มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส /คอนโดมิเนียม (3)

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

คอนโดมิเนียม (3)

 

ต่อเนื่องมาสองฉบับแล้ว ฉบับนี้ก็ยังคงมองคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ต่อ เพราะนอกจากจำนวนจะมากมายแล้ว คอนโดมิเนียมแต่ละหลังยังสูงเสียดฟ้า แบบว่าเปลี่ยนทัศนภาพกรุงเทพฯ จากเดิมเต็มไปด้วยยอดเจดีย์สีทอง มาเป็นยอดอาคารแวววาวละลานตาในปัจจุบัน

วิทยานิพนธ์ของ นายอิทธิกฤต ธนกิจสมบัติ ระบุว่า ในจำนวนคอนโดมิเนียมกว่าห้าพันหลัง อาคารที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ คือ โครงการมหานคร ที่ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ สูงถึง 77 ชั้น

โครงการที่สูงรองลงมา ล้วนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เริ่มจาก เอสเตททาวเวอร์ (หรือโรงแรมเลอบัว) ถนนสีลม สูง 68 ชั้น ตามด้วย เดอะเม็ท ตรงถนนสาทร สูง 64 ชั้น อมันตาลุมพินี ถนนพระราม 4 สูง 61 ชั้น เฉือน แมกโนเลียส์ ราชดำริ ไปหนึ่งชั้น

ประเภทอาคารสูงห้าสิบกว่าชั้น เริ่มด้วย จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์ ถนนสีลม (56) เดอะพาโน ถนนพระราม 3 (55) แม่น้ำเรสซิเดนท์ ถนนเจริญกรุง (54) เซอร์เคิล ลิฟวิ่ง โปรโตไทพ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ที่เท่ากับ เอ็ม สีลม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ คือ 53 ชั้น

แต่จำนวนชั้นของอาคาร ไม่ได้หมายความว่าจะมีจำนวนห้องชุดพักอาศัยมากตามไปด้วย เพราะโครงการที่กล่าวมา ไม่ติดอันดับโครงการคอนโดมิเนียมที่มีห้องชุดพักอาศัยมาก

 

โครงการคอนโดมิเนียมที่มีห้องชุดพักอาศัยมากที่สุด เป็นของลุมพินีพาร์ค ปิ่นเกล้า ที่มีสองอาคารในโครงการเดียวกัน มีจำนวนห้องชุดพักอาศัยมากถึง 2,702 หน่วย

รองลงมาเป็นโครงการ เดอะ ทรีอินเตอร์เชนจ์คอนโด ของบริษัท พฤกษาโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มีจำนวนห้องชุดพักอาศัย พันเจ็ดร้อยหน่วย เท่าๆ กับโครงการศุภาลัย เวอเรนด้า รัชวิภา-ประชาชื่น ของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และโครงการ สเตททาวเวอร์ ถนนสีลม

นอกจากนี้ โครงการไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่าน ของบริษัท อนันดา เอ็ม เอฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) ก็มีห้องชุดพักอาศัยมากถึง 1,650 หน่วยแล้ว ยังมีโครงการคอนโดมิเนียมระดับพันหน่วยอีกหลายโครงการ

หรืออย่างในปี พ.ศ.2558 บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน) ขอจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดพร้อมกันถึงสามโครงการ แต่ละโครงการก็มีจำนวนห้องชุดพักอาศัยมากถึงพันห้าร้อยหน่วย

ซึ่งรวมแล้ว เท่ากับว่า ปีเดียวจดทะเบียนไปไม่มาก แค่ห้าพันหน่วยเท่ากับตำบลหนึ่งๆ เลยทีเดียว

 

ยังมีอีกหลายโครงการที่ไม่ได้เป็นอาคารสูง ไม่ได้อยู่กลางเมือง แต่อยู่ตามชานเมือง เช่น รามคำแหง สุขาภิบาล ศรีนครินทร์ เป็นต้น

เมื่อรวมทั้งโครงการ ที่ประกอบด้วย อาคารหลายหลัง จึงมีจำนวนห้องชุดพักอาศัยมากติดอันดับเช่นกัน

เริ่มจากโครงการ รีเจ้นท์โฮม อยู่ที่บางซ่อน มีห้องชุดพักอาศัยรวม สี่พันหน่วยในสี่อาคาร ในขณะที่โครงการ ลุมพินี คอนโดทาวน์ บดินทร์เดชา รามคำแหง มีมากถึงสิบสี่อาคาร มีห้องชุดพักอาศัยรวมกันถึงสามพันห้าร้อยหน่วย หรือ ยงเจริญ คอมเพล็กซ์ ถนนศรีนครินทร์ มีจำนวนห้องชุดสามพันหน่วยในสิบสามอาคาร

ส่วนโครงการไลฟ์คอมเพล็กซ์ พัฒนาการ มี 2,880 หน่วย ใน 8 อาคาร โครงการบางกอก คานส์ ถนนจรัญสนิทวงศ์ มี 2,700 หน่วย ใน 7 อาคาร

เฉลี่ยแล้วอาคารหลังหนึ่งมีห้องชุดพักอาศัยมากถึง 400 หน่วย

ทั้งนี้ ยังมีโครงการอาคารชุดพักอาศัยของการเคหะแห่งชาติ ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ในชื่อ เคหะชุมชน แบบเก่า เอื้ออาทร แบบใหม่ ประชารัฐแบบใหม่ แบบล่าสุด แต่ละโครงการจะประกอบด้วยอาคารหลายสิบหลัง

ดังนั้น เมื่อรวมจำนวนห้องชุดพักอาศัยในแต่ละโครงการ ก็จะมากถึงระดับพันห้อง อย่างเช่น เคหะชุมชนออเงิน ถนนพหลโยธิน มีทั้งหมด 23 อาคาร มีห้องชุดพักอาศัยรวมสามพันห้าร้อยหน่วย เคหะชุมชนคลองจั่น 1 ถนนสุขาภิบาล 1 มีมากถึง 30 อาคาร จึงมีห้องชุดพักอาศัยมากถึงหกพันหน่วย

เห็นตัวเลขกันแบบนี้ ไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป เรื่องคอนโดมิเนียม ไม่ว่าจะเป็นความสูง จำนวนอาคาร และจำนวนห้องชุดพักอาศัย นั้นมันมากมายจริงๆ

 

ถ้าได้อ่านวิทยานิพนธ์เรื่อง อาคารชุดในกรุงเทพมหานคร : การเปลี่ยนแปลงระหว่างปี พ.ศ.2522-2560 ทั้งเล่มหนาหลายร้อยหน้า นอกจากจะเห็นความตั้งใจของนายอิทธิกฤต ธนกิจสมบัติ ผู้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว

ยังจะต้องตกใจกับข้อมูลอาคารชุดพักอาศัย หรือคอนโดมีเนียม ที่มีอยู่หลายพันหน้า

อย่างน้อย ก็พอจะเข้าใจว่า คอนโดมิเนียมนั้น ไม่เพียงจะเปลี่ยนแปลงภาพบ้านเมืองที่มีอาคารสูงเรียงราย

ยังเปลี่ยนสภาพบ้านเมือง โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบ ทิศทางและพาหนะในการเดินทาง

วิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ใน และผู้คนที่อยู่โดยรอบอาคารชุดพักอาศัย ที่สัญญาว่าจะพาไปมองในโอกาสต่อไป