วิรัตน์ แสงทองคำ / viratts.WordPress.com/ชีพจร ‘เซ็นทรัล’

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

ชีพจร ‘เซ็นทรัล’

 

ธุรกิจหนึ่งซึ่งบ่งบอกความเป็นไปในมิติสำคัญทางสังคม

“บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “เซ็นทรัลรีเทล” เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลาย ประเภทผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย (Multi-format and Multi-category) ในประเทศไทย และมีการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเป็นผู้นำในประเทศอิตาลี และเป็นหนึ่งในผู้นำในประเทศเวียดนาม” คำนิยามธุรกิจเบื้องต้นที่จะกล่าวถึง (อ้างจากข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ https://www.centralretail.com/th/about-us/)

ต่อด้วยภาพเชิงขยาย-ธุรกิจหลักของกลุ่มเซ็นทรัล ธุรกิจครอบครัวใหญ่หนึ่งแห่งสังคมไทยในนามตระกูลจิราธิวัธน์ ทั้งในแง่ความมั่งคั่งและตำนาน

ในภาพที่มองกัน กลุ่มเซ็นทรัลมีฐานะสำคัญ ผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทย จากธุรกิจครอบครัว จากยุคก่อตั้งเมื่อราว 7 ทศวรรษที่แล้ว เติบโตมาอย่างเป็นจังหวะก้าว ตามกระแสสังคมอ้างอิงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้คนในสังคมเมือง ขยายฐานต่อเนื่องจากเมืองสู่หัวเมืองใหญ่ ฯลฯ

ตั้งแต่รุ่นบุกเบิก จากร้านโชห่วย จนมาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจห้างสรรพสินค้า โมเดลใหม่ ทดแทนห้างฝรั่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก้าวสู่ยุคไลฟ์สไตล์ตะวันตก ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตสังคมไทยในเมืองใหญ่

ในยุคสงครามเวียดนาม กลุ่มเซ็นทรัลในฐานะธุรกิจครอบครัว รุ่นที่ 2 ก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกสังคมไทยในรูปแบบหลากหลายที่สุด

ล่าสุด ในรุ่นที่ 3 ธุรกิจค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัลเดินหน้าขยายเครือข่ายสู่ต่างประเทศตามแผนที่น่าสนใจ ทั้งในประเทศเติบโตใหม่-เวียดนาม และประเทศต้นแบบสังคมเมืองแห่งโลก-อิตาลี

 

เซ็นทรัลรีเทลกับเรื่องราวและความเป็นไป จึงมีความหมาย เป็นดัชนีหนึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมในหลายๆ มิติ

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เซ็นทรัลรีเทลตัดสินใจเดินแผนการเข้าตลาดหุ้นไทยเมื่อกลางปี 2562 ตามจังหวะเวลาเข้าท่าเข้าทาง สังคมไทยเพิ่งมีรัฐบาลใหม่มาจากกระบวนการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งว่างเว้นมา 5 ปีเต็ม

ขณะเดียวกัน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏตัวในฐานะประธานกรรมการ เซ็นทรัลรีเทล ด้วยบทสนทนาที่น่าฟัง

“จากการที่ได้ร่วมทำงานกับกลุ่มเซ็นทรัลอย่างใกล้ชิด ผมเชื่อมั่นว่าเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมและพร้อมที่สุดสำหรับเซ็นทรัลรีเทลที่จะเดินหน้าสู่ความสำเร็จขั้นต่อไป จากปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการเติบโตของ GDP พร้อมด้วยกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ขยายตัว รวมถึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและการเป็น 1 ใน 20 เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของโลก” ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กล่าวไว้ในถ้อยแถลง

ในแง่ธุรกิจครอบครัว ตระกูลจิราธิวัธน์ตัดสินใจนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ มีเดิมพันกว่าครั้งใดๆ ตั้งใจตั้งราคา IPO (42 บาท/หุ้น) ไว้อย่างที่เชื่อ ที่ควรเป็นไป

ในที่สุดบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเซ็นทรีลรีเทล (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ-CRC) ได้ฤกษ์เข้าตลาดหุ้น (20/2/2020) เป็นหลักทรัพย์ใหม่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (ก่อนจะถูกทำลายสถิติในเวลาต่อมา โดย OR-บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก)

เป็นจังหวะที่ท้าทาย ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ปะทุขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน เวลานั้นมีผู้ติดเชื้อแล้วมากถึง 75,000 คน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2,200 คน

ความท้าทายมีราคาสูงทีเดียว จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ราคาหุ้น CRC ยังไม่เคยพ้นน้ำ (สูงกว่าราคา IPO) เลย บางช่วงตกลงถึงเกือบๆ 50% (มีนาคม) ปัจจุบันราคายังคงระดับต่ำกว่าราวๆ 20%

 

ที่สำคัญที่เป็นจริง ปรากฏในรายงานผลการประกอบการงวด 9 เดือนปี 2563 (สิ้นสุด 30 กันยายน 2563) “มีรายได้รวม 143,234 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.4 และขาดทุนสุทธิ 760 ล้านบาท ลดลง 6,620 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน”

เชื่อกันว่าผลประกอบการขาดทุนที่ว่า น่าจะเป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ในหลายสิบปีทีเดียว

คำอรรถาธิบายเป็นไปอย่างที่ว่ากัน ให้ภาพ “ตัวแทน” สังคมธุรกิจไม่น้อย “มีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทย-เวียดนาม และอิตาลี โดยการสั่งปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกเป็นการชั่วคราว และในส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตและคอนวีเนียนสโตร์มีการจำกัดระยะเวลาการให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม” (อ้างจากการวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ เซ็นทรัลรีเทล นำเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ-12 พฤศจิกายน 2563)

