คำ ผกา : วังเวงในเบื้องหน้า

คำ ผกา
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ได้อ่านบทความชื่อ Donald Trump Isn”t the Presidential Candidate We Should Be Worried About The real danger is the smarter, more capable neo-fascist politician who will inevitably rise in his wake. (ทรัมป์ไม่ใช่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่น่ากลัว แต่อันตรายที่แท้จริงคือ นักการเมืองที่ฉลาด มากกว่าสามารถที่มาพร้อมกับอุดมการณ์นีโอฟาสซิสต์ที่จะขึ้นมาหลังจากที่กระแสนี้ได้ถูกปลุกขึ้นมาแล้ว)

โดย John Feffer จาก www.thenation.com/article

ฉันไม่ใช่คนที่รู้เรื่องการเมืองต่างประเทศ และยิ่งไม่รู้เรื่องการเมืองอเมริกา

แต่ความน่าสนใจของบทความนี้คือการพยายามอธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองขวาจัดกลับมามีที่อยู่ที่ยืนในหลายประเทศ หรือแม้กระทั่งชนะการเลือกตั้ง ทั้งเคสของโปแลนด์ เกือบทุกประเทศในยุโรปตะวันออก

การค่อยๆ ปรากฏตัวของพรรคขวาสุดโต่งในฝรั่งเศส สวีเดน

หรือคะแนนนิยมของทรัมป์ที่ทำให้เราต้องส่ายหัวด้วยความไม่เข้าใจ

และด้วยคำอธิบายนั้น ทำให้ฉันคิดว่า น่านำมาปรับมองสังคมการเมืองไทย

John Feffer พูดถึงกรณีของโปแลนด์ว่าจากยุคหลังคอมมิวนิสต์ ประเทศโปแลนด์แบ่งออกเป็น

โปแลนด์เอ กับ โปแลนด์บี โปแลนด์เอ คือกลุ่มคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ มีการศึกษา คนอายุน้อย ได้รับประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม

ส่วนคนโปแลนด์บี คือคนในชนบทที่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม โลกาภิวัตน์ หรือการเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับอียู ตกงาน ภาคเกษตรกรรมล่มสลาย ต้องออกไปขายแรงงานนอกประเทศ

คนโปแลนด์เอ มีความเป็นเสรีนิยม (ไม่ใช่เสรีนิยมที่ตรงข้ามกับฝ่ายซ้ายในความหมายทั่วไป) แต่เสรีนิยมในแง่ของการไม่เคร่งศาสนา ไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายโบสถ์ พระ จะมายุ่มย่ามเรื่องศีลธรรมของประชาชน มีขันติธรรมต่อความแตกต่างหลากหลาย ไม่รังเกียจผู้อพยพ เห็นว่าควรกระชับความสัมพันธ์กับอียูให้แน่นแฟ้นขึ้น ตรงกันข้ามคนโปแลนด์บี ที่มีความ “ขวาจัด” นั่นคือ เคร่งศาสนา ต่อต้านผู้อพยพ

ที่น่าสนใจคือตั้งแต่ออกจากคอมมิวนิสต์ การเลือกตั้งของโปแลนด์นั้น พรรคการเมืองปีกเสรีนิยมครองเสียงข้างมากมาโดยตลอด (เว้นไปแค่สองปี)

จนกระทั่งปี 2015 ที่พรรคอนุรักษนิยมขวาจัดได้ครองชัย

John Feffer วิเคราะห์ว่า มันมาจากการที่กลุ่มโปแลนด์บี รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง และในเมื่อพรรคฝ่ายเสรีนิยมไม่สามารถมอบอะไรให้เขาได้ เขาจึงหันไปหาพรรคอนุรักษนิยม-ประชานิยม

ภายใต้สโลแกน “เราจะนำประเทศให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”

กรณีของอเมริกาและทรัมป์ John Feffer วิเคราะห์ว่าทรัมป์ประกาศจะสร้างกำแพงกั้นระหว่างเม็กซิโกกับอเมริกา

แต่จริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือการแบ่งกลุ่มการเมืองออกเป็นสองขั้วชัดเจนในอเมริกา ไม่ใช่คนจนกับคนรวย

