การ์ตูนที่รัก/ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / Addams Family

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Addams Family

 

หลังจากดูหนังมือเดินได้ในหนังการ์ตูนอินดี้ I Lost My Body จบ ทำให้ระลึกถึงมือเดินได้ที่ดังกว่าจากหนังอีกเรื่องคือมือเดินได้ที่มีชื่อว่าเดอะติง (Thing) จากหนัง Addams Family

หนังการ์ตูนสร้างจากหนังทีวีเมื่อปี 1964 เมืองไทยเคยฉายทางช่องสี่บางขุนพรหม

ผมดูครั้งแรกก็ตอนนั้น ชื่อภาษาไทยว่าคนผี เป็นหนังขาว-ดำ จำได้ว่าชุดแต่งกายและแสงสีก็เป็นขาว-ดำอยู่ก่อนแล้ว หนังรีเมกกันอีกครั้งเมื่อปี 1991 ได้เวนส์ ราอูล จูเลีย และแอนเจลิกา ฮูสตัน เป็นนักแสดงนำ

สมัยเป็นหนังทีวีคงเพราะยังเด็กเกินไปจึงไม่สนุกมากนัก เพราะมุขขำออกจะยากด้วย ไม่นับว่าบางฉากบางตอนน่ากลัวสำหรับเด็กอีกต่างหากแม้ว่าจะเป็นหนังตลกก็ตาม

อันที่จริงหนังทีวีก็ยังมิใช่จุดเริ่มต้น หนังสร้างจากหนังสือการ์ตูนของ Charles Addams (1912-1988) ตั้งแต่ปี 1938 เป็นหนึ่งในการ์ตูนสะท้อนสังคมอเมริกันเวลานั้น

สร้างใหม่ปี 2019 ครั้งนี้เป็นหนังการ์ตูนซีจีทำได้ดีทีเดียว ตัวละครประจำและตัวละครรับเชิญมาครบครันเช่นเดิม

เนื้อหาสื่อถึงความเป็นคนแปลกแยกในสังคมที่ไม่เหมือนเรา มีคนแปลกแยกแบบเราอีกมากมายที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก และถ้าประดาคนแปลกแยกรวมตัวกันได้เมื่อไรก็จะไม่แปลกแยกอีก

ซึ่งโลกสมัยใหม่และไอทีสมัยใหม่ได้อำนวยความสะดวกให้แก่การรวมตัวเช่นนั้นแล้ว

การสร้างหนังคนผีขึ้นมาในโลกที่เด็กๆ มีมือถือใช้จึงเป็นประเด็นน่าสนใจ

 

ดูโจทย์ก่อน คือสิ่งที่กำหนดให้ ตระกูลแอดดัมส์ประกอบด้วยพ่อ โกเมซ แม่ มอร์ติเซีย ลูกสาว เวนส์เดย์ ลูกชายพักสลีย์ ลุงโกเมซ บ่าวรับใช้เลิร์ชซึ่งหน้าตาเหมือนผีดิบจริงๆ และเดอะติงที่มีตาข้างเดียวอยู่ตรงข้อมือ ตัวละครเดอะติงนี้มิได้มีอยู่ในการ์ตูนดั้งเดิม เพิ่มเข้ามาเมื่อปี 1954

พ่อเหมือนคนมากกว่าเพื่อน แม่เหมือนนางพรายผสมเปรตที่เดินเหินลอยละล่องบนพื้น พี่สาวเวนส์เดย์เหมือนวัยรุ่นซึมเศร้า น้องชายพักสลีย์เกเรร้ายกาจสม่ำเสมอ

ลำพังสี่คนแรกนี้ก็ประกอบขึ้นเป็นครอบครัวปกติครอบครัวหนึ่งได้อยู่แล้วในโลกสมัยใหม่ ชื่อหนังเขียนใหม่เป็น @depressionandmadness

นั่นคือครอบครัวซึมเศร้าและบ้าคลั่ง

เขียนเช่นนี้เพราะมีหลักฐาน หากเรานั่งดูไป 30 นาทีจะพบว่าพฤติกรรมของพวกเขามีอยู่ 3 อย่างคือซึมเศร้า ก้าวร้าว และเพี้ยนๆ

อาการซึมเศร้าเห็นได้ชัดในคนเป็นแม่และพี่สาว ใบหน้าหม่นหมอง ริมฝีปากโค้งลง เคลื่อนไหวเชื่องช้า แต่งกายหมองคล้ำ และไม่นิยมออกไปพบผู้คน

อาการก้าวร้าวพบทั้งในพี่สาวและน้องชาย พี่สาวทำลายข้าวของอยู่เสมอ ฉากใช้แว่นขยายเผานั่นเผานี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง

ส่วนน้องชายเล่นแผลงๆ และรุนแรงได้ทั้งวันด้วยสีหน้าท่าทางก็เป็นอย่างเด็กผีที่เราเห็นรอบตัววันนี้

โรคซึมเศร้าในเด็กไม่แสดงออกด้วยอาการซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้ว แต่มักแสดงออกด้วยพฤติกรรมเกเรหรือก้าวร้าวเสียมากกว่า

 

หนังสนุกยิ่งขึ้นเมื่อมาถึงช่วงกลางเรื่อง พี่สาวเวนส์เดย์เข้าสู่วัยรุ่นไปโรงเรียนมัธยม เธอเบื่อบ้าน เบื่อแม่ และการครอบงำของแม่