และอีกตอนซึ่งต่อเนื่องอย่างมีนัยยะสำคัญ

“แม้ว่าภายหลังรัฐบาลจะได้มีมาตรการผ่อนปรนโดยให้สามารถเปิดบริการได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ลูกค้ายังคงชะลอการใช้จ่าย จากความกังวลในเรื่องการระบาดของโรคในต่างประเทศ การกลับมาระบาดในรอบใหม่และภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว รวมทั้งมาตรการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง” และแล้วความกังวลนั้น (ที่ขีดเส้นใต้ไว้) ก็เกิดขึ้นจริงๆ และหนักหน่วงเอาการ

COVID-19 กับภาวะระบาดรอบใหม่ในปลายปี 2563 หนักหน่วงกว่าช่วงต้นๆ อย่างมากอย่างที่รู้กัน แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะปี 2564 ผนวกไว้ในผลประกอบการตามรอบบัญชี คงมีผลไม่มาก

 

อันที่จริงมีภาพอย่างเจาะจงที่สำคัญซ่อนอยู่ (อ้างอิงจาก Thailand Conference : Investor presentation 25 มกราคม 2564) ภาวะการขาดทุนครั้งสำคัญครั้งแรกเกิดขึ้นในไตรมาสที่สองถึงกว่า 2 พันล้านบาท ขณะที่ไตรมาสที่สามฟื้นตัวมีกำไรอีกครั้ง แต่โดยรวมยังขาดทุนอยู่

ความคาดหมายการฟื้นตัวแบบ V-shape จะเกิดขึ้นหรือไม่ในไตรมาสที่สี่ เป็นเรื่องไม่นานเกินรอ

บทสรุปทั้งปี 2563 ว่า เซ็นทรัลรีเทลจะประสบภาวะขาดทุนครั้งแรกในปีแรกที่เข้าตลาดหุ้นหรือไม่ จะเป็นวาระแรกเปิดฉากยุคใหม่ จาก Private company สู่ Public company อย่างไม่เป็นใจสักเท่าไหร่หรือไม่

ในอีกมุม ชีพจร “เซ็นทรัลรีเทล” (ผ่าน Thailand Conference : Investor presentation-อ้างแล้ว) ให้ภาพบางมิติ ความเป็นไปทางธุรกิจ เป็นภาพซ้อน สัมพันธ์และเชื่อมโยงกับสังคมวงกว้าง เป็นบทเรียนที่น่าติดตามด้วยเช่นกัน

พิจารณาจากโครงสร้างรายได้ของเซ็นทรัลรีเทล เชื่อว่าแสดงความเป็นไปแห่งวิถีชีวิตปัจเจกท่ามกลางวิกฤต เป็นทิศทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคดูสมเหตุสมผลขึ้น นอกจากทิศทางที่เห็นๆ กัน ว่าด้วยการเติบโตซึ่งเกี่ยวข้องระบบออนไลน์แล้ว ธุรกิจที่เป็นไปจริง อย่างที่เรียกว่า Foods (ซูเปอร์มาร์เก็ต พลาซ่า และร้านสะดวกซื้อ) และ Hardline (สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตกแต่งบ้าน วัสดุก่อสร้าง และสินค้าดีไอวาย) มีความสำคัญมากขึ้น

ขณะที่สินค้าแฟชั่นซึ่งเป็นสินค้าหลักของเซ็นทรัลรีเทล ที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุดค่อยๆ ลดบทบาทลง

 

อีกภาพที่ใหญ่พึงสังเกต พิจารณาสัดส่วนรายได้เซ็นทรัลรีเทลในแต่ละพื้นที่ภูมิศาสตร์ แต่ละประเทศซึ่งมีพัฒนาการแตกต่างกัน ภายใต้เงื่อนไขซึ่งควรอ้างประกอบไว้

“เซ็นทรัลรีเทลมีเครือข่ายร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีกที่สำคัญ 1,952 ร้านค้า ใน 55 จังหวัดในประเทศไทย 124 ร้านค้าใน 37 จังหวัดในประเทศเวียดนาม และห้างสรรพสินค้า 9 สาขาใน 8 เมืองในประเทศอิตาลี” (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)

ในสังคมไทย พื้นฐานพื้นที่ดั้งเดิมของเซ็นทรัลรีเทลภายใต้เครือข่ายอันครอบคลุม ครองสัดส่วนแบ่งรายได้มากที่สุดก็จริง

ทว่ามีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง ด้วยข้อมูลที่ปรากฏ จาก 75% (2562) เหลือ 72% (2563)

ส่วนประเทศอิตาลี-ต้นแบบสังคมเมืองที่ดำเนินมายาวนาน ทั้งนี้ เซ็นทรัลรีเทลมีเครือข่ายเฉพาะเมืองใหญ่ๆ ดูจะลดบทบาทลงพอสมควร จากสัดส่วน 7% เหลือ 4%

ขณะประเทศเวียดนาม ถือว่าเป็นที่ที่ระบบเศรษฐกิจกำลังเติบโต มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจจาก 18% เป็น 24%

อย่างที่เคยว่า สังคมไทยปัจจุบัน ดัชนีและความเป็นไปสำคัญๆ อยู่ที่ “ธุรกิจใหญ่”

 

#V-shape

#เซ็นทรัลรีเทล