การศึกษา / ประเมิน 1 เดือน รมต. ‘ศธ.-อว.’ ใครส่อแวว ‘รุ่ง’ หรือ ‘ร่วง’??

การศึกษา

 

ประเมิน 1 เดือน รมต. ‘ศธ.-อว.’

ใครส่อแวว ‘รุ่ง’ หรือ ‘ร่วง’??

 

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เจ้ากระทรวงวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ขณะที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว.

ผ่านมา 1 เดือนกว่า คนแวดวงการศึกษาพอจะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์บ้างไหม??

นักวิชาการส่วนหนึ่งผิดหวัง เพราะรัฐมนตรีไม่ได้หยิบยกปัญหาที่สำคัญมาจัดการ ขณะที่ปัญหาใหญ่ของการศึกษาไม่ได้รับความสนใจ แถมยังติดกับดักระบบราชการ

ติดกำกับข้าราชการประจำและงานรูทีน

 

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา ฉายภาพได้อย่างน่าสนใจว่า ตั้งแต่รัฐประหาร มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และมาเป็นคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่ได้ศึกษาปัญหาการศึกษาไว้มากมาย แต่พอมีรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง กลับไม่ได้เอามาใช้

ปัญหาใหญ่ ได้แก่ โครงสร้างที่ไม่เป็นเอกภาพ การทำงานไม่สัมพันธ์กัน เพราะต่างก็เป็นซี 11 เหมือนกัน มีการแก้ไขด้วยการสร้างเขตพื้นที่ฯ เกิดระบบอุปถัมภ์ จนมาตั้งศึกษาธิการจังหวัดทับซ้อนไปอีก

ไม่กระจายอำนาจให้โรงเรียน ได้แต่ชื่อว่าเป็นนิติบุคคล แต่ในทางปฏิบัติโรงเรียนยังต้องขึ้นกับเขตพื้นที่ฯ

ปัญหาครูทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โรงเรียนขาดครูแค่ 6,000 โรง แต่ครูเกินมีถึง 12,000 โรง จะเกลี่ยอย่างไร และครูทั้งระบบมีถึง 4 แสนคน เกณฑ์การทำวิทยฐานะ ส่งผลให้ครูทิ้งห้องเรียน จึงเปลี่ยนมาเป็นคูปองพัฒนาครู แต่เกิดปัญหาเงินทอน ภาคเอกชนทำหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน

ขณะที่เมื่อมาดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่แถลงและให้สัมภาษณ์ ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

นายณัฏฐพลพูดว่าจะเปลี่ยนครูผู้สอนมาเป็นโค้ช เราปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ปี 2542 เปลี่ยนบทบาทครูจากผู้ถ่ายทอดมาเป็นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ก็ไม่สำเร็จ

แล้วคุณหญิงกัลยาก็มาส่งเสริมเรื่องโค้ดดิ้ง จริงๆ แล้วควรต้องศึกษาให้ชัดเจน เพราะได้มีการเปลี่ยนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีไปอยู่กับวิทยาศาสตร์และเพิ่มเรื่องโค้ดดิ้ง โดยนำร่องในปี 2561-2562 ไปแล้ว จะขยายผลทั่วประเทศในปี 2563

รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.จึงควรไปดูว่าที่ทำอยู่ มีปัญหาอย่างไรหรือไม่

“นายณัฏฐพลระบุว่าจะจัดตั้งอีลิทสคูลเพื่อปั้นคนเก่ง โรงเรียนขนาดเล็กยังไม่ได้รับการแก้ไข ไปสร้างอีลิทสคูลอีก นอกจากไม่แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำด้วย ส่วนเรื่องให้ครูทุกคนใช้ภาษาอังกฤษใน 3 ปี มีปัญหาในทางปฏิบัติแน่ เพราะ ศธ. 4 แสนคนมีความหลากหลายมาก จะกระทบขวัญกำลังใจและงบประมาณ ผมเห็นด้วยที่คุณหญิงกัลยาจะดูแลและพัฒนาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ประเทศ เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันไม่มีคนเรียนและยังไม่ตอบโจทย์ประเทศ ขณะที่นางกนกวรรณยังไม่มีอะไรโดดเด่น แต่ที่น่าห่วงใยคือการให้สัมภาษณ์เรื่องหลักสูตรกัญชาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าให้คะแนนเต็ม 10 ผมให้นายณัฏฐพล 4 คะแนน นางกนกวรรณ 4 คะแนน และคุณหญิงกัลยา 5 คะแนน”

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ระบุ

 

ส่วนนายสุวิทย์มีนโยบาย 4 มิติ คือ

  1. สร้างและพัฒนาคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21
  2. สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ ขับเคลื่อนวาระวิจัยเพื่อตอบโจทย์ประเทศ
  3. สร้างและพัฒนานวัตกรรม

และ 4. ปฏิรูปการอุดมศึกษา

นโยบายดีและน่าสนใจ แต่ในทางปฏิบัติไม่แน่ใจ โดยเฉพาะเรื่องการผลักดันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดลให้ติด 100 อันดับโลก น่ากังวลว่าจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ

จะให้คนไทยสร้างนวัตกรรม ต้องสร้างนิสัยคนไทย เริ่มที่ทำอย่างไรให้คนไทยรู้จักคิด เมื่อมีความคิดสร้างสรรค์ ถึงจะสร้างนวัตกรรมได้ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เริ่มต้นจากก๊อบปี้ไปสู่การสร้างนวัตกรรมเอง แต่คนไทยทั้งไม่คิด ไม่ลงมือทำ เอาแต่ซื้ออย่างเดียว

การเรียนออนไลน์ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะคนไทยขาดวินัยและความรับผิดชอบ ศธ.และ อว.ควรมุ่งสร้างนิสัยคนไทยใหม่ก่อน

อีกประเด็น แม้การจัดการศึกษาจะอยู่คนละกระทรวง แต่ต้องมีความเชื่อมโยงในการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ

ในส่วนของนายสุวิทย์ จึงให้ 6 คะแนน

 

นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ระบุว่า รัฐมนตรี ศธ.ชุดนี้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่กว่าเดือนแล้ว แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้ยินอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่เรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องที่ออกมาจากรัฐมนตรีช่วยบ้าง หรือการตอบคำถามของรัฐมนตรีในลักษณะที่ต้องรอฟังจากหน่วยงานในกำกับก่อนบ้าง

ซึ่งที่สุดการดำเนินการของกระทรวงนี้จะเป็นการขับเคลื่อนโดยข้าราชการประจำอีกเช่นเคย

โดยการผลักดันเชิงนโยบายจากระดับรัฐมนตรีจะมีน้อยมาก หรือถ้ามีอย่างที่ปรากฏอยู่ ก็คงจะเป็นการทำงานเป็นชิ้นๆ โดยไม่ได้มุ่งไปสู่การแก้ปัญหาเชิงระบบ สาเหตุอาจเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่ตระหนักถึงเนื้อแท้และความสำคัญของปัญหาของการศึกษาของชาติ ที่สำคัญกว่านั้นคือ อาจไม่ตระหนักถึงความเสียหายที่จะมีต่อประเทศชาติ หากเรายังปล่อยให้การศึกษาอ่อนแออยู่อย่างนี้

การแก้ไข ต้องการทั้งมาตรการระยะยาวและระยะสั้น ระยะสั้นก็เช่น ความเสียหายบางอย่างที่เกิดขึ้นมาในรัฐบาลชุดที่แล้ว จะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เช่น คำสั่งลดเวลาเรียนลงเหลือครึ่งหนึ่งในขณะที่หลักสูตรการศึกษายังกำหนดเนื้อหามากกว่าเวลาที่ถูกสั่งให้ลดลงถึงสองเท่าตัว เรื่องนี้ได้สร้างความปั่นป่วนให้แก่การจัดการศึกษาทั่วประเทศ

โดยสรุป สิ่งที่จำเป็นต้องทำสำหรับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ เร่งปรับหลักสูตรโดยเร็ว และเมื่อปรับหลักสูตรแล้ว จะทำอย่างไรจึงจะทำให้หลักสูตรใหม่นั้นเกิดผลได้ทั่วถึงทั้งระบบการศึกษา แต่ปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างที่มีการรวมศูนย์อำนาจ มาเป็นการกระจายอำนาจ ยิ่งโรงเรียนมีความเป็นอิสระมากเท่าไร ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาก็จะยิ่งสูงมากขึ้น ส่วนอุดมศึกษานั้น ภาพที่ปรากฏขณะนี้ เหมือนเป็นการจากกันแบบต่างคนต่างไป มองว่ายังต้องทำงานที่สอดประสานกันระหว่างกระทรวงทั้งสองอย่างใกล้ชิด

“การที่รัฐมนตรีประกาศว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยไทยเข้าสู่ 100 อันดับแรกของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลกนั้น เป็นคำประกาศที่กล้าหาญ และเชื่อว่า ถ้าประเทศไทยไม่กล้าประกาศอย่างนั้น เราก็คงไม่สามารถพัฒนาไปได้ถึงไหน แต่ก็เชื่อว่ารัฐมนตรีคงต้องเหนื่อยมาก เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของไทยอยู่ถึงอันดับต่ำกว่า 200 อย่างมาก ฉะนั้น อาจต้องอาศัยการพัฒนาอย่างมียุทธศาสตร์”

นายภาวิชระบุ

 

ด้าน น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวถึงโรงเรียนอีลิทว่า การสร้างโรงเรียนเฉพาะทางเพื่อเด็กที่มีความสามารถพิเศษ น่าจะยังมีอยู่

แต่คำถามคือการจัดลำดับความสำคัญว่าตอนนี้ควรทุ่มให้เด็กกลุ่มนี้หรือควรไปดูโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 18,000 แห่ง ที่กำลังจะกระทบชีวิตเด็ก 1.2 ล้านคนทั่วประเทศมากกว่า

ไม่ได้หมายความว่าทำเรื่องโรงเรียนอีลิทแล้วจะทำเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้ แต่คำถามคือควรให้ความสำคัญกับอะไร การตั้งโรงเรียนอีลิทจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแน่นอน หากไม่แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก

การศึกษามีความสำคัญต่อประเทศ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างไร

หรือจะเป็นอย่างที่นักวิชาการว่าไว้ เป็นแค่ความหวังลมๆ แล้งๆ??