สุจิตต์ วงษ์เทศ /แม่โพสพ โดยรัฐนาฏกรรม ในพิธีเผาข้าว ตามลัทธิเทวราช

แม่โพสพ (ซ้าย) ด้านหน้า (กลาง) ด้านข้างขวา (ขวา) ด้านข้างซ้าย [ลายเส้นจากบทความเรื่อง "แม่โพสพ" ของเสฐียรโกเศศ ใน ศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร ปีที่ 3 เล่ม 1 (มิถุนายน 2492) หน้า 76-84]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

แม่โพสพ โดยรัฐนาฏกรรม

ในพิธีเผาข้าว ตามลัทธิเทวราช

 

ราชสำนักรัฐโบราณทำพิธีธานย์เทาะห์ เผาข้าว เดือน 3 เป็นนาฏกรรมแห่งรัฐเพื่อความมั่นคงทางอาหารและการเมืองการปกครอง ด้วยการแสดงความมีอำนาจควบคุมและบันดาลความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารให้เป็นที่รับรู้ของสังคมสมัยนั้น ในช่วงเวลาสำคัญเดียวกับชาวนาร่วมกันทำขวัญข้าว โดยมีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และอลังการ ได้แก่ เผาศพแม่ข้าว และสถาปนาแม่โพสพ

เผาศพแม่ข้าว หมายถึง แม่ข้าวที่ถูกทำให้ตายจากการเกี่ยวข้าว (เดือนอ้าย) แล้วเก็บซากศพไว้ บัดนี้ได้เวลาเชิญศพแม่ข้าวขึ้นเผาตามประเพณีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่งรับเข้ามาใหม่จากอินเดีย โดยจุดไฟเผารวงข้าวที่มีเมล็ดข้าวเปลือกเต็มรวง

ความเชื่อดั้งเดิมทางศาสนาผีที่มีสืบมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีแล้ว คือ แม่ข้าวตาย ส่วนขวัญแม่ข้าวไม่ตาย แต่ยังมีวิถีต่างมิติที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น สำหรับร่างคือรวงข้าวไม่ได้เผาที่ถูกเก็บไว้ในยุ้งหรือเล้า เพราะไม่มีประเพณีเผาศพ

สถาปนาแม่โพสพ หมายถึง แม่ข้าวถูกสถาปนาตามความเชื่อลัทธิเทวราชขึ้นเป็นแม่โพสพเมื่อทำพิธีเผาศพแม่ข้าว เสมือนขวัญของแม่ข้าวถูกเชิญขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะบนสวรรค์นามว่าพระไพศพราช แล้วถูกเรียกตามความเชื่อท้องถิ่นว่าแม่โพสพ

การสถาปนาแม่ข้าวเป็นแม่โพสพดำเนินตามความเชื่ออุษาคเนย์ในลัทธิเทวราช อันมาจากการประสมประสานความเชื่อดั้งเดิมเรื่อง “ขวัญ” ในศาสนาผี กับความเชื่อเรื่อง “วิญญาณ” และ “เทวะ” ที่รับเข้าใหม่ๆ จากอินเดียทางศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ราวหลัง พ.ศ.1000

 

ลำดับพิธีกรรม

เผาข้าวไม่พบในกฎมณเฑียรบาล แต่พบในตำราพระราชพิธีเก่าบอกว่าธานย์เทาะห์ คือ เผาข้าว [ธานย์เทาะห์ แปลว่า เผาข้าว มีรากจากภาษาสันสกฤต ธานฺย แปลว่า ข้าว, เทาะห์ แปลว่า เผา (กลายคำจาก ทห แปลว่า เผา,ไหม้)]

ธานย์เทาะห์ เผาข้าว (สมัยอยุธยาตอนต้น) เป็นพระราชพิธีมีในเดือน 3 บอกชื่อเดือนตรงตัวว่า “เดือนสามรังเริ่มแก้ว กลศรี” (บท 197), “เดือนสามสาโรชน้อง นางเดียว” (บท 198) อยู่ในหนังสือทวาทศมาส (โคลงดั้น แต่งราวเรือน พ.ศ.2000 แผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ-พระบรมราชาที่ 3)

ธานย์เทาะห์ เผาข้าว เท่าที่พบร่องรอยจากเอกสารหลายเล่มสรุปพิธีกรรมได้ 3 ขั้นตอน คือ ทำขวัญข้าว, เผาข้าว, เสี่ยงทาย

