สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/ฤๅษีผสมแล้ว ไม้ดอกไม้ยา

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ฤๅษีผสมแล้ว ไม้ดอกไม้ยา

 

ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตั้งชื่อต้นไม้ได้แปลกและทำให้นึกภาพตามไปได้อย่างดี

ลองนึกดูตามชื่อว่า ฤๅษีผสมแล้ว เรานึกจินตนาการเป็นอย่างไร

ขอชวนมารู้จักพืชสมุนไพรต้นนี้ร่วมกัน

ฤๅษีผสมแล้ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันว่า Plectranthus scutellarioides (L.) R.Br. (ในอดีตไม่ได้จัดให้ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์นี้) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า coleus และแน่นอนมีชื่อภาษาไทยว่า ฤๅษีผสมแล้ว ซึ่งไม่รู้ใครเป็นคนตั้งชื่อ

ฤๅษีผสมแล้วมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน หรือสอบเรียว ขอบใบหยักเว้า แผ่นใบมักหยิกย่น มีลวดลายและสีต่างกันตามพันธุ์ มีขนดอกมีสีขาวอมม่วงถึงม่วง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งขึ้น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรตัวผู้ 2 คู่ยาวไม่เท่ากันผลแห้งมีขนาดเล็กมาก ออกดอกและผลตลอดปี

ผลมีเปลือกแข็ง มีเมล็ดเดียว

 

ฤๅษีผสมแล้ว เป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกับเนียมหูเสือ อยู่วงศ์ Lamiaceae ซึ่งฤๅษีผสมแล้วที่มาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมนั้น ใบมีสีเขียวหรือมีสีที่ไม่ฉูดฉาดนัก มีอายุประมาณ 2 ปี ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา จีน เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียและออสเตรเลีย เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,600 เมตร

แต่ต้นไม้ในป่าเขานี้ได้รับการค้นพบและมีนักตกแต่งสวนชาวดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์นำเข้าไปในยุโรป ตั้งแต่ปี พ.ศ.2394 ซึ่งนำสายพันธุ์ไปจากชวา

ตอนที่นำไปดินแดนยุโรปใหม่ๆ นั้น สายพันธุ์ดั้งเดิมมีสีเพียงไม่กี่สีและรูปร่างเป็นแบบใบไม้ธรรมดา

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2410 นักปรับปรุงพันธุ์ทำการคัดพันธุ์ จนกระทั่งเกิดต้นฤๅษีผสมที่มีสีหลากหลายและมีรูปแบบของใบที่แตกต่างกันจำนวนมาก

นี่อาจจะเป็นที่มาของชื่อเรียกไทยๆ ของพืชชนิดนี้ว่า ฤๅษีผสมแล้ว

 

หลังจากการปรับปรุงสายพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์ขึ้นแล้ว พบว่าต้นที่พัฒนาใหม่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง

ในปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ของฤๅษีผสมแล้วมาโดยตลอด ขณะนี้มีมากถึง 10 กลุ่มสายพันธุ์ที่มีความสำคัญในตลาดไม้ดอกไม้ประดับของประเทศสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากรูปร่างของต้นและสีที่แตกต่างกันอย่างมากมาย ซึ่งเป็นที่ถูกใจของชาวตะวันตกมาก เมื่อพัฒนาสายพันธุ์ได้มากมายการจัดฤๅษีผสมแล้วในทางวิชาการจึงจัดให้อยู่ในสกุลพืชที่แตกต่างกันหลายสกุล และทำให้มีชื่อที่เป็นชื่อพ้องจำนวนมาก

เช่น การจัดให้อยู่ในสกุลเดียวกับโหระพา (Ocimum) มาจนถึงสกุล Coleus แล้วในที่สุดเปลี่ยนมาเป็นสกุล Plectranthus

สำหรับสายพันธุ์ป่าหรือสายพันธุ์เดิมนั้น เป็นพืชที่มีการลงหัว ส่วนของหัวนำมากินเป็นอาหารได้ ส่วนของใบก็นำมากินเป็นผักสดได้เช่นกัน หรือนำมากินร่วมกับขนมปังและเนย ในบางชุมชนมีการนำมาขูดใส่ลงในเบียร์ท้องถิ่นด้วย

