เกษียร เตชะพีระ : ชอมสกี้วิเคราะห์ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

ตอน 1 2 3

บทสรุปคำให้สัมภาษณ์ของ นอม ชอมสกี้ ปัญญาชนทวนกระแสอเมริกันชื่อดังในเว็บไซต์ truthout เมื่อ 14 พฤศจิกายน ศกนี้ วิเคราะห์วิจารณ์ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและแนวโน้มการเมืองอเมริกัน (http://www.truth-out.org/opinion/item/38360-trump-in-the-white-house-an-interview-with-noam-chomsky) :

AFP PHOTO / KHALIL MAZRAAWI

ถาม : หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีออกมา ทรัมป์พูดว่า เขา “จะเป็นตัวแทนชาวอเมริกันทั้งปวง” เขาจะทำเช่นนั้นได้ยังไงครับในเมื่อประเทศชาติแตกแยกกันขนาดนี้ และตัวเขาเองก็ได้แสดงความจงเกลียดจงชังคนกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่มในสหรัฐออกมาอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยด้วย?

คุณเห็นว่ามีอะไรคล้ายคลึงกันบ้างไหมครับระหว่างประชามติเบร็กซิทกับชัยชนะในการเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์?

นอม ชอมสกี้ : มีความละม้ายคล้ายคลึงที่แน่ชัดอยู่ระหว่างชัยชนะของทรัมป์กับประชามติเบร็กซิท รวมไปถึงการเรืองอำนาจขึ้นของบรรดาพรรคขวาจัดชาตินิยมสุดโต่งทั้งหลายในยุโรปด้วย ดังจะเห็นได้ว่าผู้นำพรรคเหล่านั้นพากันออกมาแสดงความยินดีกับทรัมป์ที่ชนะเลือกตั้งอย่างฉับไว ต่างมองว่าทรัมป์เป็นพวกเดียวกับตน ไม่ว่าจะเป็น ไนเจล ฟาราจ อดีตหัวหน้าพรรคยูคิปของสหราชอาณาจักร, มารีน เลอ แปน ประธานแนวร่วมแห่งชาติของฝรั่งเศส, วิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีของฮังการี และคนอื่นๆ ประเภทเดียวกัน

การคลี่คลายขยายตัวของเหตุการณ์เหล่านี้นับว่าน่าตื่นตระหนกมากทีเดียว หากเรามองผลการหยั่งเสียงต่างๆ ในออสเตรียกับเยอรมนีดู — ย้ำนะครับว่าออสเตรียกับเยอรมนี (ประเทศต้นกำเนิดลัทธินาซี) — สำหรับคนที่คุ้นเคยกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1930 แล้ว มันก็ทำให้เราอดหวนรำลึกถึงความทรงจำต่างๆ อันไม่น่าพิสมัยตอนนั้นมิได้ ยิ่งคนที่ได้ประสบพบเห็นมันมากับตาตัวเองโดยตรงอย่างผมในวัยเด็กด้วยแล้ว ก็ยิ่งหนักข้อเข้าไปอีก

ผมยังหวนนึกถึงเมื่อครั้งฟังคำปราศรัยต่างๆ ของฮิตเลอร์ได้อยู่ ผมไม่เข้าใจถ้อยคำของมันหรอก แต่กระนั้นน้ำเสียงของฮิตเลอร์และปฏิกิริยาของผู้ฟังก็ทำให้ผมสะท้านสะเทือนเข้าไปถึงหัวใจพอดู บทความชิ้นแรกที่ผมจำได้ว่าตัวเองเขียนขึ้นนั้นเป็นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1939 หลังเสียเมืองบาร์เซโลนาในสเปนให้แก่การแพร่ระบาดลุกลามที่ดูเหมือนไม่อาจหยุดยั้งได้ของภัยลัทธิฟาสซิสต์ และช่างดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญพิกลที่ผมกับภรรยาติดตามดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี ค.ศ.2016 ที่ปรากฏออกมาตามลำดับจากเมืองบาร์เซโลนาด้วยเช่นกัน