ไม่ใช่คนขาวกับคนดำ

ไม่ใช่เดโมแครตกับรีพับลิกัน

แต่เป็นอเมริกันเอและอเมริกันบี

อุตสาหกรรม “ก้าวหน้า” เช่น อุตสาหกรรมดิจิตอล การสื่อสาร (กูเกิล, เฟซบุ๊ก) ทำให้คนงานคอปกน้ำเงินที่เคยเป็นชนชั้นแรงงานที่มีรายได้สูงลิ่วและเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในเศรษฐกิจของประเทศหมดบทบาทลง

ในบทความเขาใช้คำว่า “อเมริกันเอที่ทำเงินด้วยจินตนาการไม่ต้องการกล้ามเนื้อของอเมริกันบีอีกต่อไป”

พูดง่ายๆ คือ เศรษฐกิจปัจจุบันต้องการ “แรงงาน” ที่เป็น “แรง” น้อยลงมาก

คนกลุ่มนี้คือ ผู้ชายผิวขาว วัยกลางคน มีรายได้ต่ำ และจบแค่มัธยมปลาย – คนเหล่านี้คือคนไม่เคยได้ประโยชน์จากนโยบายใดๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลรีพับลิกันหรือเดโมแครต

พวกเขารู้สึกว่า ถูกทิ้งไว้ข้างหลังและถูกทรยศจากนักการเมืองจากทั้งสองพรรค

ดังนั้น การเลือกโหวตให้ทรัมป์จึงคล้ายกับเป็นการลงโทษพวก “ชนชั้นนำที่ดีแต่พูดจาสวยๆ หล่อๆ ที่วองชิงตัน” และสอดคล้องกับ “วัฒนธรรม” ของคนอเมริกันบีที่แม้จะเป็นชนชั้นแรงงานแต่ก็ไม่ได้มี class solidarity คือ ความเป็นหนึ่งเดียวกับคนที่อยู่ในชนชั้นของตัวเองทว่ามีลักษณะของความเป็นปัจเจกสูง

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังแตกต่างจากพวกที่ดีแต่พูดสวยๆ หล่อๆ ดูมีการศึกษาสูงและ politically correct ตลอดเวลา

เนื่องจากทรัมป์เล่นบท Average Joe คือเล่นบท “ไอ้แก้วไอ้คำ” บ้านๆ ไม่ต้องมีคำศัพท์สวยหรูอะไร แบบนักการเมืองที่พวกเสรีนิยม หัวก้าวหน้ามีการศึกษา เขาชื่นชอบกัน

สิ่งที่ John Feffer บอกว่าอันตรายไม่ใช่ทรัมป์ เพราะดูแล้ว ต่อให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเข้ามาก็ไม่น่าทำงานได้ และอาจจะเฟลในท้ายที่สุด เพราะในพรรครีพับลิกันก็ไม่น่ามีใครสนับสนุนเขาเลย

แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือเมื่อ “เสือ” มันถูกปลุกให้ตื่นแล้ว

เสือที่ว่านี้คือ ลัทธิฟาสซิสต์ใหม่ที่ทรัมป์ปลุกขึ้นมา (จากปัจจัยที่เกื้อหนุนอยู่แล้ว) จะถูกฉวยใช้เป็นเครื่องมือเพื่อชนะการเลือกตั้งโดยนักการเมืองที่เก๋ากว่าทรัมป์ มีความสามารถกว่าทรัมป์ แนบเนียนกว่าทรัมป์ ตบตาเก่งกว่าทรัมป์ และสามารถชนะการเลือกตั้งได้จริง ทำงานได้จริง (เป็นทรัมป์ในคราบคนดี พูดจาสุภาพ ไม่งี่เง่า และอาจสามารถตบตาสลิ่มอเมริกันได้)

และอันนี้แหละที่น่ากลัวจริง

เกี่ยวกับโปแลนด์เอ โปแลนด์บี อเมริกันเอ อเมริกันบี ฉันคิดว่าน่าสนใจมากถ้าเราลองนำมามองสังคมไทยบ้าง

