แมลงวันในไร่ส้ม /เขย่า ‘เรือแป๊ะภาค 2’ มรสุมทวง ‘เก้าอี้’ กม.ดีไซน์เองส่อทำพิษ

แมลงวันในไร่ส้ม

เขย่า ‘เรือแป๊ะภาค 2’

มรสุมทวง ‘เก้าอี้’

กม.ดีไซน์เองส่อทำพิษ

 

ผ่านไป 2 เดือนเศษ ล่วงเข้าเดือนที่สาม นับจาก 24 มีนาคม ที่มีการเลือกตั้ง

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังอยู่ในระหว่างจัดตั้งรัฐบาล โดยมีข่าวการช่วงชิงเก้าอี้แพร่กระจายออกมาเป็นระยะ

พรรคร่วมรัฐบาลหลักๆ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ประชุมสรุปรายชื่อและส่งให้นายกรัฐมนตรีแล้ว

แต่ของพรรคแกนนำ คือพลังประชารัฐ หรือ พปชร.เองยังไม่ลงตัว ยังต่อรองต่อสู้กันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพรรค

สื่อหนังสือพิมพ์และข่าวออนไลน์เริ่มเปิดชื่อนักการเมืองที่ได้รับการวางตัวเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลายระลอกด้วยกัน

กระแสตอบรับไม่ดีนัก และน่าเป็นห่วงในระยะยาว

ซ้ำยังเกิดปัญหาขึ้นมาอีก เมื่อเกิดกระแสทวงถามตำแหน่งรัฐมนตรีจากกลุ่ม ส.ส.อีสานและ ส.ส.ใต้ของ พปชร.เอง

รวมถึงพรรคเล็กที่แกนนำ พปชร.ไปล็อบบี้เชิญชวนเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติพัฒนา และพรรครักษ์ผืนป่า และล่าสุดคือพรรคพลังท้องถิ่นไท ที่มีนายชัชวาลล์ คงอุดม เป็นหัวหน้าพรรค

ทั้ง 3 พรรค แกนนำ พปชร.ไปต่อสายล็อกเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง แต่พอเริ่มจัดตั้งรัฐบาล กลับขาดการติดต่อไป

 

กลุ่ม ส.ส.อีสานตอนบนของพลังประชารัฐเริ่มจุดประเด็นทวงเก้าอี้ในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา

นำโดย นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานยุทธศาสตร์พรรคภาคอีสานซึ่งดูแลพื้นที่ภาคอีสาน 12 จังหวัด ซึ่งมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 17 คน และ ส.ส.เขต 5 คน

เปิดแถลงข่าวที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ จ.ขอนแก่น ถ.ศรีจันทร์ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ทวงถามตำแหน่งรัฐมนตรีสำหรับอีสานตอนบน โดยนายเอกราชระบุว่า ติดตามฟังข่าวการจัด ครม.มาตลอด ไม่ได้เอ่ยถึงอีสานตอนบนเลย

แกนนำกลุ่มระบุว่า ผู้สมัครภาคอีสานของ พปชร. จาก 116 เขต ได้ ส.ส.เขต 11 คน ใน 11 คนนี้ เป็น ส.ส.อีสานตอนใต้ 9 คน และอีสานตอนบน 2 คน

ยังมี ส.ส.เขตสอบไม่ผ่าน แต่ได้คะแนนล้านกว่าคะแนน นำมาคำนวณเป็นปาร์ตี้ลิสต์ได้ ส.ส. 20 คน ควรจะมีการตั้งผู้แทน ผู้บริหารของรัฐบาลบ้าง

นายเอกราชกล่าวว่า มีมาตรการอยู่ในใจแต่ยังไม่อยากพูด นาทีนี้ย้ายพรรคไม่ได้เพราะด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้การลาออกจากพรรคคือการขาดสมาชิกภาพ แต่ถ้าทางพรรคเชิญออก เราก็สามารถที่จะหาพรรคอื่นอยู่ได้

 

ในเวลาใกล้เคียงกัน กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ พปชร. ในนาม “กลุ่มด้ามขวานไทย” ได้เปิดที่ทำงาน ส.ส.ภาคใต้ บริเวณแยกพิชัย เขตดุสิต แสดงท่าทีไม่พอใจที่ทางพรรคไม่ได้พิจารณาตั้ง รมต.จากภาคใต้

จาก ส.ส. 13 คน มาประชุม 6 คน ประกอบด้วย 1.นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง ในฐานะประธานกลุ่ม 2.นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช 3.นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช 4.นายสุภา ประทีป ณ ถลาง ส.ส.ภูเก็ต 5.นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา และ 6.ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา รวมถึงอดีตผู้สมัคร ส.ส.ภาคใต้จำนวนหนึ่ง