ส่วนเรื่องที่ว่าทรัมป์จะจัดการยังไงกับสิ่งที่เขาช่วยทำคลอดมันออกมา — ทำคลอดนะครับ ไม่ใช่สร้างมันขึ้น — เราตอบไม่ได้หรอกครับ บางทีบุคลิกที่น่าสะดุดตาตื่นใจที่สุดของเขาก็คือความคาดเดาไม่ถูก มันคงขึ้นอยู่มากทีเดียวกับปฏิกิริยาของบรรดาผู้ที่ทุเรศเหลือทนกับการแสดงผลงานและวิสัยทัศน์ที่เขานำเสนอออกมาอย่างที่มันเป็นอยู่

AFP PHOTO / Jewel SAMAD

ถาม : ผมไม่เห็นว่าทรัมป์จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ระบุได้แน่ชัดอันไหนคอยชี้นำจุดยืนของเขาในประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่กระนั้นก็มีแนวโน้มอำนาจนิยมที่ชัดเจนในพฤติการณ์ของเขา อย่างนั้นแล้วคุณคิดว่าข้อกล่าวอ้างที่ว่าทรัมป์อาจเป็นตัวแทนการปรากฏตัวของ “ลัทธิฟาสซิสต์ที่มีโฉมหน้าเป็นมิตร” ในสหรัฐน่ะมันพอฟังขึ้นบ้างไหมครับ?

นอม ชอมสกี้ : หลายปีมาแล้วที่ผมพร่ำพูดและเขียนเรื่องอันตรายของการที่นักอุดมการณ์ผู้เชื่ออย่างที่ตัวพูดจริงๆ และเปี่ยมบารมีสักคนจะรุ่งเรืองขึ้นมาในสหรัฐ ใครสักคนผู้สามารถฉวยใช้ประโยชน์จากความหวาดกลัวและโกรธเกรี้ยวที่เดือดพล่านอยู่ในหัวอกผู้คนจำนวนมากของสังคมนี้มานมนาน และสามารถชักนำมันให้หันเหออกไปจากตัวการผู้ก่อความอึดอัดคับข้องที่แท้จริง ไปยังเป้าหมายที่ล่อแหลมเปราะบางแทนได้ นั่นอาจนำไปสู่สิ่งที่นักสังคมวิทยา เบอร์แทรม กรอส เรียกไว้ในงานศึกษาที่หยั่งเห็นลึกซึ้งเมื่อ 35 ปีก่อนของเขาว่า “ลัทธิฟาสซิสต์ที่เป็นมิตร” ได้จริงๆ แต่นั่นน่ะเรียกร้องต้องการนักอุดมการณ์ที่ปากกับใจตรงกันแบบฮิตเลอร์นะครับ ไม่ใช่ใครสักคนซึ่งอุดมการณ์ของหมอเท่าที่สืบเสาะออกมาได้ก็มีแค่ตัวกูของกูเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม อันตรายที่ว่านั้นมันดำรงอยู่จริงมาหลายปีแล้ว และบางทีก็จะยิ่งจริงจังขึ้นในตอนนี้ด้วยซ้ำเมื่อดูจากเหล่าพลังทางการเมืองที่ทรัมป์ไปปลดปล่อยออกมา

AFP PHOTO / EDUARDO MUNOZ ALVAREZ

ถาม : ในสภาพที่ชาวพรรครีพับลิกันไม่เพียงกุมอำนาจฝ่ายบริหารอยู่ในทำเนียบขาว หากยังควบคุมสภานิติบัญญัติทั้งสองสภาและรูปโฉมของศาลสูงสุดในอนาคตด้วยอย่างนี้ ประเทศสหรัฐจะออกมาเป็นทำนองไหนครับในระยะสี่ปีข้างหน้านี้เป็นอย่างน้อย?

