วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์ /ช้อปปิ้งมอลล์ : ผู้ร้ายของสเตรนเจอร์ธิงส์ (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ช้อปปิ้งมอลล์

: ผู้ร้ายของสเตรนเจอร์ธิงส์ (จบ)

หลังสงครามโลกครั้งที่สองหรือในยุคสงครามเย็น นอกจากสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นผู้นำโลกเสรีในการต่อสู้กับระบบคอมมิวนิสต์แล้ว ยังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมทุนนิยมอย่างเต็มที่

ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในประเทศคือเน้นการสร้างถนนสายสำคัญๆ เพื่อเชื่อมรัฐ เมืองใหญ่และหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และเน้นเสรีภาพในการเดินทางหรือความเป็นสังคม mobility อย่างเต็มที่ นโยบายนี้คือการล้มเลิกคู่ขัดแย้งเก่า เช่น เมืองกับชนบท กลายเป็นเมืองกับชานเมือง และทำให้การลงทุนหันเหไปสู่ Suburb Area หรือชานเมือง

การวางผังเมืองถูกปรับเปลี่ยน เมืองกลายเป็นที่ตั้งของออฟฟิศต่างๆ และชานเมืองกลายเป็นที่อยู่ของพลเมืองอเมริกันจำนวนมาก หมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกอย่างเลวิตต์ทาวน์เกิดขึ้นและแพร่กระจายไปทั่วประเทศ

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่งบประมาณของรัฐจำนวนมากถูกนำมาใช้เพื่อการสร้างถนนและบ้านจัดสรร และพร้อมกับการที่คนจำนวนมากพากันซื้อรถยนต์และอพยพออกนอกเมือง การมีบ้านและสนามหญ้าเป็นของตัวเองและขับรถมาทำงานในเมืองบูมขึ้นมา

ช้อปปิ้งมอลล์ถือกำเนิดขึ้นเพราะการขยายตัวของเมืองและประชากรในลักษณะนี้ มันถูกสร้างเป็นแหล่งชุมชนซึ่งคนสามารถขับรถไปซื้อของรวมทั้งมีกิจกรรมร่วมกันและกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งหนึ่งในวงการสถาปัตยกรรม มันไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เป็นผลของการวางแผนที่เชื่อว่าคนในชานเมืองเหล่านี้ต้องการสถานที่สำหรับใช้ชีวิตทางสังคม ในหนังจะแสดงว่ามอลล์บรรลุภารกิจที่ว่า

มอลล์ทำให้ทุนขนาดกลางและใหญ่ขยายตัว สหรัฐอเมริกากลายเป็นสังคม “บริโภคนิยม” อย่างเต็มที่ การซื้อหรือการครอบครองของประชาชนเป็นวินัยที่คนพยายามปฏิบัติ

แต่หนังไม่ลืมบอกว่าการที่คนจะบริโภคหรือไม่นั้นก็เป็นทางเลือกของเขา เมื่อมีโอกาสเลือกได้อย่างเสรี ก็พยายามแสวงหาความหมายและมีความสุข ขณะที่มอลล์ใหญ่โตและมีที่จอดรถมากขึ้น วัยรุ่นและคนอีกหลายวัยก็มีความบริโภคนิยมมากขึ้นด้วย

 

ผ่านมาอีกราวห้าสิบปี บริโภคนิยมที่มอลล์สร้างขึ้นจึงถูกมองว่ากำลังคุกคามร้านเล็กๆ มีผลต่อสภาพจราจร และทำอันตรายต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ที่สำคัญ ต่างจากคู่แข่งในอดีต ซึ่งเป็นร้านค้าหรือห้างในเมือง คู่แข่งปัจจุบันเป็นธุรกิจออนไลน์ ซึ่งหมายถึงไลฟ์สไตล์หรือวิถีการบริโภคแบบใหม่ ทั้งหมดนี้ทำให้มอลล์ในอเมริกาเข้าสู่ยุคอวสาน การปิดตัวของมอลล์ใหญ่ๆ เช่น วอลมาร์ท เบสท์บาย และเมซีส์ เกิดขึ้นทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า ปิดไปกว่าพันแห่งหรือหายไปราวหนึ่งในสามของที่เคยมีอยู่ อาคารขนาดยักษ์จำนวนมากเหล่านี้กลายเป็นตึกร้าง