สมมุติแบบเหมารวมไว้ก่อนว่าคนเสื้อเหลืองหรือนกหวีดเป็นคนไทยเอ นั่นคือมีฐานะค่อนข้างดี การศึกษาค่อนไปทางสูง

คนเสื้อแดงคือคนไทยบี ฐานะค่อนข้างยากจน อยู่ในภาคเหนือและอีสานเป็นส่วนใหญ่

ในแง่นี้คนเสื้อแดงคล้ายคนโปแลนด์บี คือคนที่เลือกพรรคอนุรักษนิยม-ประชานิยม (ในที่นี้ ฉันจัดพรรคเพื่อไทย เป็นอนุรักษนิยม ประชานิยม อันที่จริงถ้าไม่มีรัฐประหารปี 2549 พรรคเพื่อไทยจะอยู่ห่างไกลจากคำว่า ลิเบอรัล มากถึงมากที่สุด) และอุดมการณ์เชิงสังคมวัฒนธรรมของมวลชนไทยบี ส่วนใหญ่ก็เป็นอนุรักษนิยม

ชัดเจนคือ สนับสนุนให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ส่วนใหญ่สนับสนุนโทษประหารชีวิต นิยมนโยบายฆ่าตัดตอนกับการทำสงครามกับยาเสพติด มีความเกลียดตุ๊ด เกลียดกะเทย ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ มีอคติต่อแรงงานต่างด้าว ไม่ยอมรับโรฮิงญา ไม่สนับสนุนการรับและดูแลผู้อพยพ มีความชาตินิยม

ส่วนคนไทยบี หรือ เสื้อเหลืองและสลิ่ม หากยังจำกันได้ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการยุคหลังปี 2535 ถึงปี 2540 นั้น เป็นหนังสือพิมพ์ที่รวมดาวลิเบอรัลไว้เยอะมาก

และเพื่อความเป็นธรรมก็ต้องบอกว่า สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ คือนิตยสารการเมืองรายสัปดาห์ที่ยอมให้มีคอลัมน์ที่แรงมากๆ และท้าทายสังคมไทยหนักมาก

ณ เวลานั้นนั่นคือคอลัมน์ “กระทู้ดอกทอง” คือ ก้าวหน้าและลิเบอรัล จนยอมให้มีคำว่า “ดอกทอง” ประจำเป็นหัวคอลัมน์อย่างนั้นเป็นปีๆ

และศาสดาลิเบอรัลตัวพ่อ อย่าง ธเนศ วงศ์ยานนาวา ก็เป็นคอลัมนิสต์ที่เขียนวิจารณ์หนังในแนวทางที่ลิเบอรัลแบบสุดลิ่มทิ่มประตูอยู่ที่สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์นี้เอง

พูดง่ายๆ ว่า สลิ่มในวันนี้คือ ลิเบอรัลตัวกลั่นๆ ในยุคก่อนรัฐประหาร 2549 กันเกือบทุกคน

อาจารย์หลายท่านที่ลุกขึ้น “ปกป้อง” หนังสือ กระทู้ดอกทอง และงานเขียน “หลุดโลก” ของฉันในยุคนั้นในนามของการเปิดกะโหลกกะลา “อนุรักษนิยม” ของสังคมไทย

ปัจจุบันหลายท่านเหล่านั้นคือ เสื้อเหลือง (แต่ไม่นกหวีด)

และลึกๆ ฉันก็ยังเชื่อว่า ในแง่ของสังคม วัฒนธรรม คน “เสื้อเหลือง” กลุ่มนี้ ยังคงสมาทานความเป็นลิเบอรัลอยู่

ทีนี้ถามว่าในหมู่ไทยบี หรือเสื้อแดง ไม่มีลิเบอรัลอยู่เลยหรือ ก็ต้องตอบว่ามี แต่จะมีเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ คงไม่อาจตอบได้โดยไม่ผ่านการวิจัยจริงๆ

แต่คำถามที่น่าสนใจคือในหมู่ลิเบอรัลทางสังคม วัฒนธรรมของเสื้อเหลือง นกหวีด สลิ่ม ทำไมจึงเลือกข้าง ที่ล้าหลังยิ่งกว่า “ขวา” นั่นคือ ข้างที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย?

