การศึกษา / ยื้อโควต้า ‘พิมพ์ตำรา’ พันล้าน ผู้รับเคราะห์ คือ นักเรียน?!?

การศึกษา

 

ยื้อโควต้า ‘พิมพ์ตำรา’ พันล้าน

ผู้รับเคราะห์ คือ นักเรียน?!?

 

ดึงเกม-สร้างความยืดเยื้อโดยเอา “นักเรียน” เป็นตัวประกัน…

ปี 2562 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือแบบเรียนสาระวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พยายามแก้ไขปัญหาหนังสือเรียนไปถึงโรงเรียนล่าช้า ไม่ทันเปิดภาคเรียน ด้วยการโอนโควต้าพิมพ์หนังสือที่เดิมให้องค์การค้า (อค.) จัดพิมพ์ 100% มาให้สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดพิมพ์ระดับมัธยมศึกษา 60 ปก (วิชา) กว่า 16 ล้านเล่ม เป็นเงินกว่า 1 พันล้านบาท ส่วน อค.พิมพ์ระดับประถมศึกษา

มาปีการศึกษา 2563 อค.ร้องเรียนนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ขอให้ทบทวนโควต้าจัดพิมพ์หนังสือใหม่ ให้เหตุผลเรื่องความอยู่รอดขององค์กรที่ปัจจุบันเป็นหนี้ถึง 5,000 ล้านบาท ขาดสภาพคล่อง จนต้องยืมเงินสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) 800 ล้านบาท มาบริหารจัดการ

เมื่อเดือนพฤศจิกายน นายณัฏฐพลให้สัมภาษณ์ยืนยันที่จะให้จุฬาฯ จัดพิมพ์ตามโควต้าเดิมเพื่อให้หนังสือส่งถึงนักเรียนทันเปิดเทอม

 

แต่ล่าสุดนายณัฏฐพลกลับลำ โดยสั่งให้ดึงโควต้าจากสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ มาให้ อค.ทั้งหมด นั่นคือ ตั้งแต่ระดับ ป.1-ม.6 มาให้ อค.พิมพ์ โดยอ้างเพิ่งได้รับข้อมูลบางอย่าง

“ผมต้องปกป้องหน่วยงานที่อยู่ในกำกับ ศธ.เป็นหลัก ผลประโยชน์ที่ผมคำนึงถึงมากที่สุดคือ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. การพิมพ์หนังสือของ สสวท. ผมเน้นเรื่องผลิตหนังสือเรียนให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 หรือเดือนพฤษภาคม เดิมที่เคยระบุว่า จะให้สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ จัดพิมพ์ตามโควต้าเดิมนั้น เพราะยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ตัดสินใจ ทั้งกระบวนการผลิต กระบวนการจัดส่ง ซึ่งเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามา ก็ต้องพิจารณาใหม่ และบอร์ด อค.ก็เคยมีมติไปแล้วให้ อค.เป็นผู้จัดพิมพ์ ด้วยเหตุผลรายได้ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรอื่นๆ ก็ต้องมาพูดคุยกัน ผมยังมั่นใจว่าวินวินกันทุกคน มั่นใจว่า อค.จะจัดส่งหนังสือเรียนได้ทันเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน” นายณัฏฐพลกล่าว

มีอะไรเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ ถึงทำให้นายณัฏฐพลเปลี่ยนท่าทีจนนำมาสู่การหารือร่วม 3 ฝ่าย คือ สสวท. ผู้แทน อค. และผู้แทนสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ

กระทั่งล่าสุดได้ข้อสรุปว่าจุฬาฯ จะคืนโควต้าพิมพ์หนังสือระดับ ม.3 และ ม.6 ให้แก่ อค.

ส่วนจุฬาฯ พิมพ์ระดับ ม.1 ม.2 ม.4 และ ม.5 เนื่องจากได้มีการทำข้อตกลงทางกฎหมายไปแล้ว

 

ถ้ายึด “หนังสือเรียนถึงมือเด็ก” เป็นหลัก อดีตที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏ อค.ส่งหนังสือทันเปิดภาคเรียน อย่างปี 2562 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร สำรวจ 6,844 โรงเรียน พบว่าหนังสือถึงโรงเรียนประถมไม่ทันเปิดภาคเรียน 73%

ส่งผลให้นักเรียนประถมอย่างน้อย 500,000 คน ไม่มีหนังสือเรียน ขณะที่นักเรียนมัธยมได้รับหนังสือที่จัดโดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ก่อนเปิดภาคเรียน 96%

