุ พุท ธะ สัง มิ”

ด้านหลัง เป็นอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า “ทุ สะ มะ นิ” มีอักขระเขียนว่า “ที่ระลึกในการฌาปะนะกิจ (ท่านอ่ำ) ๒๔๖๒”

ได้รับความนิยม ถึงแม้จะเป็นเหรียญตาย ที่สร้างหลังมรณภาพไปแล้วก็ตาม

ปัจจุบันเริ่มหายาก ส่วนใหญ่ถูกตามเก็บเข้ากรุ

ประวัติความเป็นมาของพระอธิการอ่ำนั้น  มีเพียงคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งมีการเล่าสืบทอดต่อกันมาว่า ก่อนที่จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เคยเป็นอดีตขุนโจรมาก่อน มีชื่อเรียกกันว่า “เสืออ่ำ”

หลบหนีการจับกุมของทางการ ต่อมาเมื่อได้มาพบกับพระอุปัชฌาย์ปาน โสปาโก เจ้าอาวาสวัดบางคนทีนอก จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ขอฝากตัวเป็นศิษย์ และมีความคิดแน่วแน่ว่าจะกลับใจเลิกเป็นโจร ตัดขาดจากอบายมุขทั้งปวง ตั้งใจประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม

จึงเมตตาเป็นพระอุปัชฌาย์จัดการบวชให้เป็นพระภิกษุ โดยได้รับฉายาว่าอิสิทินโน ที่พัทธสีมาวัดบางคนทีนอก จ.สมุทรสงคราม

เหรียญหลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อย รุ่นแรก

 

มีเรื่องเล่าว่าทางการได้ติดตามมายังวัดเกตุน้อยอัมพวัน เพื่อจับกุมเสืออ่ำ ซึ่งขณะนั้นกำลังช่วยงานพระอุปัชฌาย์ปานอยู่ จึงได้ขอเอาไว้ว่า “บัดนี้เสืออ่ำไม่มีแล้ว มีแต่พระอ่ำ” และรับรองกับทางการว่าจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบพระภิกษุอ่ำ ในฐานะพระอุปัชฌาย์

จำพรรษาอยู่ที่วัดบางคนทีนอก และเป็นกำลังสำคัญช่วยงานพระอุปัชฌาย์ปาน สร้างศาสนสถานเสนาสนะต่างๆ รวมทั้งสร้างอุโบสถวัดเกตุน้อย อัมพวัน

วัดเกตุน้อยอัมพวันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 94 หมู่ 9 ต.คุ้งกระถิน อ.เมือง จ.ราชบุรี ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ.2435

และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2503

 

ตามประวัติที่บันทึกไว้นั้น กล่าวถึงคุณตาเกตุ คุณยายน้อย เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้น้อมนำถวายที่ดินของตนแด่พระอุปัชฌาย์ปาน อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคนทีนอก (ปากคลอง) เพื่อสร้างวัด โดยพระอุปัชฌาย์ปานเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระเกจิชื่อดังมากมาย อาทิ พระพุทธวิริยากร (จิตร) วัดสัตตนารถปริวัตร ราชบุรี

เมื่อหลวงพ่อปานได้รับถวายที่ดินแล้ว จึงได้ร่วมกันกับพุทธศาสนิกชนในพื้นที่และใกล้เคียงช่วยกันระดมทุนสร้างอุโบสถ ตลอดถึงเสนาสนะต่างๆ โดยเมื่อสร้างอุโบสถแล้วเสร็จ จึงได้แจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตามลำดับ ขออนุญาตตั้งวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2435 โดยใช้ชื่อวัดว่าวัดเกตุน้อยอัมพวัน เพื่อเป็นอนุสรณ์ในกุศลศรัทธาของคุณตาเกตุ และคุณยายน้อย ที่ได้ถวายที่ดินอันเป็นที่สวนของตนเพื่อสร้างวัดไว้ในพระพุทธศาสนา แต่ชาวบ้านมักเรียกชื่อวัดสั้นๆ ว่า วัดเกตุน้อย

ภาพในวัดเกตุน้อยอัมพวัน มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งนามว่าหลวงพ่อดำ หรือพระพุทธสัมฤทธิ์พิชิตไพรี ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถ เล่ากันว่า พ.ศ.2414 ตรงกับปีมะแม ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวประมงกลุ่มหนึ่งได้ออกลากอวนหาปลาบริเวณปากอ่าวแม่กลอง

ขณะที่จะลากอวนขึ้นมานั้น เกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถลากขึ้นมาได้เนื่องจากติดวัตถุบางอย่าง ไต้ก๋งจึงใช้ลูกเรือดำน้ำลงไปสำรวจ จึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูป ปรากฏว่ามีเฉพาะองค์พระ ปราศจากพระเกศและฐาน ชาวประมงกลุ่มนั้นหลังจากนำพระพุทธรูปขึ้นมาได้แล้ว จึงนำมาถวายให้กับพระอุปัชฌาย์ปาน โสปาโก วัดบางคนทีนอก ซึ่งช่วงนั้นพระอุปัชฌาย์ปานทำการสร้างวัดเกตุน้อยอัมพวัน อยู่เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านและพุทธศาสนิกชน

จึงนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานในอุโบสถ พร้อมทั้งหล่อพระเกศและฐานเสียใหม่ให้เรียบร้อยสมบูรณ์แบบ

 

เนื่องด้วยเนื้อของจากพระพุทธรูปเป็นเนื้อสัมฤทธิ์มีสีดำ ชาวบ้านจึงขนานนามว่า “หลวงพ่อดำ” ตั้งแต่สมัยนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้

ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2435

พัฒนาเสนาสนะสร้างความเจริญให้กับวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ และยังเป็นที่รักและเคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง

มีบันทึกของวัดบางคนทีนอกว่า พระอุปัชฌาย์ปาน มรณภาพลงเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2447

ส่วนหลวงพ่ออ่ำถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ.2461 รวมเวลาที่ท่านปกครองวัด 26 ปี