ในด้านสรรพคุณสมุนไพร ฤๅษีผสมแล้วนำมาใช้ดูแลสุขภาพ เช่น แก้อาการอาหารไม่ย่อย แก้อาการเยื่อบุตาอักเสบ ปวดหัว ฟกช้ำ

ในบางชุมชนใช้เป็นยาทำให้แท้งและเป็นยาถ่ายพยาธิด้วย ในส่วนของรากใช้เป็นแก้บิดและแก้อาการเด็กทารกร้องไห้ตลอด 3 เดือน ส่วนของใบใช้เป็นยาขับพยาธิ ยาช่วยย่อยและยาช่วยกดประสาท นอกจากนี้ยังใช้เป็นยารักษากระเพาะปัสสาวะและตับทำงานผิดปกติ

สายพันธุ์ป่าที่มีใบสีม่วงดำ ใบและต้นอ่อนสามารถมาคั้นเอาน้ำดื่มแต่ต้องระวังเพราะทำให้แท้ง

แต่ถ้าใช้ให้ถูกต้องสามารถใช้เพื่อการขับรกของสตรีหลังคลอดบุตรได้

นอกจากนี้ใช้เป็นยาพอกภายนอกเพื่อรักษาอาการบวมตามที่ต่างๆ และพอกแผลที่เกิดจากฝีดาษ ไข้ทรพิษ ใบอ่อนนำไปย่าง แล้วบีบเอาแต่น้ำใส่บาดแผล ได้ทั้งแผลสดและแผลที่เป็นหนองแล้ว

น้ำคั้นจากต้นหรือทั้งต้นนำไปต้มดื่ม ใช้เป็นยาขับระดู รักษาริดสีดวงทวาร ตาอักเสบและเป็นหนอง

 

ในตำรายาไทยมีการใช้ฤๅษีผสมแล้ว (น่าจะเป็นการใช้พันธุ์พื้นเมือง) เป็นส่วนประกอบของตัวยาเช่นกัน ซึ่งปรากฏเห็นในตำรับยาของวัดโพธิ์ โดยใช้ชื่อว่า “สีสมแล้ว” เข้ายาแก้มุศกายะ ธาตุตานโจร (ไข้เป็นบางเวลา มือและเท้าเย็น หอบ ลิ้นกระด้าง คางแข็ง) และแก้โรคฟกบวมในหูทั้ง 2 ข้าง จนเป็นหนองไหล มีกลิ่นเหม็นเน่า

ฤๅษีผสมแล้วที่เป็นสายพันธุ์ป่าที่มีใบสีม่วงดำ ยังมีการนำใบมาคั้นน้ำแล้วใช้น้ำในการสักตามตัวด้วย และก็ยังนิยมนำสายพันธุ์ป่ามาปลูกเป็นไม้ประดับหรือใช้ตกแต่งสวนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารบางชิ้นกล่าวถึงพืชอีกชนิดหนึ่งว่า มีชื่อท้องถิ่นว่า ฤๅษีผสมแล้ว แต่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hemigraphis alternata (Burm.f.) T.Anderson โดยทั่วไปพืชชนิดนี้มักเรียกกันว่า ดาดตะกั่ว ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นคู่ๆ ไปตามข้อลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย หลังใบเป็นสีเขียว แต่ถ้าถูกแดดจัดๆ จะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมเขียว หรือเมื่อถูกแสงแดดจะเห็นเป็นประกาย

ดาดตะกั่วใช้เป็นสมุนไพรได้เช่นกัน ต้นใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนัง ในประเทศมาเลเซียใช้ต้นนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ตกเลือด ใบใช้เป็นยาแก้บิด แก้ริดสีดวงทวาร และใช้ขับปัสสาวะ แก้โรคนิ่วได้ ซึ่งน่าจะมาจากใบมีสาร Potassium salt อยู่มาก จึงเป็นตัวช่วยในการขับปัสสาวะได้ดี

สมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ในบางท้องที่จึงเรียกชื่อเหมือนกันว่าฤๅษีผสมแล้ว แต่ในการนำมาใช้ปรุงยาตามตำรับดั้งเดิม จะต้องรู้จักใช้ให้ถูกต้น

และอาจทำการศึกษาวิจัยให้แน่ชัดว่าควรใช้พืชชนิดไหนให้ถูกต้องกับตำรับยาต่อไป