นอม ชอมสกี้ : นั่นขึ้นกับว่าทรัมป์จะแต่งตั้งใครเข้ารับตำแหน่งต่างๆ ในฝ่ายบริหารและแวดวงที่ปรึกษาของเขามากทีเดียว เท่าที่เขาได้แต่งตั้งมาในระยะแรกนี้บ่งชี้ว่ามันไม่น่าพิสมัยเท่าไหร่ อันนี้พูดอย่างเบาะๆ นะครับ

ศาลสูงสุดจะตกอยู่ในกำมือของพวกปฏิกิริยาไปอีกหลายปีทีเดียว ซึ่งคงก่อให้เกิดผลสืบเนื่องที่คาดเดาได้ ถ้าทรัมป์เอาจริงกับการดำเนินรอยตามโครงการการคลังในแบบฉบับของ พอล ไรอัน (ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐแห่งพรรครีพับลิกันคนปัจจุบัน) แล้ว พวกอภิมหาเศรษฐีจะได้ประโยชน์มหาศาล ซึ่งศูนย์นโยบายภาษีประเมินว่าพวกคนรวยที่สุด 0.1% ของอเมริกาจะได้รับการลดภาษีเงินได้ลงกว่า 14% ส่วนพวกรายได้ระดับบนก็จะได้รับการลดภาษีเงินได้ลงเป็นกอบเป็นกำโดยทั่วไป

ทว่า คนกลุ่มอื่นนั้นแทบจะไม่ได้ลดภาษีลงแต่อย่างใดเลย แถมยังจะเผชิญหน้ากับภาระใหม่ๆ ด้วย

มาร์ติน วูลฟ์ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจที่เป็นที่ยกย่องนับถือของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ของอังกฤษเขียนถึงเรื่องนี้ว่า “เหล่าข้อเสนอเรื่องภาษีที่ว่านั้นจะหว่านโปรยผลประโยชน์มหาศาลให้กับชาวอเมริกันที่รวยอยู่แล้วอย่างคุณทรัมป์นั่นแหละ” แต่กลับปล่อยปละละทิ้งคนอื่นๆ ไปเสีย แน่ล่ะว่ารวมทั้งผู้คนในเขตเลือกตั้งของทรัมป์เองด้วย ปฏิกิริยาโดยทันควันจากโลกธุรกิจเผยให้เห็นว่ากลุ่มเภสัชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่, กลุ่มการเงินวอลล์สตรีต, อุตสาหกรรมการทหาร, อุตสาหกรรมพลังงาน และบรรดาสถาบันอันน่าอัศจรรย์ใจทำนองเดียวกันอื่นๆ พากันคาดหวังว่าอนาคตจะโชติช่วงชัชวาลกันถ้วนหน้าเลยทีเดียว

พัฒนาการในทางบวกอย่างหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทรัมป์ให้สัญญาไว้ระหว่างหาเสียง (มีรายงานข่าวและบทวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องนี้มากมาย) โดยปกปิดความจริงที่ว่าเนื้อแท้แล้วมันก็คือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามานั่นเอง ซึ่งน่าจะได้ช่วยก่อประโยชน์โภชผลให้แก่เศรษฐกิจและสังคมทั่วไปอย่างใหญ่หลวงมาแต่เนิ่นแล้ว ทว่า ดันโดนสภาคองเกรสที่พรรครีพับลิกันกุมเสียงข้างมากอยู่ทำแท้งเสียก่อนด้วยข้ออ้างว่ามันจะทำให้ขาดดุลงบประมาณมหาศาลระเบิดเถิดเทิง ขณะที่ตอนนั้นพูดได้ว่าคำกล่าวหานี้ไม่มีมูลในสภาพที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ทว่า มาในกรณีโครงการของทรัมป์ตอนนี้มันกลับมีส่วนจริงโขทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อประกอบเข้ากับการตัดลดภาษีให้คนรวยและภาคบรรษัทเอกชนอย่างถึงรากถึงโคนและเพิ่มงบประมาณรายจ่ายกลาโหมด้วยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีทางหลีกลี้เอาตัวรอดอยู่ดังที่อดีตรองประธานาธิบดี ดิก เชนีย์ เปิดช่องไว้เมื่อเขาอธิบายให้ นายพอล โอนีล รัฐมนตรีคลังสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูกฟังว่า “อดีตประธานาธิบดีเรแกนพิสูจน์ให้เห็นว่าการขาดดุลงบประมาณไม่สลักสำคัญอันใดหรอก” ซึ่งหมายถึงการขาดดุลงบประมาณที่ชาวพรรครีพับลิกันเราก่อขึ้นเพื่อช่วงชิงเสียงสนับสนุนจากประชาชนแล้วทิ้งไว้ให้คนอื่นหาวิธีตามล้างตามเช็ดแบบใดแบบหนึ่งเอาเอง ซึ่งถ้าทิ้งให้พวกพรรคเดโมแครตรับไปได้ก็ยิ่งดี เทคนิคที่ว่านี้อาจใช้การได้อย่างน้อยก็สักพักหนึ่ง

