แมลงวันในไร่ส้ม / เมื่อบิ๊กตู่เดินสาย พบ ‘สื่อ’ ทุกค่าย เล็งปรับ ‘นิวนอร์มอล’

แมลงวันในไร่ส้ม

เมื่อบิ๊กตู่เดินสาย

พบ ‘สื่อ’ ทุกค่าย

เล็งปรับ ‘นิวนอร์มอล’

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เรียกเสียงฮือฮาด้วยการเดินสายพบสื่อถึงสำนักงานของสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ 10 สำนัก

เริ่มจาก บางกอกโพสต์และไทยโพสต์ ในวันที่ 8 กรกฎาคม วันรุ่งขึ้น คือไทยรัฐ เดลินิวส์ และเนชั่น

วันที่ 10 กรกฎาคม เครือมติชน และแนวหน้า วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม ที่ผู้จัดการ และสยามรัฐ

จดหมายของนายกรัฐมนตรีถึงสื่อ ระบุว่า การแก้ไขวิกฤตโควิด ทำให้เห็นความแข็งแกร่งของประเทศ ทั้งความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน และคนเก่งมีความรู้ที่ได้แสดงศักยภาพออกมา เมื่อโลกเปลี่ยนหลังโควิด ก็เห็นว่าการทำงานของรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นนิวนอร์มอลด้วย โดยผนึกทุกภาคส่วน ร่วมกันวางอนาคตประเทศ ปรับระบบประเมินผลงานภาครัฐ ทำงานเชิงรุกมากขึ้น พร้อมกับเชิญชวนคนไทยร่วมเดินหน้าภารกิจขับเคลื่อนประเทศ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยทุกคน

ในฐานะสื่อมวลชนเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ มีส่วนประคับประคองภาคส่วนอื่นๆ ให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันและเข้าถึงทุกภาคส่วน จึงขอพบปะเพื่อรับฟังมุมมองและแนวความคิดในประเด็นหลักๆ คือ

  1. ประเด็นที่คนไทยและประเทศไทยของเราควรให้ความสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน คืออะไร
  2. ปัจจัยที่จะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความสำเร็จคืออะไร หรือควรทำอย่างไร

สำหรับการติดต่อเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวความคิดของนายกฯ มีที่มาและความต่อเนื่องจากคำแถลง “วิธีการทำงานแบบ New Normal ของนายกรัฐมนตรี” เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ

ในการแถลงดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า วิกฤตโควิดครั้งนี้ ทำให้ผมได้ตระหนักชัดว่าประเทศไทยของเรามีความแข็งแกร่งที่เป็นสุดยอดไม่แพ้ประเทศใดในโลกอยู่ 2 เรื่อง ซึ่งมันเกี่ยวกับ “ความเป็นไทย” ของพวกเราทุกคน

หลังวิกฤตโควิดครั้งนี้ โลกของเราจะเปลี่ยนไป เป็นเหมือนโลกใบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม และเราจะต้องใช้ชีวิตกันในรูปแบบใหม่ แบบที่เรียกว่า New Normal เพื่อที่จะอยู่รอดและก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ซึ่งหมายความรวมถึงการทำงานของรัฐบาลด้วย

ผมจึงขอประกาศให้ทุกท่านทราบว่า เมื่อเราเข้าสู่โลกใหม่ จากนี้เป็นต้นไป การทำงานของรัฐบาลจะต้อง New Normal ปรับเปลี่ยนเป็นวิธีการทำงานแบบใหม่ด้วย หนึ่ง “ผนึกทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศไทย” ต่อไปนี้รัฐบาลจะต้องทำงานโดยดึงทุกภาคส่วน และทุกระดับในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยกันกำหนดอนาคตของประเทศ

หลังโควิด ผมจะปรับวิธีการวางแผน และกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลจากนโยบายต่างๆ เหล่านั้นได้มีส่วนร่วมมากขึ้น

ไม่ใช่แค่รับรู้นโยบายต่างๆ จากการอ่านข่าวทางหนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์เหมือนที่ผ่านๆ มา ต่อไปนี้ประชาชนต้องมีโอกาสมีส่วนร่วม รัฐบาลต้องได้ยินเสียงของประชาชน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้มากขึ้น