เธอทำหน้าที่ของวัยรุ่นทั่วโลก 2 ข้อคือ ไม่เชื่อฟังและไปจากแม่

ความข้อนี้สำคัญ เพราะวัยรุ่นมีหน้าที่ค้นหาอัตลักษณ์ (identity) ของตัวเองที่จะต้องไม่เหมือนพ่อและแม่แต่เป็นตัวเขาคนใหม่จริงๆ เป็นหนึ่งไม่มีสองไม่มีใครซ้ำบนโลกนี้

วิธีทำคือใช้พ่อ-แม่เป็นตัวตั้งแล้วใช้ผู้คนรอบตัวและในสังคมเป็นตัวเติมจากนั้นผสมผสานเป็นมนุษย์คนใหม่ออกมา

วิธีที่จะได้คนใหม่จึงมีสองวิธีคือไม่เชื่อฟังและไปไกลๆ จากคนเป็นพ่อ-แม่

ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ (function) ของวัยรุ่นทุกๆ คน หากพ่อ-แม่คนไหนเข้าใจเรื่องก็จะง่าย

เวนส์เดย์เริ่มด้วยการติดเพื่อนใหม่ที่โรงเรียน แล้วกลับบ้านโดยมีกิ๊บติดผมสีชมพูหวานตัดกันกับชุดสีดำที่เธอสวมใส่ทุกวัน

มากกว่านี้คือเธอหัดเต้นส่ายสะโพกแม้ว่าจะสโลว์โมชั่นมากซึ่งก็เป็นอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นั่นคือเชื่องช้า เซื่องซึม ไร้อารมณ์ แม้ว่ากำลังสนุกอยู่ก็ตาม

กิ๊บสีชมพูนั้นเป็นรูปม้ายูนิคอร์น เมื่อแม่มอร์ติเซียเห็นครั้งแรกพูดว่าเป็นกิ๊บรูปม้าถูกหอกแทงทะลุ คืออาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ตีความทุกเรื่องในแง่ลบได้เสมอๆ

เป็นอีกมุขเล็กๆ ที่น่าสนใจ

 

เพื่อนใหม่ของเวนส์เดย์ชื่อพาร์กเกอร์ พาร์กเกอร์เป็นลูกสาวของเจ้าแม่ประจำเมืองผมทองยาวสวยสลวยเก๋สุดยอดเยี่ยม

พาร์กเกอร์ก็เป็นตัวอย่างของวัยรุ่นตามแบบฉบับเช่นกัน เธออยากเป็นตัวของตัวเอง ไม่อยากเหมือนแม่ อยากแต่งตัวแตกต่าง ใช้ชีวิตแตกต่าง

เมื่อมาพบเด็กผีอย่างเวนส์เดย์เข้าก็ถูกใจ เพียงเวลาไม่นานพาร์กเกอร์ทำสีหน้า สีผม และแต่งกายเหมือนเวนส์เดย์ ยิ่งไปกว่านั้นยังแสร้งมีอาการกลัวแสงสว่างอีกด้วย

พูดง่ายๆ ว่าทั้งรูปร่างภายนอกและพฤติกรรมไปด้วยกันหมดอย่างเนียนๆ

เป็นเหมือนหนังแนวนี้ทุกเรื่องที่ว่า “ปกติ” นั้นก็อย่าได้มั่นใจจนเกินไป คุณแม่มาร์โกของพาร์กเกอร์ที่ดูเพอร์เฟ็กต์สมบูรณ์เป็นเจ้าแม่อสังหาและมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เมืองใหม่ที่ชื่อว่าแอสสิมิเลชั่น (assimilation) นี้มีหน้าตาของแต่ละบ้านเหมือนๆ กันไปหมด

การปรากฏตัวของตระกูลแอดดัมส์ที่ภูเขาชานเมืองซึ่งมองเห็นได้จากตัวเมืองจึงเป็นที่ยอมรับมิได้และต้องกำจัดทิ้ง ชื่อแอสสิมิเลชั่นแปลว่าการดูดกลืนอยู่แล้ว วิธีที่เธอจัดการความแตกต่างมีปรากฏในไคลแมกซ์ช่วงครึ่งหลังของเรื่อง คือวิธีมาตรฐานที่รัฐหลายแห่งใช้สอดส่องประชาชน ส่วนใหญ่ว่าในนามของความสงบสุข สามัคคีและปลอดภัยของสังคม

แต่สำหรับคุณแม่มาร์โกนี้อาจจะเป็นอาการย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compusive) และความผิดปกติของพฤติกรรมแอบดู (voyeurism)

 

ตอนใกล้จบ ชาวเมืองได้รับสัญญาณผ่านมือถือให้รวมตัวกันไปทำลายตระกูลแอดดัมส์ที่มารวมตัวกันในพิธีรำดาบเซเบอร์ของพักสลีย์ ไอทีสมัยใหม่จะใช้ไล่ผีได้หรือไม่

ก่อนหน้าโลกจะมีจิตแพทย์และยาต้านอารมณ์เศร้า เราเอาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไปไล่ผีมากมาย ทั้งรดน้ำมนตร์และทำพิธีสืบชะตา นึกดูก็สมเหตุผล จู่ๆ คนคนหนึ่งเชื่องช้าลง ไม่พูดไม่ยิ้ม แยกตัวและมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ถามว่าเราจะทำอะไรได้นอกเหนือจากไล่ผี

“อย่าด่วนตัดสินเพียงเพราะเขาไม่เหมือนเรา” คือคำพูดสุดท้ายของหนัง ปิดด้วยดนตรีประกอบที่คุ้นเคยจากหนังทีวี