รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (10) : กระชับพื้นที่

Thai opposition Puea Thai candidate Yingluck Shinawatra (C), the sister of fugitive ex-premier Thaksin Shinawatra, parades in a convoy as she campaigns in Bangkok on July 2, 2011. Thailand's rival political camps launched a last-minute appeal for votes on the eve of a hard-fought election seen as crucial to the future of the kingdom after years of often bloody unrest. AFP PHOTO / AFP PHOTO / STR

ตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็น “รัฐบาลทักษิณเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่?” ไปแล้ว มาคราวนี้ ถึงตารัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือเปล่า? ก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าเข้าข่ายหรือไม่ จะขอย้ำถึงนิยามหรือกรอบความหมายของระบอบ “อำนาจนิยม” อีกครั้ง

กรอบที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์เป็นเกณฑ์ระบอบอำนาจนิยมตามเกณฑ์อำนาจนิยมและอำนาจนิยมอำพราง (authoritarianism และ stealth authoritarianism) ของ Ozan O. Varol เงื่อนไขสำคัญของระบอบอำนาจนิยมตามที่ Varol ได้วางไว้ นั่นคือ

รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญหรือเปิดโอกาสรับฟังความเห็นต่างและความหลากหลายทางการเมือง (political pluralism) และรัฐบาลหรือพรรคที่ปกครองประเทศมักจะกระทำการอย่างมุ่งมั่นชัดเจนที่จะกดหรือบีบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว โดยใช้วิธีการต่างๆ ที่จะกดหรือปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่นๆ และการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลในระบอบอำนาจนิยมมักจะเกิดขึ้นโดยอาศัยวิธีการผ่านช่องทางตามกฎหมายหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ (extra-legal) และการใช้อำนาจนั้น แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดตามอำเภอใจคาดการณ์ไม่ได้เหมือนอย่างในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ก็มักจะไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน (ill-defined norms) แต่กระนั้นก็เป็นการใช้อำนาจที่พอคาดการณ์ได้

ตามคำอธิบายของ Juan J. Linz ใน Totalitarian and Authoritarian Regimes หน้า 162 ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian) กับระบอบอำนาจนิยม (authoritarian) โดยระบอบเบ็ดเสร็จขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ (ideology) ในขณะที่ระบอบอำนาจนิยมขับเคลื่อนโดยทัศนคติหรือวิธีคิด (mentality)

และ Zargorka Golubovic ได้ขยายความความหมายของ “authoritarian mentality” ไว้ใน “Traditionalism and Authoritarianism as Obstacles to the Development of Civil Society in Serbia,” in Civil Society in Southeast Europe หน้า 92 ว่า ทัศนคติหรือวิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian mentality) ปรากฏหรือแสดงออกในลักษณะของการยอมรับและเชื่อฟังอำนาจโดยไม่พินิจพิเคราะห์ (uncritical)

การเชื่อฟังอำนาจที่ว่านี้ เริ่มต้นจากการเชื่อฟังอำนาจของผู้นำพรรคและพรรคของรัฐ ต่อมาคือการยอมรับและเชื่อฟังอย่างผู้นำรัฐและรัฐชาติอย่างไม่พินิจพิเคราะห์

 

(เงื่อนไขก่อนการขึ้นสู่อำนาจของคุณยิ่งลักษณ์–ต่อจากตอนที่แล้ว) เมื่อมีเหตุการณ์ลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกกลางที่ชุมนุม เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 และต่อมาได้เสียชีวิตลงในวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 จนเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหารในจุดต่างๆ ทำให้เกิดความวุ่นวายในเกือบทุกพื้นที่ที่มีการชุมนุม

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้ตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงโดยใช้แผน “กระชับวงล้อม” ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนในที่สุด แกนนำคนเสื้อแดงได้ประกาศยุติการชุมนุม