หากใช้มิติทางวัฒนธรรมการเมือง : คนเสื้อแดงมีความคงเส้นคงวามากว่าคือ right wing conservative poppulist เป็นอนุรักษนิยมประชานิยมปีกขวา เลือกแนวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เป็นประชานิยม ยึดมั่นในศาสนา (พุทธ) ไม่สนใจเรื่องขันติธรรมต่อความต่าง มีความอนุรักษนิยมในเรื่องศีลธรรมทางเพศ มีแนวโน้มจะเป็นนักชาตินิยม

ทว่า กลุ่มไทยบี นี่สิ ที่ยังหาจุดลงตัวของจุดยืนทางการเมืองไม่ได้

พวกเขาลุ่มหลงในวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์

เปิดรับต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม

อยากเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก

พูดเรื่องเพศสภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมเคลื่อนไหวกับ “วาระ” ทางการเมืองที่เป็นสากล เช่น กิจกรรม pray for นั่น for นี่ ชาร์ลี เอบโด ด่าคนอังกฤษที่โหวตออกจากอียู ดูหนังอาร์ต ฯลฯ

ทว่า เมื่อเขาต้องหันมาสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้วาทกรรมฟาสซิสต์ ล้าหลัง คลั่งความเป็นไทย ไปประท้วงหน้าสถานทูต ภาวะลักลั่นจนดูเหมือนคนที่มีสองบุคลิกภาพขัดแย้งกันเองจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา

และนี่อาจทำให้คน “นอกประเทศไทย” เช่น คิวเรเตอร์งานนิทรรศการศิลปะที่กวางจูจึงเชิญศิลปินไปแสดงงานแบบผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มอาการขัดแย้งในตัวเองนี้มันค่อนข้างยูนีกจริงๆ สำหรับกรณีของไทย เพราะหากดูเผินๆ แต่ภายนอก อ่านเฉพาะสโลแกน ประกอบกับการดูไลฟ์สไตล์ของพวกเขาแล้ว

เราไม่สามารถมองคนเหล่านี้เป็นอื่นได้เลยนอกจากเป็นนักประชาธิปไตยหัวก้าวหน้าที่ออกมาต่อสู้ขับไล่นักการเมืองเลว

ความน่าสะเทือนใจในกรณีของไทย เมื่อเทียบกับโปแลนด์ หรืออเมริกา (กรณีทรัมป์) นั่นคือเราจะเห็นว่า สองขั้วการเมืองไทย ไม่ใช่ขั้วเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม

แต่เป็นขั้วของอนุรักษนิยมขวาจัดกับกลุ่มหัวก้าวหน้าทางวัฒนธรรมที่มีใจรักในระบอบเผด็จการ และเชื่อว่าด้วยกระบวนการของการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ พวกเขาจะปฏิสังขรณ์สังคมในอุดมคติขึ้นมาได้

จากนั้นพวกนั้นก็ฝันหวานว่าถึงตอนนั้นค่อยมีประชาธิปไตย (ระหว่างนี้เราบินไปเสพศิลปะและความอะวองกาตที่ต่างประเทศไปพลางๆ ก่อนนะ)

หากจะมีเคสที่คล้ายๆ ไทยและชวนให้พรั่นพรึงก็คือเคสของพม่าที่แม้จะมีรัฐบาลพลเรือนแล้ว ในนามของประชาธิปไตยพวกเขาก็เดินหน้าเข่นฆ่ามุสลิมและเผามัสยิด

สองขั้วของการเมืองไทยทั้งวันนี้และในภายภาคหน้าคงไม่ใช่ภาพโรแมนติกว่าเมื่อประชาชนได้ชัยชนะแล้วจะมีแต่ความเรืองรองที่รออยู่

บอกตามตรงว่าความน่าพรั่นพรึงไม่ใช่แค่เหลือง สลิ่ม นกหวีด หรือ เสื้อแดง แต่คือ ความขวาจัด ฟาสซิสต์ที่ถูกปลุกมาใช้เป็นเครื่องมือด้วยกันในทุกฝ่าย ทุกสี…

คิดแล้วก็วังเวง