สุจิตต์ วงษ์เทศ / ‘จองเปรียง’ ขอความอุดมสมบูรณ์ ต่อ ‘เทพบิดร’ วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา

พระปรางค์ประธานอันศักดิ์สิทธิ์ที่สถิต "เทพบิดร" และวัดพุทไธศวรรย์ พระบรมไตรโลกนาถสร้างไว้บริเวณ "เวียงเหล็ก" ของพระเจ้าอู่ทอง (ภาพวัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา โดย ธัชชัย ยอดพิชัย เมื่อ 19 มกราคม 2563)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

‘จองเปรียง’ ขอความอุดมสมบูรณ์

ต่อ ‘เทพบิดร’ วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา

 

จองเปรียงและลอยโคมสมัยอยุธยาตอนต้น มีพิธีกรรมสำคัญที่แม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดพุทไธศวรรย์

มีพระปรางค์ประธานเป็นที่สถิต “เทพบิดร” ของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาเชื้อวงศ์สุพรรณภูมิ

 

จองเปรียง, ลอยโคม

เดือน 12 (ตุลาคม-พฤศจิกายน) สมัยอยุธยาตอนต้น กฎมณเฑียรบาลระบุว่ามีพระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม แล้วพรรณนากิจกรรมศักดิ์สิทธิ์ มีที่วัดพระศรีสรรเพชญ์กลางพระนคร และวัดพุทไธศวรรย์ นอกพระนครด้านทิศใต้

พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประทับเรือต้น พร้อมเรือกระบวนมีพระอัครมเหสี, แม่หยัวเมือง, ลูกเธอหลานเธอ, พระสนม เมื่อกระบวนเรือล่องถึงหน้าวัดพุทไธศวรรย์ทรงทำพิธีส่งน้ำและพิธีอื่นๆ

ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดพุทไธศวรรย์เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่นอกเกาะเมือง มีการละเล่นจุดดอกไม้ไฟและหนังใหญ่ (เรื่องรามเกียรติ์)

ทำไม? วัดพุทไธศวรรย์ นอกเกาะเมืองด้านทิศใต้ สำคัญอย่างไร? มีข้อมูลอธิบาย ดังนี้

  1. วัดพุทไธศวรรย์เพิ่งสถาปนาเป็นอารามสำคัญในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ (ที่สร้างกฎมณเฑียรบาล)
  2. บริเวณวัดพุทไธศวรรย์เดิมเป็น “เวียงเหล็ก” ที่ประทับพระเจ้าอู่ทอง “วีรบุรุษในตำนาน” ของเจ้านายเชื้อวงศ์สุพรรณภูมิ (จากสุพรรณบุรี) และดินแดนฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นหลักแหล่งกำลังคนจำนวนมากมีชื่อในพงศาวดารว่า “เมืองปทาคูจาม” มีคูน้ำล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมเรียกคลองคูจามใหญ่ (ปัจจุบันเรียกคลองตะเคียน)
  3. พระปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์ เป็นที่ประดิษฐาน “เทพบิดร” หมายถึงพระเจ้าอู่ทอง อยู่ซุ้มด้านทิศเหนือ (ด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยา) มีคำบอกเล่าความ “เฮี้ยน” ตกทอดจนปัจจุบัน

“เทพบิดร” มีต้นตอรากเหง้าจาก “ผีบรรพชน” หรือ “ปู่ตา” ของคนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ (คำจีนว่า “เฮ่า” ต่อมาไทยเพี้ยนคำแล้วเรียกว่า “พระเจ้าเหา”) ทั้งหมดเป็นไปตามความเชื่อเรื่องขวัญว่าคนตายส่วนขวัญไม่ตาย แต่มีวิถีเหมือนไม่ตาย เพียงแต่ต่างมิติที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น

  1. เชื้อวงศ์สุพรรณภูมิจากสุพรรณบุรี เป็นพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์อยุธยา เริ่มตั้งแต่ขุนหลวงพะงั่ว, พระเจ้าทองล้น, เจ้านครอินทร์, เจ้าสามพระยา, พระบรมไตรโลกนาถ (องค์ที่ทรงตรากฎมณเฑียรบาล และสร้างวัดพุทไธศวรรย์ที่มีพระปรางค์ประธาน) และ ฯลฯ

 

วัดพุทไธศวรรย์ในยวนพ่าย

พระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างวัดพุทไธศวรรย์ที่อยุธยา พบหลักฐานในหนังสือยวนพ่าย (โคลงดั้น) ซึ่งแต่งโดยกวีราชสำนักอยุธยาที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัย (พระบรมไตรโลกนาถเสวยราชย์) มีใจความดังนี้

 

๏ ปางสร้างอาวาสแล้ว                ฤๅแสดง

คือพุทไธสวรรย์หมาย                  ชื่อชี้

 

วัดพุทไธศวรรย์ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า สร้างในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มีความโดยสรุปว่า “พระตำหนักเวียงเหล็กนั้นให้สถาปนาพระวิหารและพระมหาธาตุเป็นพระอาราม แล้วให้นามชื่อวัดพุทไธสวรรย์ เมื่อ พ.ศ.1896” แต่ “พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา” เพิ่งแต่งใหม่สมัย ร.4 หลังเหตุการณ์สร้างวัดพุทไธศวรรย์ ราว 400 ปี จึงเชื่อถือข้อความในยวนพ่ายได้หนักแน่นมากกว่าที่ว่าบริเวณพระตำหนักเวียงหล็กให้สร้างเป็นวัดพุทไธศวรรย์ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

[ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เคยสงสัยว่าจะมีวัดพุทไธศวรรย์อีกแห่งหนึ่งอยู่พิษณุโลก? (ในหนังสือยวนพ่าย โคลงดั้น ฉบับถอดความ แปลศัพท์และอัตถาธิบาย พ.ศ.2513) ผมเคยยกประเด็นนี้มาสอบถามทักท้วงถกเถียง แต่ท้ายสุดเห็นพ้องกับรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง) และประภัสสร์ ชูวิเชียร (อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร) ว่ามีแห่งเดียววัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา]

 

เวียงเหล็ก พระเจ้าอู่ทองกินเหล็ก

พระเจ้าอู่ทองประทับชั่วคราวอยู่เวียงเหล็ก เพื่อสร้างพระนครศรีอยุธยา เมื่อพระนครสร้างเสร็จได้ถวายเวียงเหล็กเป็นวัดพุทไธศวรรย์

[ชื่อ เวียงเหล็ก น่าจะเกี่ยวข้องกับเหล็กที่พระเจ้าอู่ทองเสวย มีบอกในคำให้การชาวกรุงเก่า เล่าว่าพระเจ้าอู่ทองกินเหล็กโดยขูดเป็นผงเอาไปตำให้แหลกละเอียด แล้วคลุกเครื่องกระยาหาร]

คำบอกเล่าของขุนนางชาวอยุธยาซึ่งวัน วลิต (พ่อค้าชาวฮอลันดา) จดไว้ ความว่าเทพยดาอารักษ์ประกาศว่าผู้ใดจะสร้างพระนครลงที่หนองโสนต้องมีฤทธิ์ 2 อย่าง (1.) กินเหล็กได้ (2.) ยิงลูกศรไป ลูกศรกลับมาหาเองไม่ต้องใช้คนไปเก็บ

พระเจ้าอู่ทองให้ “กรางเหล็กแท่งหนึ่งออกตำให้แหลกเป็นผงกรองโดยละเอียด” (กราง แปลว่า ขัดถูด้วยตะไบหรือหางกระเบนให้เป็นผง) แล้วใส่คลุกลงในเครื่องพระกระยาหาร ผงเหล็กคลุกข้าวมีรสอร่อย เสวยทุกเวลาและเสวยได้มาก แล้วกลายเป็นโอสถวิเศษให้มีพระฉวีวรรณงามผ่องใสขึ้นกว่าเก่า

พระเจ้าอู่ทองเสด็จประทับตำหนักน้ำ แล้วแผลงศรยิงไปในทางเหนือน้ำ ลูกศรตกน้ำ แล้วลอยตามน้ำมา พระองค์ทรงกั้นไว้ด้วยคันศร ลูกศรก็เลื่อนลอยเข้ามาหาสู่แล่งศรที่ถือในพระหัตถ์ ไม่ต้องใช้คนไปเก็บ

 

พระเจ้าอู่ทองในนิทาน

พระเจ้าอู่ทองมีตำนานนิทานสรรเสริญว่าเป็นผู้มีฤทธิ์ขลังศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนเลื่อมใสบอกเล่าสืบต่อตกทอดมากมายหลายสำนวน ล้วนเป็นที่รู้จักตามท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องนั้นๆ

แต่มีสำนวนหนึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้แพร่หลาย เรื่องพระเจ้าอู่ทองเป็นเทพารักษ์ แต่มักแปลงตัวเป็นหนุ่มรูปงาม ไปสมสู่กับสตรีชาวบ้านร้านตลาด ต่อมาถูกขอร้องให้บวช เลยกลายเป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ จะคัดคำบอกเล่านั้นมาดังนี้

“คุณแม่เครือวัลย์ จบกระบวนยุทธ์ มารดาท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อสมัยท่านเป็นเด็ก คุณยายท่านเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยนั้นเทพารักษ์พระเจ้าอู่ทองเป็นที่ครั่นคร้ามของชาวเมืองมาก

เล่ากันว่าท่านมักปรากฏตัวเป็นชายหนุ่มรูปงามไปสมสู่กับสตรีชาวบ้านร้านตลาด เจ้าคุณวัดพุทไธศวรรย์ท่านได้อัญเชิญเทพารักษ์มาและขอร้องให้บวชเสีย เทพารักษ์ก็ยินยอม แต่นั้นข่าวฤทธิ์เดชของท่านก็เงียบไป

ทุกวันนี้ชาวพระนครศรีอยุธยาจำนวนมากก็ยังเคารพสักการะในฐานที่เป็นเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีทุกข์ก็บนบานศาลกล่าวให้ช่วยคุ้มครอง”

[ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ในข้อเขียนคัดมาคือ ภริยาจอมพลถนอม กิตติขจร จากบทความเรื่อง “พระบรมราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี” โดยจำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์ในหนังสือ อนุสรณ์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีศรีสินทรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว เป็นที่ระลึกงานเสด็จทรงเปิดพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2513 หน้า 4]