ในประเทศ / อิ หยัง วะ

ในประเทศ

 

อิ หยัง วะ

 

อิหยัง วะ

หรืออะไรกันวะ

คำฮิตของเหล่าทวิตเตอร์

คงเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากตะโกนออกมาเช่นกัน

หลังกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เมื่อวันที่ 12 มกราคมผ่านไป

แม้ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะมีฝ่ายที่สนับสนุนลุงตู่ ออกมาทำกิจกรรมเดินเชียร์ลุง คู่ขนานกันไป

เพื่อสะท้อนว่า ในสังคมไทยไม่ได้มีแต่คนไล่ลุง หากแต่มีคนเชียร์ลุงด้วย

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ย่อมทราบดีว่า กิจกรรมวิ่งไล่ลุง ที่แม้จะถูกขัดขวางในทุกรูปแบบ ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย

แต่การที่ยังมีคนนับหมื่น ที่บางส่วนต้องควักเงินจ่าย 600 บาทมาร่วมงานจำนวนมาก

อย่างที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) สรุปภาพของงานว่า คนที่มางานวิ่งไล่ลุงมีทุกช่วงวัย ทั้งรุ่นป้า ลุง คนทำงาน ยันเด็กมัธยมต้น คล้ายตอนแฟลชม็อบที่สกายวอล์ก คิดว่ากลุ่มวัยรุ่นมี 60% ที่เหลือเป็นคนที่มีอายุอาจ 30-40% ซึ่งไม่ได้ต่างกันเยอะ

เรียกว่าเป็นภาพของสังคมที่มีคนทุกวัยมาร่วม

อันสะท้อนว่า การชุมนุมวิ่งไล่ลุง จุดติด

ซึ่งนี่ย่อมนำมาสู่คำถามในใจอันอื้ออึงของ พล.อ.ประยุทธ์

อิ หยัง วะ–อุตส่าห์ทำดี ทำมาก ยังมาถูกไล่อีก

 

จึงไม่แปลก หลังวันที่มีกิจกรรมวิ่งไล่ลุง พล.อ.ประยุทธ์จะหลุดความรู้สึกผ่านคำพูดที่พูดในงานต่างๆ

เช่น ระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดตัวโครงการยุวชนสร้างชาติของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 500 คน จาก 7 มหาวิทยาลัยภาครัฐและภาคเอกชน

พล.อ.ประยุทธ์ระบายความรู้สึกตอนหนึ่งว่า

“ผมไม่ได้เป็นศัตรูกับใครเลย ใครจะเชียร์ จะไล่ จะอะไร ผมไม่ใช่ศัตรูพวกท่าน”

“แต่ทุกคนจะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือ ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ดีกว่ามาเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้มากนัก แต่ก็เคารพความคิดของทุกคน”

“วันนี้ประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้ว เป็นการขับเคลื่อนทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า ซึ่งคนรุ่นเก่าเราทิ้งไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะแบ่งแยกกันอยู่อย่างนี้ คนรวย คนปานกลาง คนจน กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ถึงเวลาที่ต้องรวมพลังกันได้แล้ว อะไรที่ขัดข้องหมองใจต้องคุยกัน ทุกอย่างต้องแก้ปัญหาแบบนี้ ในต่างประเทศเขาก็แก้ปัญหากันแบบนี้ รบราฆ่าฟันกันยิ่งกว่านี้ ต้องการจะกลับไปแบบนั้นกันอีกหรือ อย่าเลย เอาความตั้งใจมาร่วมมือกันคิดกันทำจะดีกว่า”

 

นอกจากนี้ เมื่อไปร่วมกิจกรรมโครงการ “คืนบ้านใหม่ให้พี่น้อง คืนสายคลองให้ส่วนรวม” ที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร กทม.

พล.อ.ประยุทธ์ก็ระบายความในใจอีกครั้งว่า

“ผมไม่ขัดแย้งกับใครทั้งสิ้น พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของพวกเรา”

“วันนี้ใครจะว่าอะไร ทำอะไรก็สุดแท้แต่จะมีวาสนาแค่ไหน ส่วนนายกฯ มีวาสนาน้อย อยู่ที่พวกเราประชาชนเป็นผู้กำหนดแนวทางประเทศ ดูว่าอะไรดีไม่ดี อย่าไปฟังสิ่งที่ไม่ใช่แล้วก็เชื่อ ต้องคิดให้เป็น อะไรเกิดผลแล้ว อะไรยังไม่เกิดผล อะไรดีแต่พูด นายกฯ พูดเยอะหลายคนบอกผมมีแต่พูด แต่เพราะคิดไว้เยอะและทำไปเยอะแต่หลายคนไม่รู้ และที่พูดเยอะเพราะทำไปเยอะแต่หลายคนก็ไม่ได้ฟัง ไปฟังอะไรที่บางทีไม่ค่อยได้ประโยชน์ แต่ผมไม่เคยรังเกียจใคร ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ไม่เป็นไร”