แต่ภายหลังจากการประกาศดังกล่าว ได้เกิดปฏิบัติการตอบโต้กลับจากกลุ่มคนเสื้อแดง ด้วยก่อนหน้านั้น แกนนำหลายๆ คนได้เคยประกาศไว้ในทำนองว่า ถ้ามีการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ ให้คนเสื้อแดงและแนวร่วมคนเสื้อแดงบุกเข้ายึดทำลายสถานที่ราชการต่างๆ ภายใต้รหัส “ตกใจเผา” ส่งผลให้เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาจนถึงขณะนั้น

และเหตุการณ์การจลาจลได้ลุกลามไปยังหัวเมืองต่างจังหวัดหลายจังหวัด

หลังจากที่ฝ่ายทหารสามารถควบคุมสถานการณ์ ได้มีการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงของการจลาจลในเหตุการณ์ “พฤษภาจลาจล” ดังนี้คือ มีผู้เสียชีวิต 88 ราย บาดเจ็บประมาณ 1,885 ราย เกิดเหตุเพลิงไหม้ทั่วกรุงเทพฯ ทำให้อาคาร 36 แห่งได้รับความเสียหาย มีการทุบทำลายสาธารณสมบัติกว่า 300 จุด

ส่วนความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ มีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีไตรมาส 4 ของปี พ.ศ.2553 ให้อยู่ในระดับติดลบ โดยอาจจะทำให้จีดีพีทั้งลดมาราว 1-1.5% จากที่ประมาณการไว้เดิม

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าการบริโภคในช่วงไตรมาส 4 ของปีจะลดลงไปจากเดิมอีก 3% การลงทุนลดลง 3% และการท่องเที่ยวลดลง 10%

 

หลังจากเหตุการณ์ “พฤษภาจลาจล” เป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งปี คุณอภิสิทธิ์นายกรัฐมนตรีได้บริหารประเทศต่อไปและได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 หลังจากที่ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยเหตุผลสำคัญในการยุบสภาคือ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ให้สอดคล้อง

อีกทั้งถือได้ว่าเป็นการยุบสภาในจังหวะที่คุณอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลคาดการณ์ว่าเป็นจังหวะที่ฝ่ายตนจะได้เปรียบในการเลือกตั้งเนื่องจากมีผลงานที่น่าจะได้คะแนนเสียงข้างมากจากประชาชน

โดยใจความสำคัญของพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 คือ หลังจากได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศอย่างรุนแรงถึงสองครั้งในปี พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2553 รัฐบาลได้พยายามคลี่คลายปัญหาจนสามารถฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากภาวะวิกฤตและกลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมก็ได้รับการแก้ไขโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจนผ่อนคลายความรุนแรงลงแล้ว

ประกอบกับรัฐสภาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงเห็นสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

 

จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า เหตุผลที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลคาดการณ์ว่าการยุบสภาครั้งนี้จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบในการเลือกตั้งมีสองประการสำคัญคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกทางการเมือง โดยหลักฐานการฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากภาวะวิกฤตและกลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นคือ

ดัชนีเศรษฐกิจไทยในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สูงสุดที่ระดับ 1,145.82 จุดในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นการทำลายสถิติดัชนีสูงสุด 15 ปี 3 เดือนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ซึ่งปิดที่ 1,121.04 จุด

ภายหลังดัชนีเศรษฐกิจไทยได้ขึ้นไปสู่ระดับ 1,107.36 ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2554 สูงสุดในรอบ 15 ปี ในขณะที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกใน พ.ศ.2551 ทำให้ดัชนีหุ้นไทยล่วงลงต่ำสุดในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2551 ที่ระดับ 387.43 จุด ต่ำสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือนโดยวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2546 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 387.37 จุด ในสมัย ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยดัชนีเศรษฐกิจไทยจุดต่ำสุดของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สูงกว่ารัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร 0.06 จุด หรือ 0.015 เปอร์เซ็นต์

ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ดัชนีเศรษฐกิจไทย ปิดตลาดที่ 1,050.85 ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ลดลงถึง -23.02 จุด หรือ 2.14 เปอร์เซ็นต์ ภายในวันเดียว

ซึ่งเป็นการลดลงที่มากที่สุดภายในภูมิเอเชียและภูมิภาคโอเชียเนีย