นายนิพันธ์ ศิริธร กล่าวว่า ได้ ส.ส.ถึง 13 ที่นั่ง ประชาชนถามว่ากลุ่มเราจะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศอย่างไรบ้าง ดังนั้น จุดประสงค์ของการเปิดที่ทำการกลุ่มครั้งนี้ เพื่อทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ให้ทุกคนรับทราบว่ามีกลุ่มของเราอยู่ และพรรคจะหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรา

พร้อมกันนี้ ขอเสนอชื่อ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีต ส.ส.สงขลา และแกนนำภาคใต้ของ พปชร. เป็น รมต. แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องได้ตำแหน่งในกระทรวงใดเป็นพิเศษ และถึงไม่ได้รับการพิจารณาก็ไม่มีปัญหาอะไร

“แม้กลุ่มเราจะไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีเลย ก็ไม่มีปัญหา เราแค่แสดงเหตุผลให้เห็นว่าการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ควรคำนึงถึงสัดส่วนภาคต่างๆ ภายในพรรคด้วย ยืนยันว่าวันนี้ไม่ใช่การตีรวน เพราะผมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคมา ก็จะทำงานกับพรรคนี้ต่อไป” นายนิพันธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าไม่ได้ตำแหน่งจะทำให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ภาคใต้อย่างไร นายนิพันธ์กล่าวว่า เชื่อว่ามีผลกระทบอยู่แล้ว อย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า พรรค พปชร.ในภาคใต้อาจสูญพันธุ์ วิธีการแก้คือต้องขยันทำงานให้มากขึ้น

ขณะที่นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่มาร่วมแถลงข่าว กล่าวว่า เราเห็นว่า ส.ส.ในกลุ่มเป็นรัฐมนตรีได้ทุกคน ยืนยันว่าเราไม่ได้มากดดันและเรียกร้องเป็น ครม. ถึงไม่มีชื่อ พ.อ.สุชาติ หรือชื่อบุคคลในกลุ่มเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่เป็นอะไร ภาคใต้สามัคคีกันร้อยเปอร์เซ็นต์

สำหรับกลุ่มด้ามขวานไทยนั้น ก่อนหน้านี้ ส.ส.ทั้ง 13 คน ได้เสนอชื่อ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เพื่อน ตท.12 พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐมนตรี แต่หลังจาก พล.อ.อกนิษฐ์รับโปรดเกล้าฯ ไปเป็น ส.ว. จึงได้ยื่นใหม่เป็นครั้งที่ 2 เสนอชื่อ พ.อ.สุชาติ

แต่ปรากฏว่าไม่มีการตอบรับการพิจารณา แกนนำกลุ่มระบุว่า ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีรัฐมนตรีจากภาคใต้ถึง 4 คน และพรรคภูมิใจไทยอีก 1 คน แต่พรรคพลังประชารัฐไม่มีสักคนเดียว ทั้งที่มีจำนวน ส.ส.เขต 13 คน

แบ่งเป็นกลุ่มด้ามขวานไทยที่มี 10 คน และกลุ่ม ส.ส. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีนายอนุมัติ อาหมัด และนายภาณุ อุทัยรัตน์ ส.ว. เป็นแกนนำ

 

น่าติดตามต่อไปว่า ทาง พล.อ.ประยุทธ์และแกนนำพรรคจะจัดการปัญหานี้อย่างไร

หากไม่ลงตัว กรณีนี้จะเป็นปัจจัยบั่นทอนรัฐบาลต่อไป นอกเหนือไปจากปัจจัยอื่นๆ

ก่อนหน้านี้พรรคอนาคตใหม่ได้ร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านประธานสภาผู้แทนฯ ให้พิจารณาสมาชิกภาพของ 41 ส.ส.พรรครัฐบาล ในเรื่องการถือหุ้นสื่อ

ซึ่งก่อนหน้านี้ กกต.เคยยื่นกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และศาลมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่

หากศาลสั่งทำนองเดียวกัน ในกรณีของ 41 ส.ส.รัฐบาล จะเกิดปัญหาเรื่องเสียงสนับสนุนรัฐบาลในสภาผู้แทนฯ ทันที เพราะเท่ากับว่าเสียงสนับสนุน 251 เสียง จะหายไป 41 เสียง

แถมยังมีกรณีของพรรคเล็กที่ถูกเบี้ยวดีล จนออกมาขู่ว่าอาจทบทวนท่าที

เฉพาะหน้านี้ เชื่อว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ภาค 2 คงจะฝ่าฟันมรสุม แก้ปัญหาที่ประดังเข้ามาดังที่เป็นข่าว ออกเดินหน้าไปได้

แต่จะราบรื่นแค่ไหนอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะปัญหาต่างๆ ล้วนแต่ก่อรอยร้าวทั้งสิ้น

และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มี “มาตรา 44” อยู่ในมือ หลังจาก ครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

อุปสรรคขวากหนามชุดใหญ่ น่าจะดาหน้าเข้ามาท้าทายรัฐบาลในห้วงเวลานั้น