“นายกฯ เป็นคนแบบนี้ ยิ่งไม่ชอบ ก็ต้องยิ่งรักท่านให้มากขึ้น เอาความดีทำต่อให้เขารัก และทุกคนก็ต้องทำแบบนี้”

 

จากคำพูดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าผู้พูดมากด้วยความข้องใจ ว่าทำอะไรก็มาก แต่ไฉนการตอบสนองจึงไม่มี

แต่ก็พยายามโชว์ว่า ไม่ถอดใจ

คือถึงจะไม่รัก แต่ก็ต้องทำให้เขารักให้ได้

สอดคล้องกับเพจเฟซบุ๊ก “ลุงตู่ตูน” เพจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ประกอบข้อความชุด “วิ่งไล่…เพื่อประเทศไทย” โดยหยิบยกผลงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หลายเรื่อง พร้อมตั้งคำถาม “ก่อนวิ่งไล่ลุง รู้มั้ย…ลุงวิ่งไล่ทุกปัญหาเพื่อพัฒนาประเทศ” โดยเปรียบเทียบกับการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่สวนรถไฟของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา

พร้อมระบุ อาทิ ก่อนเกิดการวิ่งไล่ลุง มีลุงคนหนึ่งวิ่งไล่ความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ, ก่อนเกิดการวิ่งไล่ลุง มีลุงคนหนึ่งวิ่งไล่การทุจริตจำนำข้าว ปกป้องผลประโยชน์ชาวนา, ก่อนเกิดการวิ่งไล่ลุง มีลุงคนหนึ่งวิ่งไล่การหยุดชะงักของการพัฒนาโครงสร้างคมนาคมพื้นฐาน, ก่อนเกิดการวิ่งไล่ลุง มีลุงคนหนึ่งวิ่งไล่ความสุ่มเสี่ยงในการทำประมงของประเทศไทย, ก่อนเกิดการวิ่งไล่ลุง มีลุงคนหนึ่งวิ่งไล่ปัญหาเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก

นอกจากนี้ยังเรียกร้องความสงบสุขคนในชาติ ระบุว่า

“ถ้าไม่ชอบลุงคนนี้ก็ไม่เป็นไร แต่จงอย่าวิ่งไล่ความสุขสงบของคนประเทศไทยเหมือนที่ผ่านมา”

ความรู้สึกน้อยอกน้อยใจนี้ พี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ย่อมเข้าใจดี

จึงออกมาเรียกร้องว่าไม่อยากให้วิ่งหรือเดินแล้ว เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และเป็นปัญหาที่จะทำให้รัฐบาลเดินไปข้างหน้า ขอให้มาช่วยกันแก้ไขปัญหาจะดีกว่า

ไม่ต้องไปวิ่งหรือเดินอะไรแล้ว

 

แต่การเรียกร้องดังกล่าว จะได้ผลหรือไม่

คงต้องพิจารณาจากคำพูดของคนกันเอง

อย่างนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

ที่ชี้ว่า กิจกรรมวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่ ระหว่างคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ กับกลุ่มที่สนับสนุน ทำให้สถานการณ์ย้อนหลังไปสู่เหตุการณ์ก่อน 22 พฤษภาคม 2557 เป็นความขัดแย้งระหว่างระบอบทักษิณกับสังคมไทย แต่วันนี้เปลี่ยนคู่ขัดแย้งใหม่ เป็นระบอบประยุทธ์กับสังคมคนรุ่นใหม่

“แสดงว่า 5 ปีที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าการบริหารประเทศภายใต้ คสช.ล้มเหลวสิ้นเชิง ไม่สามารถปลดล็อกความขัดแย้งได้ จึงทำให้รัฐประหารของ คสช.ปี 2557 เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่ไม่คุ้มค่า เป็นการยึดอำนาจที่เสียของอีกครั้ง เพราะไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไทยตามเป้าหมายที่ คสช.ประกาศไว้”