แนวความคิดนี้เกิดจากในช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของวิกฤตโควิด ผมได้เดินทางไปพบปะกับสมาคมภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยตัวของผมเอง ได้รับฟังและหารือกับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ความเดือดร้อนโดยตรง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก ผมจึงอยากจะต่อยอดวิธีการทำงานแบบนี้

ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า ผมจะขอให้แต่ละภาคส่วนเตรียมการเข้ามานำเสนอวิสัยทัศน์และความคิดในการเปลี่ยนโฉมและขับเคลื่อนภาคส่วนของท่านไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าให้ได้ไกลขึ้น และรวดเร็วขึ้นด้วย

โดยหลังจากได้รับความคิดเห็นต่างๆ มาแล้ว รัฐบาลจะพิจารณาความเป็นไปได้ ศึกษาข้อดีข้อเสียของข้อเสนอแนะต่างๆ ในวิธีการที่โปร่งใส และเปิดกว้าง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อหาหนทางที่ดีที่สุด ที่จะดำเนินการโครงการนั้นๆ ให้เกิดขึ้นจริง อย่างมีประสิทธิภาพ และบูรณาการกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

นั่นคือคำแถลงบางตอนของนายกรัฐมนตรี

 

ถือเป็นการเดินสายพบสื่อครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี นับแต่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2557

ตลอด 6 ปีที่เป็นนายกฯ ทั้งนายกฯ คสช. และนายกฯ ในรัฐบาลผสม พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยเปิดให้สื่อในประเทศเข้าสัมภาษณ์พิเศษ

มีสื่อต่างชาติบางสำนักที่ได้เข้าสัมภาษณ์พิเศษ

ในครั้งนี้ นายกฯ มากับทีมงานเล็กๆ ได้แก่ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาฯ สภาพัฒน์ คณะทำงานจำนวน 3 ถึง 4 คน

ส่วนบรรยากาศและเนื้อหาการพบปะพูดคุย แต่ละสื่อ รายงานบรรยากาศการพบปะคล้ายๆ กัน กล่าวคือ มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง ซักถามและตอบคำถาม

ส่วนมุมมองที่นำเสนอ จะเป็นเรื่องความเป็นห่วงผลจากการระบาดของวิกฤตโควิด โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือประชาชนให้ถึงพร้อมในปัจจัยการดำรงชีวิตโดยเฉพาะปัจจัย 4 ในระหว่างการฟื้นฟู

ขณะที่คำถามยอดนิยมในการพบปะก็คือปัญหาทางการเมืองที่กำลังร้อนแรง การถามถึงการปรับคณะรัฐมนตรี ที่มีกลุ่มนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ 4 กุมาร เป็นเป้าหมายจะดำเนินไปอย่างไร

คำตอบจากนายกฯ คือปรับแน่นอน ปัญหาอยู่ที่ “เมื่อไหร่” เท่านั้นเอง คร่าวๆ คือหลังจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 ผ่านสภา

หากพลิกปฏิทินดู จะพบว่าเป็นช่วงเดือนกันยายน หรืออย่างช้าตุลาคม

ขณะที่นายกฯ เองทำการบ้านมาอย่างละเอียด โดยกล่าวถึงงานที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญอย่างละเอียด

ทั้งการแก้ปัญหาโควิด การแก้ปัญหาการท่องเที่ยว การช่วยเหลือประชาชนที่รับผลกระทบ การช่วยเหลือเอสเอ็มอี การแก้ปัญหาทางการเกษตร ราคาพืชผล ปัญหาเรื่องน้ำ ภัยแล้ง การลงทุน

การเดินสายของนายกฯ ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของผู้นำรัฐบาล ที่เริ่มต้นจากผู้นำทางทหาร ผู้นำการรัฐประหาร ก่อน “เปลี่ยนผ่าน” ในการเลือกตั้งมีนาคม 2562 มาเป็นนายกฯ จากพรรคการเมือง

วิกฤตของโควิด-19 ยังไม่ยุติ แต่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ คงต้องดำเนินการต่อไป

ย่างก้าวต่อไปของนายกฯ คือ การปรับ ครม. นายกฯ และรัฐบาลจะใช้สถานการณ์นี้ปรับ ครม.แบบนิวนอร์มอล พลิกสถานการณ์ให้ตัวเองได้อย่างไร เป็นประเด็นข่าวที่ทุกฝ่ายจับตามอง และเงี่ยหูรอฟัง