  1. ทำขวัญข้าว หมอขวัญ คือ “อาจารย์” (เอกสารทวาทศมาสไม่เรียกพราหมณ์ หรือทวิช) เริ่มพิธีทำขวัญข้าวด้วยการขับลำคำคล้องจองสู่ขวัญแม่ข้าวพร้อมประพรมน้ำหอมดอกไม้ เรียก “สุคนธมาลา” แก่ “พนมรวง” หรือ “พนมข้าว” (คือ พนมรวงข้าว หมายถึงรวงข้าวที่มัดรวมเป็นพุ่มหรือฟ่อน มีเมล็ดข้าวติดรวงเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของแม่ข้าว) มีบอกในทวาทศมาสโคลงดั้น (บท 204)
  2. เผาข้าว แห่พนมรวงข้าวไปลานเผาข้าว (หลังเสร็จทำขวัญข้าว) เพื่อทำพิธีเผาข้าว เรียกในทวาทศมาสว่า “ส่งโพศพ” หมายถึง ส่งพระไพศพราชขึ้นฟ้าด้วยการเผาศพ

ตำราพระราชพิธีเก่าและตำราทวาทศพิธีจดไว้ว่าขุนนางผู้ใหญ่เชื้อสายพราหมณ์แห่พนมรวงข้าว (สมมุติเป็นฉัตร) มีประธาน 1 พนม และบริวาร 8 พนม เมื่อพร้อมแล้วให้ตระกูลพราหมณ์เป็นใหญ่จุดไฟเผาฉัตรรวงข้าวประธานขึ้นก่อน แล้วตามด้วยเผาฉัตรรวงข้าวบริวารทั้ง 8

ทวาทศมาสโคลงดั้น (บท 204 และ 211) พรรณนาพิธีเผาข้าวว่าขบวนแห่พนมรวงข้าวมีหมู่ฟ้อนร่อนรำเต็มแถวทาง ครั้นเสร็จพิธีเผาข้าวก็เท่ากับส่งพระไพศพขึ้นฟ้า แต่ไฟเผายังคุกรุ่นส่งแสงร้อนรุ่มผลาญไม้ใบข้างเคียง

  1. เสี่ยงทาย ตำราพระราชพิธีเก่ากับตำราทวาทศพิธีบอกว่า เมื่อคณะตระกูลพราหมณ์จุดไฟเผาพนมรวงข้าวแล้ว คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งขุนนางจัดไว้ให้ซ่อนซุ่มอยู่ในที่ไม่เปิดเผย ได้ขี่ควายกรูพร้อมกันออกไปแย่งชิงฉัตรรวงข้าว ชิงฉัตรรวงข้าวเป็นการละเล่นเสี่ยงทาย ถ้าเข้าชิงได้จากทิศใดจะมีคำทำนายฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่? อย่างไร? [กิจกรรมนี้มีร่องรอยพบในคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)] เรื่องทิศทางเข้าชิงฉัตรแล้วมีคำทำนายเป็นกิจกรรมเสี่ยงทายที่พัฒนาจากความเชื่อวันกำฟ้าของชาวนาดั้งเดิมคอยฟังทิศทางเสียงฟ้าร้องแล้วมีคำทำนาย

การละเล่นเป็นมหรสพ พบร่องรอยสมัยหลังอยู่ในหนังสือนางนพมาศว่า “การมหรสพก็เล่นระเบงระบำ — นางกะอั้วผัวแทงควาย หกคะเมน ไต่ลวด ลอดบ่วง รำแพน เสียงฆ้องกลองนี่สนั่นน่าบันเทิงใจ” ส่วนในกัมพูชามีเล่นหุ่น, โขน, มวยปล้ำ, รำกระบี่กระบอง, ดาบดั้ง เป็นต้น (พงศาวดารละแวก)

ไม่เสด็จเผาข้าวและแรกนา พระเจ้าแผ่นดินสมัยอยุธยาเสด็จนวดข้าวในนาหลวงที่อยู่นอกเมือง แต่ไม่เสด็จเผาข้าวและแรกนา เพราะเผาข้าวกับแรกนาเกี่ยวข้องการฆ่าซึ่งเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมนับพันปีมาแล้ว

 

“แม่โพสพ” ชื่อใหม่ของแม่ข้าวในลัทธิเทวราช

คําว่า “แม่โพสพ” เก่าสุดก่อนสมัยอยุธยา พบในพระไอยการเบ็ดเสร็จ พ.ศ.1884

ชื่อดั้งเดิมของแม่โพสพคือ แม่ข้าว เป็นชื่อเฮี้ยนในศาสนาผี หมายถึง ผีขวัญบรรพชนต้นโคตรของข้าว ครั้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดียแม่ข้าวถูกเรียกว่าแม่โพสพ ซึ่งเท่ากับเจ้าแม่ข้าวได้รับยกย่องเป็นเทวีข้าวและความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เพราะข้าวในสมัยดั้งเดิมเป็นสิ่งแสดงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ที่ได้จากดินและน้ำ