“และวันนี้สถานการณ์การเมืองพัฒนามาเป็นการชุมนุมผ่านสังคมโซเชียลมีเดีย และนัดชุมนุมกันแบบครั้งคราว หรือแฟลชม็อบ เพื่อสร้างแรงกดดันไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะสุกงอม ซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นผู้ถอดสลักความขัดแย้ง และแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยตนเองให้ได้”

“วันนี้จุดศูนย์กลางความขัดแย้งได้เปลี่ยนมาเป็น พล.อ.ประยุทธ์แต่เพียงผู้เดียว ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะถอดสลักแก้ปัญหาขัดแย้งของคนในชาติได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์และบริวารต้องไปขบคิดและหาแนวทางแก้ไข หรือถอนตัวออกจากคู่ขัดแย้งให้เร็วที่สุด เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไปสู่สภาวะปกติตามที่ทุกฝ่ายในสังคมปรารถนา”

 

คําพูดของนายเทพไทที่จี้เข้าไปกลางใจ

แน่นอน ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับแกนนำรัฐบาล

โดย พล.อ.ประวิตรได้ขอให้พรรคประชาธิปัตย์ไปจัดการ ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ก็ขานรับว่า มีมาตรการอยู่แล้วให้รอดูแล้วกัน ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคแล้ว

แต่กระนั้นสิ่งที่นายเทพไทสะท้อนออกมา ก็เป็นสิ่งที่หลายคนไม่ปฏิเสธ

โดยเฉพาะในฟากตรงข้ามรัฐบาล พากันขยี้ซ้ำ

อย่างนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.ชี้ว่า รัฐบาล คสช.ไม่ได้แก้ปัญหาและยังทำให้สถานการณ์แย่ลง ด้วยการสืบทอดอำนาจ ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะเกิดความขัดแย้งใหญ่อีกในอนาคต

ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทยชี้ว่า การที่คนไทย 40 จังหวัดทั่วประเทศลุกขึ้นมาทำกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นสัญญาณบอกว่าเวลาของรัฐบาลเหลือน้อย การวิ่งไล่ลุงเป็นดัชนีชี้วัดว่าความนิยมและความชื่นชอบรัฐบาลลดน้อยลง

พร้อมเสนอ 5 ข้อไปยังรัฐบาล คือ

  1. อย่าสกัดกั้นประชาชนไม่ว่ากลุ่มใด ใครอยากวิ่งไล่ลุงก็ไปวิ่ง ใครอยากเดินเชียร์ลุงก็เดิน ไม่ใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน
  2. เจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องวางตัวเป็นกลาง อำนวยความสะดวกประชาชนเท่าที่กฎหมายจะเอื้อได้
  3. รัฐไม่ควรมีเกมเลื่อน ลด ปลด ย้ายข้าราชการฝ่ายปกครอง เช่น จังหวัดใดมีคนวิ่งไล่ลุงมากก็จะถูกปลดย้าย ไม่สมควรใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือ
  4. อย่าผลักคนเห็นต่างเป็นศัตรู เช่น กิจกรรมวิ่งที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ต้องห้ามเข้าไปแทรกแซง ข่มขู่ กดดัน คุกคาม และให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเท่าเทียมทั้ง 2 ฝั่ง

และ 5. ต้องยอมรับและฟังเสียงที่เห็นต่างของประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพการทำงานในช่วงเวลาที่เหลือน้อยของรัฐบาล

 

ข้อเรียกร้องของพรรคเพื่อไทยข้างต้น

คงสืบเนื่องจากตอนนี้หลายจังหวัดที่จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง แกนนำที่จัดงาน ถูกตำรวจเอาผิด ฐานชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต

สอดคล้องกับที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าบางจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานที่มีการจัดงานวิ่งไล่ลุง มีผู้ร่วมงานบางรายถูกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เลยมีข้อสงสัยว่า ทำไมงานที่จัดถึงมีการใช้สองหรือหลายมาตรฐาน

ซึ่งนี่คงจะได้เห็นการเข้มงวดเช่นนี้อีกหลายรูปแบบ

เพื่อสกัดกระแสวิ่งไล่ลุง มิให้พัฒนาจนจุดติดไปสู่การลุกโพลง

เพราะนั่นย่อมไม่เป็นผลดีกับลุง

ด้วยอาจจะบานปลายไปสู่การขับไล่ตรงๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับผู้นำและรัฐบาลหลายชุด และเป็นวิกฤตมาแล้ว!

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น มันจะไม่ใช่แค่ทำให้เกิดความข้องใจแบบ อิ หยัง วะ อย่างตอนนี้แน่นอน