“ปีที่แล้วเป็นครั้งแรกที่นักเรียนมัธยมได้รับหนังสือเรียนทันก่อนเปิดเรียน จุฬาฯ ภูมิใจที่ได้ช่วย สสวท.แก้ปัญหา ซึ่งนายณัฏฐพลได้ยืนยันมติการประชุม และให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ว่าเพื่อให้หนังสือถึงมือนักเรียนก่อนเปิดเรียน จะให้จุฬาฯ พิมพ์หนังสือระดับมัธยมต่อ ประกอบกับมีรายงานการวิจัยที่ มศว ประสานมิตร สำรวจ 6,844 โรงเรียน พบว่า แบบเรียนของ สสวท.มีมาตรฐานสูง คุณภาพดี เป็นที่ยอมรับ แต่โรงเรียนประถม 73% ได้รับหนังสือไม่ทันเปิดเรียน ส่งผลให้นักเรียนประถมอย่างน้อย 500,000 คน ไม่มีหนังสือเรียน สำหรับโรงเรียนมัธยมที่ สสวท.ให้จุฬาฯ ดำเนินการ 96% ได้รับหนังสือก่อนเปิดเรียน”

นายอรัญ หาญสืบสาย ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ กล่าว

 

ขณะเดียวกันก่อนนี้มีการปล่อยข่าวว่าสเป๊กหนังสือเรียนที่จุฬาฯ จัดพิมพ์ไม่ได้มาตรฐาน จนมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สสวท. ซึ่งเรื่องนี้ สสวท.ยืนยันว่าได้มาตรฐาน

“สสวท.ได้ตรวจสอบและแจ้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วว่าคุณภาพกระดาษเป็นไปตามข้อกำหนดของ สพฐ. คือ เป็นกระดาษเยื่อเคมี เคลือบผิวด้าน น้ำหนักพื้นฐาน 70 แกรม ซึ่งสามารถใช้ดินสอเขียนได้ และผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐานจากต่างประเทศ”

“ส่วนค่าความมันวาวของกระดาษ หรือค่าความทึบแสง สพฐ.ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ และกรณีที่จำเป็นต้องปรับปรุงสื่อให้เหมาะสมต่อการผลิต จะต้องส่งต้นฉบับที่ปรับปรุงให้ สสวท.ตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการและคุณภาพก่อนการผลิตและจำหน่าย ซึ่งกรณีของสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ที่ขอปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของกระดาษ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่ป้องกันการผูกขาดผู้จำหน่ายกระดาษ”

“สสวท.ได้พิจารณาแล้วว่าการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติด้านความมันวาวและความทึบแสงดังกล่าว มิได้กระทบต่อความถูกต้องทางวิชาการและคุณภาพหนังสือเรียนแต่อย่างใด และไม่ขัดกับข้อกำหนดของ สพฐ.”

นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท.กล่าว

 

ขณะที่จุฬาฯ เองก็ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันกระดาษได้มาตรฐานและไม่มีเสียงร้องเรียนเรื่องคุณภาพหนังสือ

“สืบเนื่องจากข้อร้องเรียนของ อค. เกี่ยวกับคุณภาพของหนังสือเรียนที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ยืนยันว่าคุณภาพกระดาษที่ใช้ตรงตามที่ สสวท.กำหนด โดยได้มีการพิจารณาร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้การประกวดราคา e-bidding เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ด้วย นอกจากนี้ในด้านคุณภาพการพิมพ์ ทางสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ได้ควบคุมคุณภาพทั้งในขั้นตอนพิมพ์และหลังพิมพ์ ทำให้ภาพพิมพ์มีความคมชัดและหนังสือแข็งแรงทนทาน จุฬาฯ ได้รับความไว้วางใจจาก สสวท.ให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้นักเรียนมีหนังสือเรียนก่อนเปิดเทอม โดยผลสำรวจการจัดซื้อหนังสือเรียนของ สสวท. โดยผู้ทรงคุณวุฒิอิสระ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ สามารถส่งหนังสือเรียนไปยังโรงเรียนต่างๆ ได้ทันตามกำหนดในสัดส่วนร้อยละ 96 และไม่ปรากฏการร้องเรียนจากผู้ใช้หนังสือเรียนไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพการพิมพ์หรือการให้บริการ” แถลงการณ์จุฬาฯ ระบุ

นอกจากนี้มีการเปิดประเด็นว่าหนังสือเรียนที่สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ จัดพิมพ์เสร็จไปแล้ว 42 ปก (วิชา) ไม่สามารถวางขายได้เนื่องจาก สพฐ.จะไม่เขียนคำนิยมให้นั้น

ทางนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าที่ขอยกเลิกก็เนื่องจากมองเรื่องความอิสระทางวิชาการ เพราะคำนิยมเป็นเรื่องของผู้แต่งหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ อีกทั้งฝ่ายกฎหมายชี้แจงว่า สสวท.เป็นองค์กรมหาชนแล้ว จึงถือเป็นหน่วยงานอื่น ซึ่ง สพฐ.ไม่จำเป็นต้องเขียนคำนิยมให้

จากนี้ต้องติดตามว่าหลัง อค.ได้โควต้าจัดพิมพ์ระดับ ม.3 และ ม.6 คืนไปแล้ว จะจัดพิมพ์และส่งหนังสือได้ทันเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคมหรือไม่

             จะยื้อโควต้าเพื่อผลประโยชน์ของใครก็แล้วแต่ แต่ต้องไม่ทำให้นักเรียนเดือดร้อน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างจากการเอา “นักเรียน” มาอ้างเพื่อหาผลประโยชน์หรือไม่