“แม่โพสพ” เป็นคำกลายจาก “พระไพศพ” พบในทวาทศมาส (โคลงดั้น บท 203 และ ฯลฯ) สมัยอยุธยาตอนต้น มาจากคำภาษาสันสกฤตว่าไพศฺรพณะ (ไวศฺรวณะ) ตรงกับคำภาษาบาลีว่าเวสฺสวณฺ แต่ในไทยเรียก 2 ชื่อ คือ ท้าวเวสสุวรรณ กับ ท้าวกุเวร

ท้าวกุเวรประทับอยู่ขุนเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นเทพผู้รักษาทิศเหนือ, เป็นผู้พิทักษ์ทรัพย์ในดินสินในน้ำ, เป็นเทพแห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์, เป็นประธานใหญ่ในหมู่อสูรและรากษส ตลอดจนภูตผีทั้งปวง [สรุปจากหนังสือ เทวกำเนิด ของพระยาสัจจาภิรมย์ฯ (สรวง ศรีเพ็ญ) สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่สิบสาม พ.ศ.2548 หน้า 45-48]

“พระไพศพ” ต่อมาถูกเรียกว่า “แม่โพสพ” แล้วเป็นที่รู้จักกว้างขวางกลบนามพระไพศพสืบจนปัจจุบัน แต่ในกัมพูชายังเลื่อมใสพระไพศพสืบมาถึงสมัยหลังๆ พบในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา จดว่าสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดีมีพระราชดำรัส (เมื่อ พ.ศ.2398 ตรงกับไทยแผ่นดิน ร.4) ให้จัดทำพระราชพิธีทวาทศมาสครบถ้วนทั้ง 12 เดือน ระบุว่าในเดือน 3 “ทรงให้จัดทำพระราชพิธีบูชาพระไพศพ คือ บูชาภูเขาข้าวเปลือก” (หมายถึงข้าวเปลือกกองสูงเหมือนภูเขา)

ลัทธิเทวราชยกแม่ข้าวเป็นแม่โพสพ เผาข้าว หมายถึง เผาศพแม่ข้าวเพื่อส่งผีขวัญแม่ข้าวขึ้นฟ้าไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะบนสวรรค์ คือพระไพศพ แต่หลังจากนั้นคนทั่วไปเลื่อมใสเรียกเป็นเพศหญิงตามความเชื่อเดิมว่าแม่โพสพ ซึ่งเท่ากับแม่ข้าวถูกยกเป็นแม่โพสพ ทั้งนี้ เป็นพิธีกรรมผสมกลมกลืนระหว่างความเชื่อศาสนาผีของพื้นเมืองกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย

 

รัฐนาฏกรรม มีในเมือง-นอกเมือง

เผาข้าวเป็นพระราชพิธีมีในเมือง (พระนครศรีอยุธยา) พบหลักฐานบอกไว้ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก (บท 65) ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (กุ้ง) พรรณนาบรรยากาศในเมือง

พิธีเผาข้าวน่าจะมีทั้งในพระนครศรีอยุธยาและในเมืองใหญ่อื่นๆ สมัยอยุธยาตอนต้น (อาจหมายถึงเมืองพระยามหานครต้องถือน้ำพระพัทธ์ตามที่พบชื่อในกฎมณเฑียรบาล) เพราะก่อนถึงพระราชพิธีธานย์เทาะห์เผาข้าว มีกฎหมายอาญาหลวงกำหนดหน้าที่ของเจ้าเมืองต้องเอาไพร่พลออกเลี้ยงนอกเมือง (เพราะงานพระราชพิธีมีในเมือง)

เผาข้าวน่าจะเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวนา ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้วสืบเนื่องจนปัจจุบัน เมื่อเสร็จงานเก็บเกี่ยวและนวดข้าวจนได้ข้าวเปลือกเก็บไว้กินแล้วทั้งปีก็เผาฟางและซังข้าวในทุ่งนาทำลายรังมดปลวกที่เคยมีและเคยทำลายต้นข้าว (เชื่อกันอีกว่าเพื่อเตรียมพื้นที่ปลอดภัยไว้ทำนาฤดูกาลข้างหน้า) ดังพบร่องรอยความทรงจำอยู่ในหนังสือเรื่องนางนพมาศ บอกว่า “เชิญพระเพลิงออกจุดเผาฟางและซังข้าว สมมุติว่าคลอกทุ่งเผาป่ากันอุปัทวจัญไร” ส่วนเผาข้าววิถีใหม่ เป็นประเพณีหลวงซึ่งมีความหมายใหม่ที่ปรับปรุงขึ้นจากประเพณีดั้งเดิม

 

…………………………………………………………………………………………………………………………………………….

[ต้นฉบับสมบูรณ์มี 30 หน้า A4 ชื่อ แม่โพสพ “เทวีข้าว” รัฐนาฏกรรมมาจากแม่ข้าวในศาสนาผี ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อ่านใน www.matichonweekly.com]

………………………………………………………………………………………………………………………………………………

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่