เศรษฐกิจ / ‘กสทช.’ ฟันฉับประมูล ‘คล็อคอ๊อกชั่น’ 4 คลื่นความถี่…ชี้ชะตา 5 G เกิด-ไม่เกิด

เศรษฐกิจ

 

‘กสทช.’ ฟันฉับประมูล ‘คล็อคอ๊อกชั่น’

4 คลื่นความถี่…ชี้ชะตา 5 G เกิด-ไม่เกิด

 

และแล้วที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็มีมติเห็นชอบให้นำคลื่นความถี่ 4 ย่าน ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ ออกมาประมูลเพื่อเปิดให้บริการ 5 G โดยเป็นการประมูลครั้งละคลื่นความถี่ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563

ด้วยรูปแบบการประมูล ‘คล็อคอ๊อกชั่น’ ที่ ‘กสทช.’ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันคิดค้น กำหนดให้ผู้ประมูลต้องเคาะราคาเลือกคลื่นความถี่ก่อน จากนั้นจึงเคาะเลือกชุดความถี่ แต่จะไม่เปิดประมูลพร้อมกัน เปลี่ยนเป็นการประมูลครั้งละคลื่นความถี่

โดย กสทช.กำหนดระยะเวลาการคล็อคอ๊อกชั่น จำนวน 2 ครั้ง คือวันที่ 10 และ 14 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประมูลมีความเข้าใจและคุ้นเคยกับระบบการประมูล

ซึ่งจากนี้จะนำร่างการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5 G ให้ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช.ลงนาม

และนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ตามกรอบระยะเวลาการประมูลที่วางไว้

 

สําหรับคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 15 เมกะเฮิร์ตซ์ แบ่งออกเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 3 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 8,792 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,637.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,319 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 35 เมกะเฮิร์ตซ์ แบ่งออกเป็น 7 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 4 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 12,486 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระ 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 3 ชำระ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 4,994.40 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,873 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 190 เมกะเฮิร์ตซ์ แบ่งออกเป็น 19 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 10 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 7 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระ 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) ชำระ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลต้องมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่อีอีซี ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากรของสมาร์ตซิตี้ภายใน 4 ปี โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 1,862 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 280 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิร์ตซ์ จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 2700 เมกะเฮิร์ตซ์ แบ่งออกเป็น 27 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 12 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 22 ล้านบาท กำหนดการชำระเงินค่าประมูลงวดเดียว

โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 507.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 64 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

 

“คาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และผู้รับใบอนุญาตสามารถเริ่มติดตั้งโครงข่ายได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 หากเป็นไปตามแผนคาดว่าในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563 จะสามารถเปิดให้บริการในพื้นที่อีอีซี ย่านใจกลางเมือง ซึ่งการเปิดให้บริการดังกล่าวจะใกล้เคียงกับการเปิดบริการ 5 G ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือนกรกฎาคม 2563” นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าว

แต่กว่า ‘กสทช.’ จะฟันฉับได้แบบนี้ก็เจ็บกระอักมาเยอะ เริ่มตั้งแต่การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) 3 รายหลัก อย่างเอไอเอส ทรู และดีแทค พากันประสานเสียง เสนอให้เลื่อนการประมูลออกไปก่อน

โดยตัวแทน ‘เอไอเอส’ ให้เหตุผลว่า คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ ไม่เหมาะสมในการทำ 5 G ขณะที่การเรียกคืนคลื่นความถี่ก็ยังไม่ชัดเจน

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ก็มีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนกับสัญญาณไมโครโฟน

ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ราคาเริ่มต้นการประมูลสูงไป และเหมาะกับการเสริมโครงข่าย 4 G มากกว่า

สุดท้ายคือคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิร์ตซ์ ยิ่งไม่น่าสนใจเพราะเป็นคลื่นที่ยังไม่มีการลงทุนใดๆ ในตลาด

ขณะที่ตัวแทน ‘ทรู’ ระบุว่า กสทช.ควรนำคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ มาประมูลเพียงคลื่นเดียว เพื่อให้โอเปอเรเตอร์นำเงินไปลงทุนในคลื่นความถี่ย่านที่มีอยู่แล้วให้เกิด 5 G ภายในปี 2563

ส่วนประเด็นที่บังคับให้ผู้ชนะการประมูลต้องรีบลงทุน 50% ในพื้นที่อีอีซี ภายใน 1 ปี ปฏิบัติตามได้ยาก เพราะบางครั้งความต้องการอาจจะอยู่นอกพื้นที่ จึงต้องการให้ตัดเงื่อนไขนี้ออกไป

ครั้นการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจบลง โอเปอเรเตอร์ 3 รายก็รีบตบเท้าเข้าหารือกับเลขาธิการ กสทช. เพื่อเสนอให้จัดการประมูลเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ ในรูปแบบการประมูลปกติ

โดยให้นำคลื่นความถี่ย่าน 700, 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ ออกมาประมูลครั้งต่อไป

แต่ไม่เป็นผล เมื่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 มีมติให้จัดการประมูลคลื่นความถี่ 3 ย่าน ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 1800, 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ เสกให้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ หายวับจากการประมูล

โดยให้เหตุผลว่า คลื่นความถี่ดังกล่าวยังติดปัญหาการย้ายคลื่นความถี่ไมโครโฟน ซึ่งจะสามารถใช้งานได้เดือนมีนาคม 2564

ดังนั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการจึงมีมติให้นำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ จัดการประมูลพร้อมคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิร์ตซ์

 

การออกมาท่านี้ จะกระทบกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท รัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ทันที จึงไม่แปลกที่เห็นอาการแสดงออกชัดเจนว่าต้องการคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์

โดย พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่แคท ออกหน้ายื่นหนังสือถึง กสทช. เพื่อขอคำชี้แจงในการถอดคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์จากการประมูล ทำให้ กสทช.นั่งไม่ติดต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. และมติกลับลำนำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ออกมาประมูลตามเดิม

เลขาธิการ กสทช.คาดหมายว่าจะได้เงินจากการประมูลคลื่นครั้งใหม่เข้ารัฐได้อย่างน้อย 35,000-37,000 ล้านบาท โดยประเมินจากคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ จะสามารถประมูลออกไปได้ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 35,378 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิร์ตซ์ ราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 423 ล้านบาท คาดว่าจะประมูลได้จำนวน 4 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่า 1,692 ล้านบาท ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จะไม่มีผู้สนใจประมูล

‘ร่างการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5 G’ แม้จะผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ที่มีผู้เข้าร่วมรับฟังอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แต่แทบไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปเลย จากนี้คงต้องจับตาดูว่า จะมีโอเปอเรเตอร์สองมือล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้ามาร่วมประมูลกี่ราย

       และแผนแจ้งเกิด 5 จี ปี 2563 ของ กสทช.จะเป็นจริงมั้ย หรือต้องให้บริษัทที่แคทและทีโอทีควบรวมช่วยกันดันให้เกิด ตามใบสั่งรัฐมนตรีดีอีเอส