ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับสั่งจำคุก’ชาญชัย อิสระเสนารักษ์’ 16 เดือนหมิ่น “คิงเพาเวอร์”

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.1567/2560 ที่บริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวกรวม 3 คน (กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นจำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

โจทก์ฟ้องระบุกรณีที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยเผยแพร่ข้อความให้ร้าย กลั่นแกล้งโจทก์ ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และมีผลกระทบต่อธุรกิจของโจทก์หลายประเด็น อาทิ กล่าวหาโครงการเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของโจทก์มีมูลค่าเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ดำเนินการ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535, กล่าวหาบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และโจทก์ ไม่ได้ดำเนินการเชื่อมต่อระบบข้อมูลการซื้อขายสินค้าแบบเรียลไทม์e หรือที่เรียกว่าระบบ Point of Sale (POS) ตามสัญญา ทำให้เกิดล่าช้ามานานถึง 9 ปี รวมทั้งกล่าวหาโจทก์จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท. ไม่ครบถ้วน ตามสัญญาบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ ทำให้ ทอท. ขาดรายได้ เป็นต้น การกระทำของจำเลยอาจถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 393, 90 และ 332 (2)

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2561 โดยเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ศึกษา ตรวจสอบ และจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่เรื่องที่แต่งเติมขึ้นมาใส่ร้ายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม

วันเดียวกันนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า จำเลยในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการฯ มีอำนาจหน้าที่เพียงศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเท่านั้น ห้ามมิให้อนุกรรมาธิการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสามได้รับสัมปทานในสนามบินโดยมิชอบ มีการทุจริตและกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ หาใช่จำเลยไม่ และไม่ปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินคดีต่อโจทก์ทั้งสาม โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติยกคำร้องกรณีที่มีการกล่าวหา การกระทำของจำเลยมีลักษณะจงใจกลั่นแกล้งให้ร้ายโจทก์ทั้งสาม มิใช่การแสดงความเห็นโดยสุจริต จึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 393 รวม 2 กระทง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 328 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุกกระทงละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 16 เดือน กับให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มของศาลในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด มติชน เดอะเนชั่น สยามรัฐ และคมชัดลึก เป็นเวลา 15 วัน ให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลอนุญาตให้นายชาญชัยได้ประกันตัวไป ด้วยหลักทรัพย์เดิม 5 หมื่นบาท และเพิ่มอีก 1 หมื่นบาท เพื่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

ขณะที่นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ โจทก์ กล่าวว่า ในการสืบพยาน โจทก์ได้อ้างส่งพยานเอกสารของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ศาลเห็นว่าโจทก์, ทอท. กรมศุลกากร, กรมสรรพากร, รายงานการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สปท. ซึ่งมีจำเลยร่วมอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่ากลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์, ผู้บริหาร ทอท. และหน่วยงานต่างๆ มีมาตรการในการจัดเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐ กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ไม่ได้หลีกเลี่ยงการส่งผลประโยชน์ให้แก่รัฐตามที่จำเลยแถลงข่าวต่อเนื่องตลอดมา ขอขอบคุณศาลอุทธรณ์ที่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและเอกสารโดยละเอียดครบถ้วน ให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะเป็นขวัญกำลังใจให้กับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่นำส่งผลประโยชน์เข้ารัฐตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประเทศ