เปิดใจ ‘บิ๊กบัว’ 36 ปีผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ คาใจปิดแฟ้มคดี ‘ข่มขืนหญิงชรา’ ไม่ลง

พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) หรือพี่ๆ น้องๆ เรียกติดปาก “บิ๊กบัว” นั้น ปกติจะไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนบ่อยนัก เพราะเป็นผู้ที่ไม่กุมอำนาจอยู่ในมือคนเดียว แต่กระจายงาน มอบหมายแบ่งหน้าที่ให้รอง ผบช.น.กำกับดูแล

จะเห็นว่าบางคดีที่เกิดในเขตกรุงเทพมหานคร “บิ๊กบัว” ไม่ค่อยปรากฏตัว แต่ได้ติดตามกำชับขับเคลื่อนคดีด้วยตัวเองตลอดที่นั่งเก้าอี้ “น.1”

หลังจากนี้อีกเพียงไม่ถึง 4 สัปดาห์ นายตำรวจคนนี้จะเกษียณอายุราชการ ยุติบทบาทชีวิตข้าราชการ 36 ปี มีโอกาสได้ตั้งวงพูดคุยกับ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์กับชีวิตที่รับราชการมาและหลังเกษียณ

ตลอดชีวิตราชการที่มีหัวโขนของนายตำรวจชื่อ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ มีชื่อชั้นด้านสายงานสืบสวน เริ่มปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือ “อีสาน” ครั้งแรก

หลังจากก้าวพ้นจากรั้วโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.) เป็นรองสารวัตรสืบสวนอยู่ที่ สภ.ขอนแก่น และมาเป็นสารวัตรสืบสวนกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม (บก.ภ.จังหวัดนครปฐม) รองผู้กำกับ กองปราบปราม ก่อนขยับมาขึ้นเป็น ผกก.สืบสวน บช.ภ.6 ก่อนโยกเข้ามาอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็น ผกก.สายตรวจ 191 ผบก.สส.ภ.7 สะสมความเป็นตำรวจผ่านมา 6 กองบัญชาการ (บช.) ไล่เรียงมาตั้งแต่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4, 6, 7 และสุดท้ายได้รับความไว้วางใจได้เป็น ผบช.น.

เส้นทางชีวิตหลังเกษียณ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์บอกว่า ยังไม่คิดที่จะทำงานตรงจุดไหน คงกลับไปทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องรถกับครอบครัวที่บ้าน

ส่วนชีวิตอนาคตยังไม่ได้คิดอะไร ยังไม่มีใครมาทาบทามนั่งเป็นที่ปรึกษา

“บิ๊กบัว” ให้แง่คิดการทำงานว่า เมื่อก่อนพี่น้องประชาชนไม่ได้จับตามองตำรวจ แต่ขณะนี้ยุคดิจิตอลสื่อสารเร็วมาก เรื่องเล็กน้อยเป็นเรื่องใหญ่ สังเกตดูได้ ฉะนั้น ถึงต้องกระตุ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มีจิตสำนึกว่าต่อไปนี้จะทำงานอย่างอื่นไม่ได้ จะต้องเป็นแบบอย่าง ไม่ว่างานสอบสวน งานจราจร เพราะพี่น้องประชาชนหวังมาก

เจ้าของรหัส น.1 กล่าวว่า แม้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะเกษียณอายุราชการ พยายามคิดตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป็น ผบช.น.จะแก้ไขในเรื่องการบริการประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ด้วย

ตำรวจต้องรีบแก้ไขปรับปรุงการบริการประชาชนบน สน. (สถานี) คือเขาได้รับความเดือดร้อนมา มาร้องให้ตำรวจช่วยเหลือ ฉะนั้น ตำรวจควรช่วยเหลือตามสถานะ ตามบทบาทของตนเอง ไม่ใช่ปัดไปเรื่อย นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด

“คือตำรวจบน สน.ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด คนที่มา สน. ถ้าเขาไม่ได้รับความเดือดร้อนเขาไม่มาหรอก หรือเขาได้รับความเดือดร้อนเราต้องดูแลและเยียวยาเขาให้มากที่สุด เกิดเหตุก็ไปดูแลเขา ไปติดตามจับกุมคนร้าย หรือเขาร้องใครโกงเขาก็พยายามทำ นอกเสียจากมันไม่ผิดจริงๆ นี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุด ตำรวจ ณ เวลานี้ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรหรอก แก้ไขการบริการประชาชนให้ดีโดยเฉพาะบน สน.” บิ๊กบัวบอก

