นงนุช สิงหเดชะ/จาก ‘แค่ถือศีล5ก็เป็นคนดี’ ถึง ‘หนูแค่เมาแล้วขับ’ ทำไมปรับ 8 พัน

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

จาก ‘แค่ถือศีล5ก็เป็นคนดี’

ถึง ‘หนูแค่เมาแล้วขับ’ ทำไมปรับ 8 พัน

เป็นประเด็นร้อนบนโลกโซเชียลและลามไปอย่างรวดเร็วสำหรับโพสต์ของนายโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการ ที่โพสต์เกี่ยวกับศีล 5 ว่า “เบื่อที่ชอบพูดกันว่า หากทุกคนถือศีลห้าก็เป็นคนดีหมดแล้ว เพราะมันง่ายไป เหมือนเป็นคนดีกันได้ง่ายๆ เพียงเพราะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดลูกเมียคนอื่น ไม่พูดปด ไม่ดื่มสุราเมรัย ถ้านั่งหรือนอนเฉยๆ ก็จะไม่ทำอะไรก็เป็นคนดีกันหมดซี ทำไมเป็นคนดีจึงง่ายนักนะ”

ไม่แน่ใจว่าปฐมเหตุที่ทำให้นายโกวิทโพสต์เรื่องนี้มาจากไหน แต่ดูแล้วน่าจะออกในแนวไม่เลื่อมใสศาสนาพุทธ ที่สำคัญกว่านั้นน่าจะไม่เข้าใจเรื่องศีล 5 จึงคิดว่าศีล 5 เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องของการที่ไม่ต้องทำอะไรเลย นั่งๆ นอนๆ เฉยๆ

ด้วยเหตุนั้น จึงมีคนที่รู้เรื่องศีล 5 และคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาวิจารณ์โพสต์ของนายโกวิทกันอื้ออึงว่า ช่างไม่เข้าใจเรื่องศีล 5 เอาเสียเลย น่าผิดหวังสำหรับคนที่เป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย

โพสต์ของนายโกวิทไม่เพียงพลาดเรื่องการไม่เข้าใจศีล 5 แต่ยังพลาดในประเด็นที่ไม่สามารถมองความเชื่อมโยงว่าหากเราขาดศีล 5 จะเกิดอะไรตามมา

 

ศีล 5 แม้จะเป็นศีลระดับพื้นฐาน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และคนส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติได้ครบด้วยซ้ำ แถมยังทำตรงข้ามทุกข้อ โลกทุกวันนี้จึงวุ่นวาย เต็มไปด้วยความรุนแรงและอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ

ในบรรดา 5 ข้อนั้น ข้อแรก เรื่องการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คนสมัยนี้อาจจะโต้แย้งว่าถ้าไม่ฆ่าแล้วจะเอาอะไรมาเป็นอาหาร พระยังฉันเนื้อสัตว์ที่คนเอามาถวายเลย แบบนี้ก็ส่งเสริมการฆ่าสิ ที่จริงข้อนี้คนเราเลือกได้ว่าจะกินเนื้อสัตว์หรือพืช เพราะว่าตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์เป็นสัตว์ประเภทกินพืช

ส่วนพระภิกษุนั้น เมื่อมีคนนำไปถวายท่านเลือกฉันไม่ได้ แต่ท่านไม่ได้มีส่วนหรือรู้เห็นในการฆ่า ข้อนี้ว่าไปแล้วยาว เพราะองค์ประกอบเรื่องปาณาติบาตนั้นมีหลายข้อซึ่งเป็นรายละเอียด แต่อย่างไรก็ตาม หากคนเราละเว้นข้อนี้ได้ก็จะดีมาก เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราเป็นคนมีเมตตา ไม่ไปทำผิดในเรื่องใหญ่ นั่นคือฆ่าคน

ส่วนอีก 4 ข้อที่เหลือนั้นก็ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์ไม่ให้มนุษย์เบียดเบียนกันทั้งสิ้น นอกจากไม่เบียดเบียนตัวเองแล้วก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สังคมก็เป็นปกติสุข ถ้าทำได้ ก็อาจไม่ต้องออกกฎหมายเลยสักข้อ

การไม่ผิดลูกเมียคนอื่น เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐที่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน หากเราผิดลูกเมียคนอื่น นอกจากจะทำให้ครอบครัวนั้นเดือดร้อนแล้ว ตัวเราเองก็อาจเดือดร้อน เช่น อาจถูกทำร้าย ถูกฆ่าเพราะความแค้นใจของอีกฝ่าย

การไม่ลักทรัพย์ ก็เป็นเรื่องของมโนธรรมที่มนุษย์พึงมี เพราะถ้าเราลักทรัพย์คนอื่น คนอื่นก็เดือดร้อน ตัวเราเองก็ไม่ชอบถ้ามีคนมาลักทรัพย์ที่เราหามาด้วยความเหนื่อยยาก ถ้าลักบ่อยๆ จนถูกจับได้ เราก็จะต้องไปนอนในคุก และในระดับประเทศ หากนักการเมืองมีศีลข้อนี้ ก็จะไม่มีปัญหาคอร์รัปชั่น

ส่วนการดื่มสุราเมรัยนั้น เป็นต้นตอหายนะของทุกสิ่ง เพราะสุราทำให้ขาดสติ การควบคุมและสั่งการของร่างกายไม่เป็นปกติ นำมาซึ่งเหตุการณ์ร้ายแรงหลายอย่าง เช่น ไปผิดลูกเมียคนอื่น ปลุกปล้ำข่มขืน ฆ่า ทำร้ายคนอื่น และแม้กระทั่งขับรถชนคนอื่นตายอย่างที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ

การถือศีล 5 จึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากใครปฏิบัติได้ ก็ควรยอมรับว่าเขาเป็นคนดี การเป็นคนดี ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคำกล่าวว่า ทำชั่วง่ายกว่าการทำดี เพราะการทำชั่วคือการทำตามกิเลสฝ่ายต่ำ ไหลลงเบื้องต่ำเหมือนน้ำ ส่วนการทำดีนั้นเหนื่อยยาก เปรียบเหมือนการว่ายทวนกระแสน้ำ ต้องใช้ความอดทนและข่มใจตัวเองมาก

 

หากจะสรุปให้ได้ใจความสั้นๆ ศีล 5 ช่วยให้เรารักษาความเป็น “มนุษย์” เอาไว้ เป็นเครื่องแยกคนเราออกจากสัตว์เดรัจฉาน

พูดให้สะเด็ดน้ำอีกที ศีล 5 เป็นเรื่องของเหตุและผล เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ผลลัพธ์ได้

อีกประการหนึ่งการถือศีล 5 ไม่เกี่ยวกับการอยู่เฉยๆ แต่สามารถทำอะไรได้ ตราบเท่าที่สิ่งนั้นไม่ผิดศีล ไม่ใช่ว่าถือศีลแล้วไม่สามารถประกอบอาชีพ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ต่อให้คนนั้นอยู่เฉยๆ แต่เขาไม่เบียดเบียนใครเลย ไม่ทำผิดทั้ง 5 ข้อนั้นก็ต้องยกย่องว่าดีมากแล้ว ดีกว่าพวกขยันทำนั่นทำนี่ เช่น ลักทรัพย์ พูดปด ผิดลูกเมียเขา ดื่มเหล้าแล้วสร้างความเดือดร้อน

เจตนาของนายโกวิทที่กระแหนะกระแหนเรื่องศีล 5 นี้ น่าจะต้องการสื่อความหมายว่า ถ้ามนุษย์ไม่ทำงานทำการ ไม่ประกอบอาชีพอะไร ก็คงเป็นคนดีมีศีลครบ เพราะคนที่ไม่ทำอะไรเลยก็จะไม่มีความผิด

การเรียกร้องให้คนในโลกนี้มีศีล ก็ไม่ต่างจากการเรียกร้องให้โลกนี้มีประชาธิปไตย (เลือกตั้ง) ตามแนวคิดตะวันตก เพราะเป้าหมายคือเราอยากให้สังคมมีความสงบสุข ไม่เบียดเบียนกัน ศีลจึงไม่ควรถูกมองอย่างดูหมิ่นถึงขั้นต้องนำมาแซะ กระแหนะกระแหน

 

แนวคิดของนายโกวิท ซึ่งเป็นถึงอาจารย์ เป็นนักวิชาการ แต่กลับมองเรื่องศีล 5 อย่างผิวเผินนี้ ชวนให้นึกถึงโพสต์ของหญิงสาวคนหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ (น่าจะอายุราว 20) ที่เขียนว่า “อะไร เมาแล้วขับ โดนปรับ 8,000 งง แค่เมาแล้วขับนะคะ คุณตำรวจ สภอ.บ้านโป่ง”

การที่เธอคนนี้ใช้คำว่า “งง” และ “แค่เมาแล้วขับ” สะท้อนแนวคิดของเธอว่าการเมาแล้วขับไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่จะต้องปรับมากถึง 8 พัน (เธอไม่รู้ว่าโทษหนักกว่านั้นคือจำคุก)

ที่น่าห่วงมากกว่านั้นคือเธอไม่มีจิตสำนึกหรือไม่ตระหนักว่า การเมาแล้วขับมีอันตรายถึงขั้น “ฆ่า” คนอื่นได้ อย่างที่เกิดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ถ้าหญิงสาวคนนั้นรับรู้ข่าว อ่านข่าวอยู่ทุกวันเกี่ยวกับอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดจากเมาแล้วขับ เช่น กรณีล่าสุดก็คือเสี่ยเบนซ์ เมาแล้วขับชนครอบครัวตำรวจเสียชีวิตทั้งสามี-ภรรยา ส่วนลูกสาวบาดเจ็บสาหัส ถือเป็นเหตุการณ์ที่สลดหดหู่มาก แล้วเธอยังไม่สำนึก ไม่แคร์ นั่นก็ยิ่งน่าห่วงเกี่ยวกับสังคมในอนาคตที่จะมีคนแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

คนแบบหญิงสาวเจ้าของโพสต์ น่าจะมีลักษณะคิดไม่เป็น หรือคิดได้ไกลไม่เกินปลายจมูกตัวเอง มองภาพรวมหรือความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ไม่เป็น ไม่มีความคิดเชิงวิเคราะห์ ถ้ามีคนแบบนี้มากๆ ประเทศก็ขาดทรัพยากรที่มีคุณภาพ

น่าห่วงหรือไม่กับความคิดของคนวัย 60-70 ที่มีความรู้สูงกับประโยค “แค่ถือศีล 5 ก็เป็นคนดีได้ ง่ายจัง” กับหญิงสาววัย 20 ที่มีแนวคิด “หนูแค่เมาแล้วขับ ทำไมปรับตั้ง 8,000”