จดหมาย ฉบับประจำวันที่ 27 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2563

จดหมาย

 

0 เด็ก

พุทธศักราช 2563

 

เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า

วุฒิภาวะวัฒนะรุ่งเรือง

จุดพลุสมัยศิวิไลซ์ปราดเปรื่อง

รังสรรค์บ้านเมืองประชาธิปไตย

 

…ผู้ใหญ่วันนี้ต้องไปในวันหน้า

ต่างกรรมต่างวาระคณะนายกฯ

ยิ่งยื้อ(ยุทธ์)ฉุดลาก “กรรมมรดก”

ยิ่งตกนรกทั้งเป็นเซ่น “รัฐสภา”…

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

ไม่ได้ฉุดลากธรรมดาด้วยสิ “สงกรานต์ บ้านป่าอักษร” เอ้ย

ผู้ใหญ่ท่าน

ยังเล็งจะใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา

ฉุด-ล่ามเด็กๆ เอาไว้

แบบไม่ให้กระดิกกระเดี้ยไปไหนได้เลยเชียวละ

 

0 ผู้ใหญ่ (จน-จน)

มีบางคนหลงคิดไปว่าคนจนไม่ได้เสียภาษี

อันนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง

แม้แต่นายกฯ ก็ยังเคยบอกว่า

“..ภาษีมาจากไหน ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสุทธิ 3.158 แสนล้านบาท ได้มาแค่ 11% มีคนเสียจริงๆ แค่ 4 ล้านคนที่อยู่ในเกณฑ์เสียภาษีบุคคล กรมศุลกากรได้มา 1 แสนล้านบาท กรมสรรพสามิตได้มา 6 แสนล้านบาท รายได้อื่นๆ มูลค่าเพิ่ม ทั้งหมดนี่อะไรที่เป็นของคนจนเราไม่ได้ภาษีหรอกครับ เราได้เขาเพียงอย่างเดียว ภาษี VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) 7% ซึ่งถ้าเขาซื้อของเขาถึงเสีย ด้านการเกษตร เรื่องน้ำเรื่องต่างๆ ไม่มีการเสียภาษีสำหรับเกษตรกร ท่านต้องดูรายได้ประเทศมาอย่างนี้…”

ที่คิดว่าภาษีส่วนใหญ่มาจากบริษัทห้างร้านหรือประชาชนผู้เสียภาษีทางตรงนั้น

เป็นความเข้าใจผิด

จากยอดรายได้ของประเทศไทยทั้งหมดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562

ภาษีนิติบุคคลเก็บได้เพียง 25% ของภาษีทั้งหมด (หลังจากหลบเลี่ยงภาษีตามช่องทางถูกกฎหมายแต่ผิดคุณธรรมไปได้มากมาย)

ส่วนภาษีบุคคลธรรมดามีเพียง 12% เท่านั้น (พวกนี้เลี่ยงภาษีได้ยาก)

รายได้อันดับหนึ่งของประเทศมาจากภาษีทางอ้อม อีก 61%

โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 30%

ภาษีที่ได้ส่วนมากมาจากบริษัทห้างร้านที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร

ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทยอยู่ในกรุงเทพมหานครถึงเกือบครึ่งหนึ่ง

แต่ไม่ใช่ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เสียภาษี

คนไทยจำนวนมากเสียภาษีทางอ้อม

เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีปิโตรเลียม ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ

ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศซึ่งไม่ใช่คนร่ำรวยแต่เป็นคนธรรมดาจำนวนหลายสิบล้านคน

จึงเสียภาษีมากกว่าบุคคลธรรมดาที่ร่ำรวย

อันที่จริงนิติบุคคลต่างๆ (ยกเว้นบริษัทมหาชนซึ่งมีไม่กี่ร้อยแห่ง) มักเลี่ยงภาษีในรูปแบบต่างๆ

หรือเสียภาษีให้น้อยที่สุด

แม้แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ยังอาจเสียภาษีมากกว่าคนรวย

เพราะพวกเขาต้องเสียภาษีล้อเลื่อน (จักรยานยนต์ รถยนต์รายปี)

ส่วนคนร่ำรวยมีที่ดินอยู่จำนวนมหาศาล มูลค่านับร้อย นับพัน นับหมื่นล้านบาท ก็แทบไม่เคยเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือภาษีมรดกอะไรเลย

สาเหตุที่มีการดราม่ายกเว้นภาษีแก่คนจน ก็เพื่อจะได้ยกเว้นแก่คนรวยๆ ด้วยนั่นเอง

ยกเว้นไปๆ มาๆ ก็เลยไม่ได้เก็บภาษี ก็เลยคิดแต่จะขึ้นภาษี VAT เป็น 8%

เพราะภาษีนี้คนทุกคนโดนหมด โดยเฉพาะคนจนๆ อยู่ในป่าเขาออกมาซื้อมาม่าซองหนึ่งก็โดนแล้ว

เมื่อพิเคราะห์ถึงการเสียภาษีของประชาชนทั่วไป จึงเกิดคำถามว่าใครกันแน่ที่เสียสละเพื่อชาติ

ประเทศนี้เป็นของประชาชนผู้เสียภาษีหล่อเลี้ยงประเทศผ่านภาษีทางอ้อมที่ประชาชนเป็นผู้รับกรรมคนสุดท้าย

ดร.โสภณ พรโชคชัย

ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

www.area.co.th

 

ด้วยความเหลื่อมล้ำเช่นนี้เอง

ทำให้ม็อบราษฎรมีประเด็นเคลื่อนไหว

ได้อย่างมีน้ำหนัก

อยากจะสลายม็อบ คงต้องกลับไปแก้ที่เบื้องหลังและต้นตอ

อย่างเรื่องภาษีอันไม่เป็นธรรมนี้

มิใช่มุ่งแต่มองหาหรือสงสัยใครอยู่เบื้องหลัง