สําหรับปัญหาการจราจร น.1 บอกอีกว่า “ตำรวจจราจรจะจับกุมตาม พ.ร.บ.จราจร หรือความผิดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องจราจร ถ้าผิดจริงก็ไม่เป็นไร แต่พอถึงเวลาเรียกโน่นแล้ว ไอ้นี่ไม่ผิด ไอ้นั่นไม่ผิด หาทางเอาผิดให้ได้ ตรงนี้สำคัญ อกเขาอกเรา ใครก็รับไม่ได้ เขาจะพูดมาเราแก้ไขเท่านั้นเอง แต่ยังไงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตำรวจเสียหาย มองดูถ้าแก้ไขสองอย่างนี้ได้ มันจะทำให้บทบาทของตำรวจเราดีขึ้น สังคมตำรวจดีขึ้น ฉะนั้น ตำรวจต้องมีจิตสำนึกที่จะให้บริการ” บิ๊กบัวบอก

พล.ต.ท.สุทธิพงษ์กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ตลอดการทำงาน 36 ปีการรับราชการ ตั้งใจทำเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้ปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน มีความประทับใจการเป็นตำรวจและอาชีพตำรวจทุกนาทีที่ได้ขับเคลื่อน ตั้งแต่รับราชการมา น้อยมากที่จะลาราชการ ในฐานะผู้รักษากฎหมายมีหน้าที่คุ้มครองคนดี ป้องปรามคนชั่ว ทำให้บ้านเมืองสงบ

ฉะนั้น หลักการทำงานจึงยึดบังคับใช้กฎหมายเป็นธรรม เสมอภาค ไม่กลั่นแกล้ง รังแก เอาเปรียบ และพวกที่ก่อกรรมทำเข็ญกับพี่น้องประชาชน ยิ่งเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีถ้าตำรวจไปทำความผิดเสียเอง ไม่สบายใจเลย

ในฐานะ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์เป็นผู้คร่ำหวอดด้านงานนักสืบกับงานสืบสวน ได้ฝากแง่คิดถึงนักสืบรุ่นใหม่ว่า ปกติคดีเกิดแล้ว น้องๆ ก็พยายามหรือหน่วยพยายามเร่งดำเนินการสืบสวนติดตามจับกุม นอกเสียจากว่าร้อยเวรไม่ได้แจ้ง หรือผู้เสียหายมาแจ้งความ พนักงานสอบสวนรับไว้โดยไม่ได้บอกผู้บังคับบัญชา นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ส่วนจะทำได้ทุกคดีหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันคงเป็นไปได้ยาก ประสบการณ์ถือเรื่องสำคัญของนักสืบ ทำให้มากที่สุด พยายามใส่ใจในหน้าที่การงาน อยู่ที่ความตั้งใจที่จะศึกษาไว้ว่างานในตำแหน่งหน้าที่ใด พยายามใส่ใจให้ดีที่สุด “อย่ารังแกชาวบ้าน”

โลกเปลี่ยนไปในยุค 4 จี ดิจิตอล วิธีคิดนักสืบต้องเปลี่ยน ต้องใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาเยอะๆ ต่อไปทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นนิติวิทยาศาสตร์ จับต้องได้ ผู้ต้องหาไม่ปฏิเสธ

“บิ๊กบัว” บอกตลอดการทำงานมา 36 ปี ก่อนจะเกษียณอายุราชการ ยังมีคดีเดียวที่ยังค้างคาใจตั้งแต่รับราชการตำรวจมา คดีเดียวขยายความว่า คดีที่คนร้ายข่มขืนหญิงชราในหลายอำเภอของจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ที่ก่อเหตุต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553-2558 รวม 10 คดี มีหญิงชราเสียชีวิต 2 ราย มันเป็นเรื่องที่แปลก ส่วนตัวก็แปลกใจ ประสานกับนิติวิทยาศาสตร์ เก็บหลักฐานตัวอย่างดีเอ็นเอคนร้ายจากผู้เสียหาย

จากวันนั้นถึงวันนี้คดีนี้ไม่เกิดขึ้นอีกเลย หลังเอาตำรวจปูพรมอย่างจริงจัง เมื่อพยานยืนยันว่าคนร้ายที่ก่อเหตุสำเนียงคนไทยแน่ชัด จะหนีออกนอกประเทศหรือเสียชีวิตไปแล้ว

จึงถือเป็นปริศนาที่ยังท้าทายชีวิตนักสืบอย่าง พล.ต.ท.สุทธิพงษ์บนเส้นทางผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ 36 ปี