นอกจากนี้ก็ยังมีคำถามอีกมากมายเรื่องผลกระทบสืบเนื่องด้านนโยบายต่างประเทศจากการที่ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ยังไม่มีคำตอบ

REUTERS
REUTERS

ถาม : ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีปูตินต่างออกมาแสดงความปลาบปลื้มซึ่งกันและกัน ฉะนี้แล้ว น่าจะเป็นไปได้แค่ไหนที่เราจะเห็นยุคใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียครับ?

นอม ชอมสกี้ : ลู่ทางที่ชวนหวังประการหนึ่งก็คืออาจมีการลดระดับความตึงเครียดที่ไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ และอันตรายยิ่งบริเวณชายแดนรัสเซีย ขอให้สังเกตนะครับว่าเป็นที่ “ชายแดนรัสเซีย” ไม่ใช่ชายแดนเม็กซิโกหรืออะไรเทือกนั้น ตรงนี้มีเรื่องราวความเป็นมาของมันอยู่ซึ่งเราคงไม่สามารถพูดลึกถึงมันได้ในที่นี้ มันเป็นไปได้ด้วยว่ายุโรปอาจปลีกตัวออกห่างจากอเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์ ดังที่นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนีและผู้นำยุโรปคนอื่นๆ ได้เสนอแนะไว้ รวมทั้งปลีกตัวออกห่างจากกระบอกเสียงอังกฤษที่ป่าวร้องแทนอำนาจอเมริกันด้วยภายหลังประชามติเบร็กซิทผ่านไปแล้ว เป็นไปได้ว่านั่นอาจนำไปสู่ความพยายามของยุโรปในการปลดชนวนความตึงเครียดกับรัสเซีย และบางทีมันอาจกระทั่งนำไปสู่อะไรบางอย่างที่คล้ายกับวิสัยทัศน์ของอดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ เรื่องระบบความมั่นคงแบบบูรณาการของยูเรเชียโดยปราศจากพันธมิตรทางทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐปัดปฏิเสธแล้วหันไปสนับสนุนการขยายองค์การนาโต้ออกไปแทน

น่าสังเกตด้วยว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าวถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้โดยประธานาธิบดีปูติน ส่วนที่ว่าปูตินเอาจริงเรื่องนี้หรือไม่ เราไม่อาจรู้ได้ เนื่องจากการส่งสัญญาณแสดงท่าทีดังกล่าวถูกปัดทิ้งไปเสียก่อน

 

ถาม : แล้วนโยบายต่างประเทศของสหรัฐภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์น่าจะมีลักษณะแข็งกร้าวทางทหารมากขึ้นหรือน้อยลงครับ เมื่อเทียบกับสิ่งที่เราได้พบเห็นมาภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโอมาบา

หรือแม้แต่ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช?

นอม ชอมสกี้ : ผมไม่คิดว่าเราจะตอบคำถามนี้ได้อย่างมั่นใจหรอกครับ ทรัมป์เป็นคนที่เดาใจไม่ถูกเกินขนาด และมีคำถามที่เปิดทิ้งไว้มากมายเกินไปด้วย ที่เราพอพูดได้ก็คือการเคลื่อนไหวรณรงค์และกิจกรรมของประชาชนที่ได้รับการจัดตั้งและดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสมจะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้แตกต่างออกไปได้มากแค่นั้นเอง

และเราควรรำลึกไว้ว่าเดิมพันเรื่องนี้นั้นมันใหญ่โตมากทีเดียว