มอลล์กลายเป็น Dead Mall

การปิดตัวของช้อปปิ้งมอลล์ในอเมริกานั้นอธิบายได้ : ร้านค้าที่ซื้อมาขายไปหรือมีบทบาทเป็น “ตัวกลาง” นั้นเสื่อมลง เพราะธุรกิจออนไลน์ของทุนขนาดใหญ่ทำให้สินค้าเดินทางถึงผู้บริโภคทันที โรงงานหรือผู้ผลิตจึงตัดตัวกลางออกไป และเริ่มมีพลังมากขึ้นทั้งในแง่ของแพลตฟอร์ม ระบบโลจิสติกส์และระบบการชำระเงิน

เสน่ห์ของการทำกิจกรรมร่วมกันก็หมดไป คนเดินซื้อสินค้าน้อยลงเพราะซื้อทางออนไลน์ดีกว่า

มอลล์หลายแห่งมีการปรับตัว เช่น เลิกร้านค้าและเปลี่ยนเป็นร้านอาหาร รวมทั้งเปลี่ยนตลาดเป็นที่ทำงานของคนทั่วไป แพทย์ สปา และศาสนาต่างๆ มากขึ้น

Dead Mall กลายเป็นสัญลักษณ์แสดงความเสื่อมของสังคมหรือตัวแทนของทุนนิยมที่พังแล้วของอเมริกา สตาร์คอร์ตมอลล์จึงเป็นอุปลักษณ์ที่เหมาะสม เพราะมีความสว่างสดใสเพียงข้างบน แต่มีความดำมืดและชั่วร้ายอยู่ใต้ดิน ส่วนการเอาโซเวียตมาเป็นผู้ร้ายที่สร้างสตาร์คอร์ตก็เพื่อล้อเลียนการสร้างภาพให้โซเวียตเป็นปีศาจร้ายในยุคสงครามเย็น

หนังจะใช้สินค้าต่างๆ เช่น เสื้อผ้าแบรนด์เนมและฮอตด็อกเสียบไม้ ร้านต่างๆ เช่น Burger King, Aquanetted teens, Waldenbooks และ Chess Kings ก็เหมือนกัน แม้จะล้าสมัยแล้ว แต่เป็นตัวแทนหรือภาพจำลองของเศรษฐกิจยุคประธานาธิบดีเรแกนได้ดี

นอกจากนั้น การมีฉากร้านเล็กๆ ที่กำลังล้มละลาย รวมทั้งร้านวิดีโอ สำนักงานหนังสือพิมพ์ และเรดิโอแช็ก ช่วยตอกย้ำว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนถูกมอลล์ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมของเมืองเล็กจำนวนมากในอเมริกากำลังคุกคาม

ที่สำคัญ มอลล์เป็นสถานที่ที่หนังอิงหนังได้แสดงบทบาทเต็มที่ ผู้กำกับหนังซีรี่ส์ชุดนี้ขอยืมฉากต่างๆ จากสตีเว่น สปิลเบิร์ก, จอห์น คาร์เพนเตอร์, เดวิด โครเนนเบิร์ก และเวส คราเวน ฯลฯ และอีกหลายเรื่องที่เป็นมรดกวัฒนธรรมมอลล์ เช่น Back to the Future (ที่มีผู้ก่อการร้ายชาวลิเบีย), Terminator2, Rambo 3, Fast Times at Ridgemont High (ที่มีรูปของ Phoebe Cates), Mallrats และ Clueless

เหนือหนังเรื่องอื่นใดคือ Dawn of the Dead ของจอร์จ โรมูโร ซึ่งมีแต่ซอมบี้และผู้คนที่ดุร้าย แต่ฉากหลังเป็นความใสสะอาดของมอลล์ซึ่งคอนทราสต์กันดี

 

ในแง่เรื่องเล่าเกี่ยวกับซับเบิบ พี่น้องดัฟเฟอร์ ผู้กำกับหนังซีรี่ส์ชุดนี้ไม่ได้ปกปิดเลยว่าได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนของเรย์ แบรดบิวรี่ และสตีเฟ่น คิง (ตัวพิมพ์ Galliard ในชื่อและไตเติลหนังมาจากปกนิยายเรื่อง Firestarter ของคิง) นั่นคือ วางความสยดสยองไว้เคียงคู่กับความ nostalgia หรืออาลัยอดีต และใช้ช้อปปิ้งมอลล์เป็นสัญลักษณ์ของความสูญเสีย

นั่นคือสร้างความรู้สึกเศร้าได้โดยไม่ทำให้หวานจนเกินไป

สเตรนเจอร์ธิงส์ ซีซั่นสามจะเผยว่า การมองว่ามอลล์คืออนาคต เป็นเพียงภาพลวงตา

สุดท้าย สตาร์คอร์ตจึงถูกเผาจนราบ