อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : สาธารณรัฐเกาหลี กับบทบาทในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

“…ประธานาธิบดีมุน แจ อิน (Moon Jae-In) เคยให้คำมั่นว่า จะเดินทางเยือน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ครบตลอดช่วงวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ โดยจะเริ่มต้นเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรกในวันที่ 1 กันยายน มีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน และกระชับความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค รวมถึงกรอบพหุภาคี…”

ในที่สุดประธานาธิบดีมุน แจ อิน แห่งสาธารณรัฐเกาหลีก็ได้เยือนไทย สปป.ลาว และเมียนมา ระหว่างวันที่ 1-7 กันยายนที่ผ่านมา

น่าสนใจว่านี่เป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่สาธารณรัฐเกาหลีมีต่ออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

 

สาธารณรัฐเกาหลีกับไทย

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีมาเยือนไทยเมื่อต้นเดือนกันยายน 2562 เป็นประเทศแรก ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้

อีกทั้งยังนับเป็นประธานาธิบดีเกาหลีที่เยือนไทยในรอบ 7 ปี พร้อมด้วยความตกลงสำคัญถึง 6 ข้อคือ

1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี

2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาเกาหลีระหว่างกระทรวงศึกษาแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี

3. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีว่าด้วยการคุ้มครองข่าวสารทางทหารที่มีชั้นความลับร่วมกัน

4. บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลีและกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อจัดทำความร่วมมืออุตสาหกรรม 4.0

5. ความตกลงว่าด้วยการต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งแห่งสาธารณรัฐเกาหลี

6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในสาขาการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งของสาธารณรัฐเกาหลี

ยิ่งไปกว่านั้น ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลียังนำคณะภาคเอกชนจากสาธารณรัฐเกาหลีจำนวนกว่า 200 คนมาเข้าร่วมงานสัมมนาทางธุรกิจไทย-เกาหลีใต้ อันสัมพันธ์กับการรื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย-เกาหลีใต้ (KOTCOM) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน

โดยจะมีการจัดการประชุมภายในปีนี้

 

สาธารณรัฐเกาหลี
กับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

มีหลายฝ่ายพยายามมองว่าสาธารณรัฐเกาหลีกำลังแสวงหาโอกาส เพิ่มการลงทุนระหว่างกันในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคคือ RCEP

แต่หากมองในภาพรวมแล้วยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณากว้างไปกว่านั้น

จะให้ได้ว่า หากดูในกรณีภาพรวมน่าจะกล่าวได้ว่าสาธารณรัฐเกาหลีมีนโยบาย New South Policy อยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อดูข้อตกลงกับไทย สาธารณรัฐเกาหลีสนใจ การใช้ภาษาเกาหลีอย่างกว้างขวาง ทั้งการลงทุนทางเศรษฐกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านอุตสาหกรรม เรื่องการสร้างเมืองอัจฉริยะ

ที่น่าสนใจคือ ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการทหาร หากย้อนกลับไปดูบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สาธารณรัฐเกาหลีลงทุนในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมากที่สุด

โดยการลงทุนที่เป็นจุดเด่นคือ การลงทุนของบริษัททางด้านโทรคมนาคม บริษัทซัมซุงแห่งสาธารณรัฐเกาหลีลงทุนนิคมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในเขต 10 ของเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ การลงทุนของบริษัทก่อสร้างของเกาหลี

ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลไทยจะเป็นประธานร่วมในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ สมัยพิเศษครั้งที่ 3 (2019 ASEAN-ROK Commemorative Summit) ที่จะจัดขึ้นที่นครปูซาน วันที่ 25-26 เดือนพฤศจิกายน 2562

ดังนั้น การขยายการลงทุนทั้งในประเทศไทยโดยสาธารณรัฐเกาหลีจึงเน้นที่อุตสาหกรรมด้านรถยนต์ โครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน สะพาน อสังหาริมทรัพย์และระบบราง เมืองอัจฉริยะและโทรคมนาคม

แน่นอน ปัจจัยทางแรงงานที่มีทักษะและด้านความรู้ทางภาษาเกาหลีมีความสำคัญที่สอดรับกันไปด้วย

เช่น การจัดตั้งศูนย์ศึกษาภาษาเกาหลีในไทย ส่วนด้านแรงงาน แรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีมานาน ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจจัดส่งแรงงานไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ถึงแม้ว่าจะยังมีปัญหาแรงงานผิดกฎหมายก็ตาม

ในกรณีของเมียนมา การเดินทางของประธานาธิบดีมุน แจ อิน ได้เน้นไปที่การลงทุนร่วมในอุตสาหกรรม (Korea-Myanmar industrial complex) ที่เมือง Heigu มณฑลย่างกุ้ง (Yangon Region)

โดยเริ่มโครงการก่อสร้างเป็น 2 ช่วงคือ 2019-2021 และ ช่วง 2022-2024 เป็นการร่วมทุน (joint venture) The Korea-Myanmar Industrial Complex Development Co. สัดส่วน 40-40-20 ระหว่างกระทรวงก่อสร้างเมียนมา (Myanmar”s Ministry of Construction), the Korea Land and Housing Corporation และ Global Sae-A Co. มูลค่าโครงการ US $ 110 ล้าน

โครงการนี้ประกอบด้วย อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ก่อสร้าง โทรคมนาคมและโรงงานหัตถอุตสาหกรรมต่างๆ1

ทั้งนี้ นักลงทุนเกาหลีเกือบ 200 คนคาดว่าจะลงทุนในการผลิตสินค้าส่งออก

ความจริงแล้ว สาธารณรัฐเกาหลีลงทุนมูลค่า 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในธุรกิจทั้งหมด 177 บริษัทในหัตถอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ภาคบริการและภาคการก่อสร้างในเมียนมา

สาธารณรัฐเกาหลีเป็นหุ้นส่วนทางด้านการค้าและการลงทุนในเมียนมามานานคือ เป็นประเทศลงทุนรายใหญ่อันดับ 6 ในจำนวน 50 ประเทศที่มาลงทุนในเมียนมา

การค้าทวิภาคีของทั้งสองประเทศมีมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สาธารณรัฐเกาหลีให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ได้แก่ Yangon-Dala Bridge project และ Industrial complex project2

ความจริงแล้ว ผมคาดการณ์ว่า ในไม่ช้าจะมีการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีมุน แจ อิน ต่อราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ทั้งนี้ เป็นการเน้นการค้าและการลงทุน พร้อมกับความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือ ACMECS เป็นสำคัญ

สาธารณรัฐเกาหลีมิใช่ประเทศหน้าใหม่ทั้งในแง่สินค้า บริการ การลงทุน อาหารและภาษาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

——————————————————————————————-
(1) Myo PA PA San, “Korea-Myanmar Industrial Complex to begin construction this year” Irrawady 9 September 2019
(2) Ibid.,